ผลวิจัยใหม่ชี้ ยาต้านโควิดทำไวรัสกลายพันธุ์ ยังไร้หลักฐานเชื้อแรงขึ้น-แพร่เชื้อเพิ่ม
ผลการศึกษาล่าสุดบ่งชี้ว่า ยาต้านโควิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกอาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส อย่างไรก็ดีนักวิจัยระบุว่ายังไม่มีหลักฐานว่า การกลายพันธุ์ดังกล่าวจะทำให้ไวรัสเป็นอันตรายมากขึ้นหรือไม่
ทั้งนี้ ยาเม็ดต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค เป็นหนึ่งในยาต้านไวรัสที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่เร็วที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อรุนแรงขึ้นในกลุ่มเปราะบาง โดยยาที่ทานติดต่อกัน 5 วันนี้ ใช้หลักการในการสร้างการกลายพันธุ์ของไวรัสเพื่อทำให้มันอ่อนแอลงและถูกฆ่าในที่สุด
ธีโอ แซนเดอร์สัน นักพันธุศาสตร์จากสถาบันฟรานซิส คริส ในกรุงลอนดอน ผู้นำในการเขียนรายงานเกี่ยวกับผลการศึกษาใหม่ที่นำโดยอังกฤษกล่าวว่า โมลนูพิราเวียร์ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อีกอย่างมีนัยสำคัญ แต่เน้นย้ำว่าจนถึงปัจจุบันไม่มีหลักฐานว่าโมลนูพิราเวียร์สร้างไวรัสที่สามารถแพร่เชื้อได้มากขึ้น หรือมีความรุนแรงมากขึ้น
แซนเดอร์สันกล่าวว่า ไม่มีไวรัสกลายพันธุ์ตัวใดที่แพร่กระจายไปทั่วโลกเนื่องจากการใช้ยาต้านไวรัส แต่เป็นเรื่องยากมากที่จะคาดการณ์ว่า การรักษาด้วยยาโมลนูพิราเวียร์อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดใหม่ในวงกว้างในกลุ่มคนที่ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันมาก่อนหรือไม่
การศึกษาดังกล่าวซึ่งมีการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ ทีมวิจัยได้ดูฐานข้อมูลจีโนมมากกว่า 15 ล้านลำดับของไวรัส SARS-CoV-2 ต้นตอของโควิด เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของการกลายพันธุ์ของไวรัสในขณะที่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ และค้นหาสัญญานของลักษณะการกลายพันธุ์ในผู้ป่วยที่เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับยาโมลนูพิราเวียร์
ผลการศึกษาพบว่าในปี 2022 ที่มีการใช้ยาดังกล่าว พบผู้ป่วยที่มีลักษณะการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในประเทศที่มีการใช้ยานี้ะพบได้ยากในประเทศที่ไม่มีการสั่งยาโมลนูพิราเวียร์
ด้านบริษัทเมอร์คปฏิเสธผลการศึกษาดังกล่าวโดยระบุว่า นักวิจัยอาศัยเพียงการเชื่อมโยงตามสถานการณ์ระหว่างสถานที่และเวลาในการจัดลำดับ และสันนิฐานว่ามันเกี่ยวข้องกับผู้ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ โดยไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ ที่แน่ชัดเกี่ยวกับมัน
อย่างไรก็ดี แซนเดอร์สันปฎิเสธข้อกล่าวอ้างของเมอร์คโดยยืนยันว่า ทีมนักวิจัยใช้หลักฐานที่เป็นอิสระหลายชิ้นที่ทำให้มั่นใจว่ายาโมลนูพิราเวียร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในไวรัส