ธานี แสงรัตน์ ทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา กับการต่อยอด soft power ไทย

ธานี แสงรัตน์
ทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา
กับการต่อยอด soft power ไทย

ธานี แสงรัตน์

๐เราจะต่อยอด soft power ไทยในสหรัฐได้อย่างไร

ตามคำจำกัดความของ โจเซฟ ไนล์ คำว่า soft power คือการที่เราจะสามารถโน้มน้าวอีกประเทศหนึ่งหรือบุคคลหนึ่งให้เห็นพ้องต้องตามไปกับเรา หลายๆ ส่วนเราทำมาแล้ว แต่หลายๆ ส่วนเราก็น่าจะต้องทำเพิ่มเติม สำหรับสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ผมเป็นกงสุลใหญ่ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ก็ได้นำแฟชั่นดีไซนเนอร์รุ่นใหม่ของไทยเข้าร่วม LA fashion week เป็นครั้งแรก แต่หลังจากนั้นก็เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงไม่ได้ทำต่อ

ล่าสุด สถานทูตที่กรุงวอชิงตัน ก็ได้จัดงาน “สวัสดีดีซี” บนเนชั่นแนลมอลเป็นครั้งแรก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงาน 3 หมื่นคน เราได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ ภาคเอกชน และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทำให้เราสามารถจัดงานใหญ่ขึ้นมาได้ งานนี้มีบัวขาว บัญชาเมฆ นักมวยชื่อดังของไทยเข้าร่วมการแสดงด้วยทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย ซึ่งมีคนมาติดตามจำนวนมาก มีร้านอาหาร 20-30 ร้านเข้าร่วม และมีวงดนตรี fourmix เป็นวง lgbtq ซึ่งมีฐานแฟนเพลงเป็นคนละตินอเมริกันในสหรัฐ เพราะฐานของชาวละตินในอเมริกาเราก็ต้องรักษาไว้ มันเป็นการนำเสนอจุดแข็งและจุดเด่นของ soft power ไทย

Advertisement

นอกจากนั้นแล้ว ในงานดังกล่าวเรายังได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจไทย-สหรัฐ องค์กรการกุศล ผู้นำชุมชนไทยจากทั่วสหรัฐเดินทางมาช่วยจัดงานนี้ด้วยเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันเราก็จัดงานนี้นี้เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐด้วยเช่นกัน ก็อยากจะฝากรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศให้มีการจัดงานนี้เป็นประจำทุกปี ปีหน้าเราคาดหวังว่าจะจัดงานนี้ให้ใหญ่ขึ้นด้วย มันเป็นโอกาสที่ชุมชนไทยได้เข้าร่วมและเขาเองก็ภูมิใจที่ได้ร่วมจัดงานนี้

๐soft power ที่คุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี พูดถึงและที่เป็นนโยบายรัฐบาล ไม่ได้เป็นแค่นโยบายต่างประเทศแต่ดูจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกด้วย

Advertisement

ถูกต้องครับ นโยบายต่างประเทศเราทำอยู่แล้ว มันเป็นส่วนหนึ่งของ soft power ตามคำจำกัดความของโจเซฟ ไนล์ แต่สิ่งที่คุณหมอสุรพงษ์พูดชัดเจนคือเรื่องผลตอบรับทางเศรษฐกิจ เช่น มวยไทย เราก็ขายชุดมวยไทย อุปกรณ์มวยไทยไปด้วย มีค่ายมวยไทยที่มีคนไทยสอนในหลายประเทศ รวมถึงอเมริกาเช่นกัน หรือในเรื่องอาหารไทยแท้ๆ ก็จะต้องมีส่วนประกอบที่เป็นอาหารไทย จะขาดเครื่องแกงหรือต้มยำ น้ำพริกเผาไปก็จะไม่ครบสูตร สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือส่วนประกอบ เป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการค้า การลงทุน อันนี้คือสิ่งที่คุณหมอเน้นย้ำ

๐ในตลาดสหรัฐ เราจะชูเรื่องอะไรเป็นหลัก

สหรัฐเป็นตลาดที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ชุมชนไทยในอเมริกาบางแห่งมีความเข้มแข็ง เขารวมตัวกันได้และมีความคิดริเริ่มอีกด้วย เช่น คนไทยในเมืองมินิโซตาที่มีคนไทยเพียงไม่กี่พันคนแต่สามารถจัดงานใหญ่ที่บริเวณด้านหน้า state house ของเขาและมีผู้เข้าร่วมในงานถึง 5 หมื่นคน เขามีความคิดว่าจะทำ mobile Thai festival ที่สามารถนำขึ้นรถและย้ายไปจัดที่เมืองอื่นๆ ได้ ซึ่งพวกเขาก็ถือเป็นกำลังสำคัญในการจัดงานของเรา

อีกแนวคิดหนึ่งก็คือเราจะสามารถนำผู้นำเสนอ soft power ของเรา ไม่ว่าจะเป็น นักมวยไทย หรือ ผู้แสดงต่างๆ ไปจัดการแสดงร่วมกันในเมืองต่างๆ ได้หรือไม่ ซึ่งก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นแล้ว เรายังไม่ได้จำกัดอยู่แค่วัฒนธรรมดั้งเดิมเท่านั้น แต่เรายังต้องมีสิ่งที่จะสามารถต่อยอดได้อีกด้วย เช่น วงดนตรีของคนรุ่นใหม่ ศิลปินใหม่ๆ หรือ นวัตกรรมของภายเอกชน ภายในเทศกาลสวัสดีดีซีเมื่อครั้งที่แล้ว เราก็ได้นำเสนอ global innovation club ซึ่งจะเป็นการนำเสนอเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของบริษัทสตาร์ทอัพของไทยมาจัดแสดงที่บูธของเรา ทางด้านซีพีและเอสซีจีก็ได้นำผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่มานำเสนอด้วยเช่นกัน ก็จะเป็นทั้งการรักษาของเดิมและต่อยอดของใหม่ๆ ไปด้วย

ปีหน้าเราอยากที่จะทำ “ปีแห่งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไทย-สหรัฐ” เพราะสหรัฐเป็นประเทศที่มีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเยอะมาก เรามีกลไกความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วแต่เราจะส่งเสริมให้มากขึ้น

เรายังมีความร่วมมือให้เมืองออสติน รัฐเท็กซัส เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับจังหวัดเชียงใหม่ของไทย เพราะเมืองออสตินเป็นเมืองที่มีความเป็นเสรีนิยมและมีนวัตกรรมเยอะมาก ก็จะมีความร่วมมือในสาขาต่างๆ ซึ่งก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของปีแห่งวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมได้ ตามจริงแล้วเรามีเมืองพี่เมืองน้องระหว่างไทยและสหรัฐหลายคู่ เช่นกรุงเทพ-กรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งเป็นคู่ที่เรากำลังทำเพิ่มเติม เรายังอยากสนับสนุนให้มีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างสหรัฐและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะเป็นในเรื่องน้ำหรือเรื่องอะไรก็ได้ที่คนในพื้นที่มีความต้องการ ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศของเราก็มีความร่วมมืออยู่แล้ว ส่วนของสหรัฐก็มีเรื่องที่เขามีความเชี่ยวชาญในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ พลังงานหมุนเวียน และการแพทย์ เลยคิดว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ไทย สหรัฐ ลาว เวียดนาม กัมพูชา จะมีความร่วมมือกันแบบไตรภาคี อาจจะมีโครงการที่มีความสำคัญ เช่น energy grid ซึ่งเราก็อยากเห็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปีหน้าประเทศลาวเป็นเจ้าภาพอาเซียน ถ้าสหรัฐเข้าร่วมการประชุม ถ้ามีการคุยกันก็ต้องมีการทำการบ้านพอสมควรว่าเราจะสามารถประกาศโครงการความร่วมมืออะไรที่สำคัญๆ ได้ไหม ซึ่งไทยก็พร้อมที่จะเป็นผู้สนับสนุนในแง่ของทำเลที่ตั้ง สถานที่ฝึกอบรม และเราเองก็มีความใกล้ชิดและช่องทางการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว

๐ในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ ไทยควรที่จะวางตัวอย่างไรท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างสหรัฐและจีน

ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และท่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร ได้พูดถึงเรื่องนี้หลายโอกาส ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแทบทุกประเทศ รวมทั้งกับจีนและสหรัฐ เราเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ เรามีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านการทหาร ความมั่นคงกับสหรัฐมากมาย ภูมิรัฐศาสตร์ในเวลานี้มีความตึงเครียดและการแข่งขันกัน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและทะเลจีนใต้ในประเด็นต่างๆ แต่คิดว่าประเทศไทยเรากำลังดำเนินนโยบายที่อยู่บนความสมดุล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถแสดงท่าทีอะไรได้เลย เรายึดความถูกต้อง หลักการระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศเป็นพื้นฐานสำคัญ

ประเด็นที่สองคือเรายึดผลประโยชน์และอธิปไตยของประเทศเป็นสำคัญ ในบางเรื่อง อย่างเช่นเรื่องการทูตเพื่อการพัฒนาเป็นประเด็นที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านของเราได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน เราสามารถทำเรื่องนี้ได้กับสหรัฐและประเทศอื่นๆ กับจีนอาจจะมีเรื่องอื่นๆ ที่เราทำกับเขาได้มากมาย ประเทศไทยอาจได้รับการคาดหวังให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในบางประเด็น อย่างเช่นกรณีเมียนมาเพราะเรามีพรมแดนติดกันค่อนข้างยาว เราได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ มองว่าเป็นโอกาสที่เราน่าจะใช้พื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีที่เรามีต่อประเทศมหาอำนาจ ประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในกรอบอาเซียน เรามีความสามารถที่จะดำเนินนโยบายที่สมดุลและสร้างสรรค์ ทำให้สนับสนุนกระบวนการแก้ไขปัญหาในบางเรื่องได้ ในเรื่องที่เรามีช่องทาง เรารู้จักผู้คน รู้จักปัญหานี้ดี และที่สำคัญเราได้รับผลกระทบ ถือว่าเรามีส่วนได้ส่วนเสียมากพอสมควรในบางเรื่อง

๐มีโอกาสไหมที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะเยือนไทย

สหรัฐเป็นมหาอำนาจระดับโลก การที่เขาจะไปเยือนประเทศใดประเทศหนึ่งก็มีความท้าทาย เรื่องการเยือนยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกัน ทั้งฝ่ายสหรัฐเยือนไทย และไทยเยือนสหรัฐ แต่ที่พูดคุยกันเป็นการเยือนของฝ่ายไทยมากกว่า ซึ่งมีการพูดคุยกันโดยตรงกับทำเนียบขาว โดยการวางแผนการเยือนน่าจะเกิดก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เพราะการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ยังอีกหลายเดือนและยังเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการหารือกัน

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ เป็นความสัมพันธ์กับประเทศที่มีบทบาทมากสำคัญมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เป็นความสัมพันธ์ที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดประเทศหนึ่ง สหรัฐมีศักยภาพสูงทั้งทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สหรัฐเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นมีโอกาสและมีศักยภาพสูงมากในเรื่องการค้าการลงทุน ท่านนายกฯทำให้เห็นว่าเราต้องพยายามใช้โอกาสกับการมีปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐอย่างเต็มที่ ตัวเลขการค้าและการลงทุนของสหรัฐอยู่ลำดับต้นๆ การลงทุนของสหรัฐในไทยและไทยในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นักลงทุนไทยลงทุนในสหรัฐมากกว่า 1.1-1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ใน 27 รัฐ มีการจ้างงาน 6-7 หมื่นตำแหน่ง และมีแนวโน้มสูงขึ้นในสาขาพลังงาน ปิโตรเคมี แปรรูปอาหาร และทำฟาร์มกุ้งในรัฐฟลอริดา เป็นความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนที่ใกล้ชิดขึ้นเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image