“โรลส์-รอยซ์” ยอมรับ เคยจ่ายสินบนในไทย

REUTERS/Paul Ellis/Pool/File Photo

เมื่อวันที่ 18 มกราคม สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาและสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรง (เอสเอฟโอ) ของอังกฤษ แถลงว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่จากประเทศอังกฤษ ยินยอมที่จะจ่ายเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยุติคดีข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่และข้อหาคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ใน 3 ประเทศ คืออังกฤษ สหรัฐ และบราซิล

บีบีซีรายงานว่า คดีติดสินบนของโรลส์-รอยซ์ ถูกตรวจพบโดยเอสเอฟโอ ที่พบถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนและอินโดนีเซีย ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน กระทั่งตรวจสอบพบว่า โรลส์-รอยซ์ ได้มีการละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ในการติดสินบนและคอร์รัปชั่นในหลายประเทศด้วยกัน

ด้านกระทรวงยุติธรรมยุติธรรมของสหรัฐ แถลงเมื่อวันที่ 17 มกราคมว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับว่าได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ ในช่วงปี 2543 -2556 ทั้งในคาซัคสถาน , บราซิล , อาเซอร์ไบจาน , แองโกลา , อิรัก และประเทศไทย รวมเป็นเงินทั้งสิ้นมูลค่ากว่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ

รายงานระบุว่า ในส่วนของการติดสินบนในประเทศไทยนั้น ไม่มีการยื่นเรื่องร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวและไม่มีรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวออกมา แต่บีบีซีรายงานเอาไว้ว่า ในส่วนของกรณีติดสินบนที่เกิดขึ้นในไทยนั้น ทางโรลส์-รอยซ์ ตกลงจ่ายเงินจำนวน 36.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ตัวแทนระดับภูมิภาค ซึ่งหมายถึงบริษัทท้องถิ่นที่ดูแลในเรื่องการขาย กระจายสินค้าและการบำรุงรักษาในหลายประเทศ ที่ทางโรลส์-รอยซ์เองไม่มีบุคลากรเพียงพอในการดูแล

Advertisement

บีบีซี อ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่เอสเอฟโอผู้หนึ่งเปิดเผยว่า เงินสินบนบางส่วนได้จ่ายให้เป็นรายบุคคล มีทั้งตัวแทนของรัฐและพนักงานของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง เพื่อให้คนเหล่านี้ดำเนินการในทางที่เป็นประโยชน์ต่อโรลส์-รอยซ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยนต์ ที800 ของการบินไทย โดยเอสเอฟโอระบุว่า โรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายเงิน 18.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่านายหน้าให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย ในช่วงปี 2534 – 2535 และอีก 10.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของการบินไทย ในช่วงปี 2535-2540 และอีก 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย และพนักงานของการบินไทยในช่วงปี 2547 – 2548 โดยรวมเงินที่จ่ายค่าสินบนในไทยทั้งสิ้นในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2534-2540 เป็นเงินทั้งสิ้นราว 36.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ทางโรลส์-รอยซ์ ยินดีที่จะจ่ายเงินรวมกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยุติคดีใน 3 ประเทศ คืออังกฤษ สหรัฐอเมริกา และบราซิล โดยจะจ่ายเงินให้แก่เอสเอฟโอ เป็นเงิน 617 ล้านดอลลาร์ รวมกับดอกเบี้ยตลอดช่วงระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ โรลส์-รอยซ์ ยังบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา โดยจะจ่ายเงินให้แก่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐเป็นเงิน 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนบราซิล จะเป็นการจ่ายเงินให้แก่สำนักงานคดีอาญาแห่งรัฐ เป็นเงินทั้งสิ้น 25.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยหลังการบรรลุข้อตกลงในการยอมความ นายวอร์เรน อีสต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้ออกแถลงการณ์ ขอโทษต่อการติดสินบน “อย่างไม่มีข้อสงสัย” ของบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่ารับไม่ได้ และว่า หลังเกิดเหตุขึ้น ทางบริษัทได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆของบริษัท และได้ยกเลิกการใช้ตัวแทนจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับคดีแล้ว

Advertisement

เอเอฟพีรายงานว่า ผลของการตกลงกันได้ทำให้จะไม่มีการฟ้องร้องคดีอาญาต่อโรลส์-รอยซ์ และทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image