รายงาน : ผู้พิการและผู้สูงอายุในอาเซียน

หากพูดถึงความร่วมมือในประชาคมอาเซียน สิ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่กลายเป็นคำพูดติดปากคนไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในฐานะหนึ่งในประเด็นสำคัญของนโยบายด้านต่างประเทศของไทยภายใต้การรวมตัวของ 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 ของการก่อตั้งในปี 2560 นี้ อย่างไรก็ดี ความร่วมมือของอาเซียนไม่ได้มีเพียงมิติเดียว แต่มีความหลากหลายและครอบคลุมในทุกมิติของวิถีชีวิตผู้คนในอาเซียน ซึ่งรวมถึงผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย

เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Development Center on Disability: APCD) จัดงานเสวนาหัวข้อ “อาเซียน ประชาคมแห่งความครอบคลุมและเข้าถึง” เนื่องในโอกาสวันคนพิการสากลของสหประชาชาติ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมให้ความรู้และพูดคุยถึงเรื่องราวที่น่าสนใจและความเป็นไปเกี่ยวกับผู้พิการรวมถึงผู้สูงอายุในอาเซียน ซึ่งถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะทุกๆ คนในสังคมควรต้องตระหนักถึงความต้องการพิเศษสำหรับคนทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวเพื่อส่งเสริมให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีโอกาสพัฒนาศักยภาพเพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างแข็งขันต่อไป

ดร.เสรี นนทสูติ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) กล่าวถึงการดำเนินการของอาเซียนด้านคนพิการและผู้สูงอายุว่า ความท้าทายในเรื่องสิทธิคนพิการในอาเซียนมี 3 ประการ ประการแรกคือตัวตนและสิทธิ ในประเทศไทยรวมถึงชาติสมาชิกอาเซียนมีคนพิการจำนวนมากที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับรัฐ อีกทั้งแต่ละประเทศมีระบบการดูแลคนพิการที่แตกต่างกัน การไม่ทราบตัวตนและจำนวนคนพิการที่แน่ชัดจึงส่งผลต่อการคุ้มครองสิทธิคนพิการ ประการต่อมาคือการเข้าถึง ในประเด็นนี้ไทยเป็นผู้นำของการเข้าถึงด้านกายภายในภูมิภาค อย่างไรก็ดีควรต้องเน้นการเข้าถึงด้านจิตใจซึ่งหมายถึงการขจัดทัศนคติในเชิงลบควบคู่กันไป

ดร.เสรีกล่าวว่า สำหรับประเด็นสุดท้ายคือการผลักดันประเด็นคนพิการไม่ให้จำกัดอยู่ภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเท่านั้น แต่ยังต้องรวมอยู่ภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคง รวมถึงประชาคมเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเด็นของคนพิการได้รับการส่งเสริมและเติมเต็มในทุกมิติ เพราะคนพิการมีมิติเกี่ยวข้องกับทุกเสาหลักของประชาคมอาเซียน อาทิ ด้านการเมือง คนพิการต้องมีสิทธิในการเลือกตั้งและการเป็นนักการเมือง ด้านเศรษฐกิจ คนพิการมีสิทธิเต็มที่ในการเป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่แต่การรับเบี้ยยังชีพ รวมถึงด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทำให้เกิดการเป็นประชาคมครอบคลุมในทุกด้าน

Advertisement

“ที่สำคัญคือเราต้องการขยายโอกาสทั้งของคนพิการและของคนไม่พิการ เพราะคนพิการและผู้สูงอายุจำนวนมากมีกำลังซื้อสูงทางเศรษฐกิจ หากไม่ให้โอกาสคนพิการ จะทำให้สังคมเสียโอกาสที่จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม” ดร.เสรีสรุป

ด้าน น.ส.ภาสพร สังฆสุบรรณ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงมิติการทำงานของภาครัฐว่า ไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นคนพิการและผู้สูงอายุในอาเซียน โดยเมื่อปี 2554 ไทยเป็นผู้นำผลักดันให้ปฏิญญาบาหลีว่าด้วยการเสริมสร้างบทบาทและการมีส่วนร่วมของคนพิการในประชาคมอาเซียน และทำให้เกิดเป็นทศวรรษคนพิการอาเซียนในระหว่างปี พ.ศ.2554-2563

นอกจากนี้ที่ผ่านมาไทยยังมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์โดยได้เสนอแถลงการณ์อาเซียนบวกสามว่าด้วยการสูงวัยอย่างมีศักยภาพ (ASEAN Plus Three Statement on Active Ageing) ที่ผู้นำประเทศอาเซียนบวกสามได้รับรองเมื่อเดือนกันยายน 2559 อีกทั้งยังได้จัดทำเอกสารต่างๆ เป็นอักษรเบรลเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงของคนพิการทางสายตา ซึ่งได้เริ่มจัดทำขึ้นครั้งแรกเป็นผลการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-อียู (ASEAN-EU Ministerial Meeting) เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม นอกจากนี้ยังมีการทำกฎบัตรอาเซียนเป็นอักษรเบรลอีกด้วย

นายคริสโตเฟอร์ เบญจกุล จากศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก กล่าวถึงการจ้างงานคนพิการในไทยว่า มีบทบาทในการพัฒนาและฝึกอบรมคนพิการอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นจากคนพิการทางการได้ยิน ซึ่งศูนย์ได้ช่วยเสริมทักษะภาษามือและพัฒนามาสู่ทักษะด้านการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับเบี้ยเลี้ยงในระหว่างอบรม ซึ่งเป็นแนวคิดในการสร้างรายได้ให้กับคนพิการ การดำเนินการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นจนพัฒนาไปสู่การเปิดร้านเบเกอรี่ 60+ Bakery and Cafe by Yamazaki ในโอกาสครบรอบ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเป็นร้านเบเกอรี่ต้นแบบที่จ้างงานคนพิการ

ขณะที่ นายวรวี ขนบดี เจ้าหน้าที่อบรมคนพิการ กล่าวเสริมว่า คนพิการก็ต้องการได้รับโอกาสในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงคนพิการส่วนมากจะถูกปิดกั้น เนื่องจากทัศนคติในเชิงลบว่าไม่สามารถทำงานได้เท่ากับคนไม่พิการ จึงต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจให้กับสังคมเพื่อให้เกิดการยอมรับมากขึ้น

น.ส.วันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ (สวทช.) ยังกล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตของผู้พิการและผู้สูงอายุว่า สวทช.ได้จัดทำแผนเศรษฐกิจนวัตกรรมซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนงานเศรษฐกิจผู้สูงอายุ (Silver Economy) โดยมีการตั้งรับสังคมผู้สูงอายุเป็นแรงกระตุ้นและเน้นเป้าหมาย 2 มิติ ประการแรกคือให้ผู้สูงอายุเป็นพลังทางเศรษฐกิจและสังคม และประการที่สองคือการพัฒนานวัตกรรมเพื่อก้าวทันความต้องการทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของประชากรผู้สูงอายุ

น.ส.วันทนีย์กล่าวว่า ภายใต้แผนงานเศรษฐกิจผู้สูงอายุจะส่งเสริมนวัตกรรม 5 เรื่อง ได้แก่ 1.อาหารสุขภาพ 2.การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัย (Senior tourism) โดยเน้นพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคมและโรงแรมเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้ 3.สุขภาพ โดยเน้นบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่ติดบ้านและติดเตียง เช่น มีทีมแพทย์ลงพื้นที่ในแต่ละชุมชน 4.สินค้าและไลฟ์สไตล์ 5.เทคโนโลยีสารสนเทศ

ปัจจุบัน สวทช.ยังได้ทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการเป็นช่องทางสำหรับการกำหนดนวัตกรรมผู้พิการและผู้สูงอายุ และการพัฒนามาตรฐานนวัตกรรมในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) เพื่อสามารถส่งขายได้ในกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปค

นางสาววันทนีย์ยังได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันจัดตั้งศูนย์ล่ามทางไกลอาเซียน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีล่ามระหว่างคนหูหนวกกับคนปกติ ซึ่ง สวทช.ต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวขึ้นภายในอาเซียน โดยในขณะนี้มีหลายประเทศที่แสดงความสนใจต่อเทคโนโลยีดังกล่าว อาทิ จีน มาเลเซีย และฮ่องกง

ด้าน ดร.เสรีได้ฝากถึงความสำคัญเรื่องเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะเสริมสร้างความสามารถของกลุ่มดังกล่าว จึงควรส่งเสริมให้มีมากขึ้นและควรมีราคาที่ถูกลงเพื่อให้คนเข้าถึงได้

การแลกเปลี่ยนความรู้และการดำเนินการเกี่ยวกับคนพิการและผู้สูงอายุระหว่างผู้แทนจากแต่ละหน่วยงานไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์สำหรับการทำงานต่อไป แต่ยังเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านคนพิการและผู้สูงอายุภายในประชาคมอาเซียน ทั้งยังทำให้ผู้เข้าฟังการสัมมนาจำนวนมากได้ทราบถึงบทบาทของไทยและการดำเนินการของอาเซียนในการรับมือกับประเด็นดังกล่าวเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

แม้จะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่อาเซียนได้ดำเนินการไปแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีอะไรอีกมากที่ทุกคนในสังคมจะสามารถร่วมมือกันได้ เพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุในอาเซียนได้กลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือของอาเซียนในทุกมิติ

เพราะอาเซียนที่เราตั้งเป้าให้เป็น “ประชาคมที่ครอบคลุมและเข้าถึง” อย่างแท้จริง ไม่อาจทิ้งคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image