คอลัมน์ Think Tank: การขจัดความรุนแรงด้วยปืนของญี่ปุ่น

(FILES) / AFP PHOTO / Joshua Lott

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมด้วยอาวุธปืนต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน 6 ราย ขณะที่สหรัฐอเมริกามี 33,599 ราย

อะไรที่เป็นเคล็ดลับเบื้องหลังตัวเลขดังกล่าวนี้?

ผู้ที่ต้องการซื้อปืนในญี่ปุ่นต้องมีความอดทนและความตั้งใจสูงมาก โดยจำเป็นต้องเข้ารับการอบรมการใช้ปืนที่กินเวลาทั้งวัน ผ่านการทดสอบข้อเขียนและการทดสอบยิงปืนโดยได้คะแนน 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสอบอาการป่วยทางจิตและตรวจหาสารเสพติด ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและสอบสวนหาความเชื่อมโยงกับกลุ่มแนวคิดสุดโต่ง มีการซักถามประวัติจากญาติพี่น้องและแม้กระทั่งเพื่อนร่วมงาน

Advertisement

ขณะที่ตำรวจมีอำนาจในการปฏิเสธการออกใบอนุญาตครอบครองปืน และยังมีอำนาจเต็มในการตรวจค้นและยึดอาวุธปืนด้วย

นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมด ปืนพกถูกสั่งห้ามโดยสิ้นเชิงในญี่ปุ่น มีเพียงปืนลูกซองและปืนอัดลมเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้พกพาได้อย่างถูกกฎหมาย

กฎหมายยังจำกัดจำนวนร้านขายปืนอีกด้วย ในจังหวัดส่วนใหญ่กว่า 40 จังหวัดในญี่ปุ่น ไม่สามารถมีร้านขายปืนได้เกินจังหวัดละ 3 แห่ง และจะสามารถซื้อกระสุนปืนชุดใหม่ได้ก็ต่อเมื่อนำปลอกกระสุนปืนชุดเก่าที่ซื้อไปครั้งก่อนมาเปลี่ยนเท่านั้น

ร้านค้าจะต้องแจ้งให้ตำรวจรู้ว่าปืนและลูกกระสุนถูกเก็บไว้ที่ไหน และทั้งสองอย่างจะต้องถูกเก็บแยกออกจากกันโดยมีกุญแจล็อก ตำรวจจะต้องตรวจสอบปืนปีละครั้ง และผู้ครอบครองจะต้องต่อใบอนุญาตทุกๆ 3 ปี โดยจะต้องเข้ารับการอบรมและผ่านการทดสอบใหม่หมดตั้งแต่ต้น

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ช่วยอธิบายได้ว่าเหตุใด เหตุการณ์ยิงกันในญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้นน้อยมากๆ โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ขึ้น อาวุธที่ใช้บ่อยครั้งปรากฏว่าเป็นมีด

กฎหมายควบคุมปืนฉบับปัจจุบันถูกนำมาใช้เมื่อปี 1958 ทว่าแนวคิดเบื้องหลังนโยบายดังกล่าวนี้ต้องย้อนหลังกลับไปนานกว่านั้นนับศตวรรษ

เอียน โอเวอร์ตัน ผู้อำนวยการองค์การแก้ปัญหาความรุนแรงจากอาวุธในอังกฤษ บอกว่า “ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการออกกฎหมายควบคุมปืน และผมคิดว่านั่นเป็นการวางรากฐานแนวคิดที่ว่า ปืนไม่ได้มีบทบาทสำคัญในสังคมพลเรือน”

นอกจากนี้ผู้คนยังจะได้รับผลตอบแทนจากการนำปืนมามอบให้รัฐบาลเมื่อปี 1685 ซึ่งเป็นนโยบายที่โอเวอร์ตันบอกว่า “น่าจะเป็นความริเริ่มในการรับซื้อปืนคืนครั้งแรกของโลก”

ผลก็คือทำให้ญี่ปุ่นมีอัตราการครอบครองปืนที่ต่ำมาก โดยอยู่ที่ 0.6 กระบอกต่อประชากร 100 คน เมื่อปี 2007 อ้างอิงจากผลสำรวจอาวุธของสมอลล์อาร์มส์ ในอังกฤษ โดยอังกฤษและเวลส์อยู่ที่ 6.2 กระบอก ขณะที่สหรัฐอยู่ที่ 88.8 กระบอกต่อ 100 คน

นอกจากนี้ตำรวจญี่ปุ่นยังแทบไม่ใช้อาวุธปืนแต่เน้นไปที่การฝึกศิลปะการต่อสู้ โดยตำรวจทุกนายจะต้องฝึกฝนยูโดจนได้ระดับขั้นสายดำ และใช้เวลาในการฝึกเคนโดเพิ่มเติม

เฮนเรียตตา มัวร์ แห่งสถาบันความรุ่งเรืองโลก มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (ยูซีแอล) บอกว่า อีกเรื่องที่น่าชื่นชมคือ คนญี่ปุ่นไม่ได้มองว่าการครอบครองปืนเป็น “สิทธิพลเมือง”

และปฏิเสธแนวคิดที่ว่า “อาวุธเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในการป้องกันทรัพย์สินของตนเองจากผู้อื่น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image