วิเทศวิถี : เสรีภาพสื่อ

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวชิ้นหนึ่งที่ปรากฏในสื่อไทยว่า รัฐบาลทหารกำลังหาทางควบคุมสื่อต่างประเทศด้วยการเพิ่มความเข้มงวดในการออกวีซ่าให้กับนักข่าวต่างชาติในไทย เนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ประเทศไทยที่ออกไปสู่สายตาประชาคมโลก ว่ากันตามจริง การจัดระเบียบสื่อเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ดูจะให้ความสำคัญกันแบบเอาจริงเอาจัง เพราะท่านผู้นำรัฐบาลมักจะพาลโกรธสื่อว่าเป็นต้นตอของปัญหาในบ้านเมืองนี้อยู่เป็นระยะ กระทั่งสื่อทั่วไปในสยามประเทศนาทีนี้ก็พากันเซ็นเซอร์ตัวเองไประดับหนึ่งในการเสนอข่าวหรือความเห็นต่างๆ เพราะไม่อยากถูกเรียกไปปรับทัศนคติรายวัน แต่นั่นต้องแยกออกจากเรื่องการจัดระเบียบสื่อต่างประเทศในไทยที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้

เรื่องดังกล่าวได้รับความสนใจขึ้นมาเนื่องจากมีการโพสต์ว่า นักเขียนการ์ตูนรายหนึ่งซึ่งทำงานเป็นฟรีแลนซ์ให้กับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในไทย และอยู่เมืองไทยมามากกว่า 10 ปี ถูกปฏิเสธการต่ออายุวีซ่าสำหรับสื่อมวลชนต่างประเทศ หรือวีซ่าประเภท M ฟังๆ ดูเหมือนเรื่องก็ดูจะเข้าเค้า แต่พอไปทราบเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้กระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาว่าจะอนุมัติวีซ่าให้กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศปฏิเสธที่จะต่ออายุวีซ่าให้กับนักเขียนการ์ตูนรายนี้ก็พอจะเข้าใจได้ เพราะนักเขียนการ์ตูนอิสระท่านนี้ยื่นขอวีซ่าสื่อมวลชนต่างประเทศที่พำนักในไทย แต่เอกสารรับรองรวมถึงผลงานที่ยื่นเสนอกลับกลายเป็นเอกสารรับรองจากสำนักข่าวในตะวันออกกลาง เช่นเดียวกับผลงานที่ตีพิมพ์ในสื่อของตะวันออกกลางด้วยเช่นกัน

เมื่องานที่ทำไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับไทย กระทรวงการต่างประเทศก็ไม่เห็นความจำเป็นว่า เหตุใดนักเขียนการ์ตูนท่านนี้จึงต้องมีถิ่นพำนักในฐานะผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย กระทั่งเมื่อถูกปฏิเสธวีซ่าจึงมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมภายหลังว่า ที่จริงแล้วมีผลงานในฐานะฟรีแลนซ์กับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในไทยด้วย แต่กลับไม่ยื่นเอกสารผลงานรวมถึงหนังสือยืนยันจากหนังสือพิมพ์ไทยเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแม้แต่ชิ้นเดียวตั้งแต่ต้น เมื่อส่งผลงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในไทยตามมาภายหลังก็ได้รับอนุมัติการต่ออายุวีซ่าประเภท M ให้อยู่ในไทยต่อไปได้ตามปกติ

อันที่จริงเรื่องการให้วีซ่ากับผู้สื่อข่าวต่างชาติที่มาประจำการในไทย เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมาระยะหนึ่งแล้วว่าสมควรต้องมีการทบทวนหรือปรับปรุงกฎระเบียบในการพิจารณาให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาแต่เดิมนั้นใช้กันมานานกว่า 20 ปีแล้ว และยังไม่เคยมีการทบทวนให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สื่อมวลชนมีความหลากหลายมากขึ้น

Advertisement

ในอดีตที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศจะทำหน้าที่พิจารณาคำร้องของสื่อต่างชาติที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในไทย โดยจะประสานกับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศที่สื่อแต่ละคนที่มายื่นคำร้องสังกัดอยู่ และมีการนำเอาผลงานต่างๆ ที่ผู้สื่อข่าวรายนั้นเคยทำไว้มาประกอบการพิจารณาเพื่ออนุมัติวีซ่าประเภท M หลังจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศจะออกหนังสือรับรองให้ 3 ฉบับ เพื่อไปยื่นกับสำนักงานตำรวจ

ตรวจคนเข้าเมืองในเรื่องการออกวีซ่า ยื่นกับกรมการจัดหางานเพื่อทำใบอนุญาตให้ทำงานในไทยหรือเวิร์คเพอร์มิต และสุดท้ายคือหนังสือถึงกรมประชาสัมพันธ์เพื่อทำบัตรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย

แต่เดิมนั้นสื่อมวลชนต่างประเทศที่มาทำงานในไทยไม่ได้มีมากมายเท่าใดนัก จึงมีเวลาพิจารณาในการออกวีซ่าให้กับผู้สื่อข่าวต่างชาติ แต่มาระยะหลังเมื่อสื่อต่างชาติมีจำนวนมากขึ้น นอกจากนักการทูตที่มาดูแลเรื่องดังกล่าวแล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังต้องจ้าง “ลูกจ้างชั่วคราว” เข้ามาช่วยจัดเตรียมเอกสารและสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมอีกหลายคน รวมแล้วมีคนที่ดูแลเฉพาะเรื่องนี้ 5-6 คน ถึงกระนั้นก็ยังประสบปัญหาทำงานแทบจะไม่ทันกับเวลาอยู่เป็นระยะ ด้วยเหตุที่มีการยื่นคำขอเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก

Advertisement

แค่ในปี 2557 ผู้สื่อข่าวต่างชาติที่มายื่นขอใบอนุญาตทำงานในไทยใหม่ก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า ขณะที่ผู้สื่อข่าวต่างชาติที่มาขอต่อใบอนุญาตก็เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11 อย่างไรก็ดี เหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวก็มีที่มาหลากหลาย ซึ่งจำแนกได้เป็น 3 กรณีใหญ่ๆ ประการแรกคือ ทางการไทยเริ่มใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการควบคุมบุคคลที่ใช้สิทธิความตกลงยกเว้นวีซ่า หรือสิทธิอื่นๆ ในการเข้า-ออกประเทศไทยเพื่อขยายเวลาพำนัก หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “วีซ่ารัน” จากเดิมที่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยเกินกำหนดเวลา ยกเว้นการตรวจลงตรา ทั้งพวกที่มา

ท่องเที่ยวหรือมาทำงานแบบไม่ขอวีซ่าให้ถูกต้อง มักจะนิยมเดินทางออกจากไทยไปยังประเทศข้างเคียง อาทิ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย แล้วกลับเข้ามาใหม่เพื่อที่จะได้อยู่ในไทยตามกรอบเวลาที่อนุญาตให้อยู่ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า จึงทำให้ผู้สื่อข่าวอิสระหลากรูปแบบที่เคยทำงานในไทยโดยใช้วีซ่าผิดประเภทก็ต้องมายื่นเรื่องขอวีซ่ากับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อที่จะได้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง

ประการต่อมาคือ มีการเพิ่มขึ้นของสื่อแนวใหม่และสื่อออนไลน์ ที่ทำให้มีผู้สื่อข่าวอิสระรวมถึงบรรดา

“บล็อกเกอร์” มายื่นขอวีซ่าประเภท M มากขึ้น ขณะที่ประการสุดท้ายที่เป็นเหตุให้กระทรวงการต่างประเทศเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎระเบียบสำหรับผู้สื่อข่าวที่มาขอวีซ่าสำหรับปฏิบัติหน้าที่ในไทยให้ชัดเจน ก็เพราะในระยะหลังมีผู้เขียนบทความในนิตยสาร เว็บไซต์ด้านแฟชั่น ตกแต่งบ้าน หรือท่องเที่ยว พากันมายื่นขอวีซ่าสำหรับผู้สื่อข่าวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากวัตถุประสงค์เดิมของสื่อมวลชนที่เคยกำหนดให้สามารถยื่นขอวีซ่าประเภทนี้ได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็น “ด่านหน้า” ในการทำหน้าที่พิจารณาการให้วีซ่าแก่บุคคลประเภทต่างๆ อย่างรอบคอบ จึงจำเป็นที่จะต้องทำการทบทวนและปรับปรุงแนวทางพิจารณาให้วีซ่าผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เพื่อจำแนกประเภทของผู้เข้ามาทำงาน และสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับผู้สื่อข่าวต่างชาติที่สามารถขอรับวีซ่าประเภท M และเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบของสื่อมวลชนในปัจจุบันที่มีการจำแนกลักษณะออกไปมากกว่าในอดีต

นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลด้านความมั่นคงในการป้องกันไม่ให้มีการอาศัยสิทธิประโยชน์จากบัตรผู้สื่อข่าวในการประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของวีซ่า เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม

ไม่ว่าจะในประเทศใด การพิจารณาอนุมัติวีซ่าต่างก็ถือเอาเรื่องของความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น อย่าว่าแต่ผู้สื่อข่าวเลย ขนาดนักการทูตหรือแม้แต่เอกอัครราชทูตไทยที่ได้รับการแต่งตั้งให้ไปประจำการในประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ต้องผ่านการยื่นเรื่องให้ประเทศนั้นๆ พิจารณาอนุมัติวีซ่าที่เหมาะสมให้ด้วยกันทั้งสิ้น ขนาดว่าผู้แทนทางการทูตไทยจะพาญาติหรือผู้ติดตามไป ก็ยังเจอปัญหาเรื่องวีซ่าล่าช้าหรือแม้แต่ถูกปฏิเสธกันได้เป็นเรื่องปกติ เพราะไม่มีประเทศใดจะปล่อยผ่านการพิจารณาวีซ่ากันอย่างง่ายๆ

ยิ่งในสภาพการณ์ปัจจุบันที่มีภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิม เมื่อเห็นสิ่งที่อาจเป็นช่องโหว่ เชื่อเถิดว่าไม่มีรัฐบาลประเทศไหนจะปล่อยทิ้งไว้แน่นอน ไม่อย่างนั้นรัฐบาลของประเทศต่างๆ ก็คงไม่เพิ่มมาตรการเก็บข้อมูลชีวภาพ อาทิ รอยนิ้วมือของผู้ยื่นขอวีซ่าเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการสวมสิทธิของผู้ไม่ประสงค์ดี การอนุมัติวีซ่าให้กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทยก็เป็นไปภายใต้หลักการเดียวกันคือต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เหมาะสม

และเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปในโลก ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้นไม่ได้พุ่งเป้าไปเพื่อการสร้างแรงกดดันกับสื่อมวลชนต่างประเทศอย่างที่พูดกันแม้แต่น้อย

ปัจจุบันมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ยื่นคำร้องขอวีซ่าผ่านกระทรวงการต่างประเทศและอาศัยอยู่ในไทยกว่า 500 คน จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ที่อาจไม่เข้าข่ายขอรับวีซ่าผู้สื่อข่าวประมาณร้อยละ 10 ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดำเนินการในขั้นต่อไป โดยแนวทางการพิจารณาใหม่จะให้ความสำคัญกับการให้คำจำกัดความของสื่อมวลชนที่สามารถขอรับวีซ่าผู้สื่อข่าวที่ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม ยิ่งในปัจจุบันสื่อต่างชาติหลายสำนักนิยมใช้ไทยเป็นฐานในการปฏิบัติงานในภูมิภาค จำนวนผู้สื่อข่าวที่มายื่นขอวีซ่าในไทยจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การกำหนดลักษณะของผู้ที่เข้าข่ายที่จะยื่นเรื่องขอวีซ่าผู้สื่อข่าวให้รัดกุมก็จะช่วยให้การคัดกรองผู้สื่อข่าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

ตัวอย่างของคุณลักษณะหลักที่ได้มีการกำหนดในเบื้องต้น อาทิ เป็นผู้สื่อข่าวที่อยู่ในสังกัดสำนักข่าวซึ่งจดทะเบียนตั้งสำนักงานอย่างถูกต้องในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวเต็มเวลาโดยไม่ประกอบอาชีพอื่นระหว่างที่อยู่ในไทย และรายงานข่าวหรือผลิตผลงานที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในระหว่างที่พำนักอยู่ ซึ่งข้อกำหนดเบื้องต้นเหล่านี้จะช่วยคัดกรองผู้ที่ใช้ประโยชน์แอบแฝงจากวีซ่านักข่าวและบัตรผู้สื่อข่าวในการประกอบอาชีพอื่นในไทย รวมถึงป้องกันการใช้สิทธิประโยชน์จากบัตรผู้สื่อข่าวในทางที่ผิด

ขณะที่แนวทางการพิจารณาใหม่นี้ก็ไม่ได้ปิดกั้นหรือขับไล่ผู้ที่มีลักษณะไม่ตรงตามกรอบที่กำหนดไว้ไม่ให้ทำงานในไทย เพราะจะมีการแจ้งให้ผู้ยื่นขอวีซ่าทราบและแนะนำให้เปลี่ยนไปยื่นขอวีซ่าในประเภทที่เหมาะสมกับการทำงาน อาทิ วีซ่าประเภทประกอบธุรกิจหรือทำงาน หรือวีซ่าประเภท B และวีซ่าประเภทการเผยแพร่ศาสนา หรือวีซ่าประเภท R ซึ่งระหว่างนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอขยายระยะเวลาของวีซ่าเดิมออกไปในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ยื่นขอวีซ่าสามารถเตรียมเอกสารในการขอวีซ่าประเภทใหม่ที่ถูกต้องกับลักษณะงานที่ทำ ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ไปพูดคุยทำความเข้าใจกับสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวแล้ว ก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ในเร็วๆ นี้ต่อไป

คงจะไม่มีใครบอกว่า เจ้าของบ้านไม่มีสิทธิที่จะปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้รัดกุม เพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับบ้านของตัวเอง เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ก็ยืนอยู่บนหลักการเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image