มินอ่องลายอยู่ต่อหรือพอแค่นี้ โดย ลลิตา หาญวงษ์

ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา คำถามยอดฮิตในบรรดาผู้สนใจและติดตามสถานการณ์ในพม่าคือ “พม่าจะแตกจริงหรือ” และ “มิน อ่อง ลายจะอยู่หรือจะไป” หลังปฏิบัติการ 1027 หลายฝ่ายประเมินว่ากองทัพพม่าอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด ในบรรยากาศที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และ PDF อันเป็นกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐประหารค่อยๆ ยึดพื้นที่และเมืองใหญ่น้อยในรัฐฉานเหนือ รัฐอาระกัน รัฐฉิ่น รัฐคะฉิ่น และอีกหลายพื้นที่ของเมียนมาตอนกลางและตอนเหนือ พื้นที่ที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ยึดมาได้ต่างมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ เพราะเป็นเส้นทางการค้าระหว่างพม่ากับจีน

ความอ่อนแอของกองทัพพม่ายังสะท้อนจากจำนวนทหารที่เสียชีวิตจากการสู้รบตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ที่ประเมินกันว่ามีหลายร้อยนาย บางส่วนเป็นทหารระดับแม่ทัพ และยังมีทหารอีกนับพันที่ยกธงขาว บ้างหลบหนีเข้าไปในเขตประเทศเพื่อนบ้าน สัญญาณเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ากองทัพพม่าไม่ได้มีกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เข้มแข็งพอที่จะเผด็จศึกกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ได้เลย โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มร่วมกันตีกองทัพพม่าอย่างกรณีของปฏิบัติการ 1027

ด้วยกองทัพพม่าเสียฐานที่มั่นหลายสิบแห่งให้กับฝ่ายต่อต้านในช่วงแค่ 3 เดือน ทำให้สังคมพม่ามีปฏิกิริยาและเริ่มมีกระแสกดดันให้มีการเปลี่ยนตัวผู้นำสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council หรือ SAC) และกองทัพ ที่ในขณะนี้เป็นพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย กระแสต่อต้านนี้ไม่ได้อยู่เฉพาะกลุ่มต่อต้านรัฐประหารเท่านั้น แต่กลุ่มที่เรียกว่าเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของกองทัพ อย่างสถาบันสงฆ์ก็เริ่มมีปฏิกิริยา หรือแม้แต่จีน ที่แต่เดิมมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้หลังรัฐประหาร ไม่เคยออกมาประณามคณะรัฐประหารแบบเปิดเผย ในขณะเดียวกันคนทั้งโลกย่อมรู้ว่าจีนเคยให้การสนับสนุนรัฐบาลพลเรือน NLD ภายใต้การนำของด่อ ออง ซาน ซูจี อย่างเหนียวแน่นมาก่อน ทำให้จีนไม่ได้ปลื้มกับรัฐประหาร ปฏิบัติการ 1027 ก็ชี้ให้เห็นว่าจีนเริ่มกดดันกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ให้ร่วมโจมตีกองกำลังฝ่ายสนับสนุนกองทัพพม่ามากขึ้น และต้องการยึดพื้นที่ยุทธศาสตร์คืนมาจากกองทัพพม่า

ปัญหาในเวลานี้คือหากแม้นว่าเกิดรัฐประหารภายในกองทัพ หรือเกิดมีพรายกระซิบบอกมิน อ่อง ลายว่าถึงเวลาแล้วที่ท่านต้องเสียสละตำแหน่ง และนำแม่ทัพที่เก่งกาจกว่ามาบริหาร SAC ให้อยู่รอด ใช่ว่าปัญหาในพม่าจะจบ เพราะเท่าที่ดูตอนนี้ ในกองทัพก็ไม่มีผู้นำที่มีบารมีมากพอคนไหนที่จะมาทดแทนมิน อ่อง ลายได้เลย ในประวัติศาสตร์การเมืองของพม่า เกิดวิกฤตในลักษณะนี้มาบ้าง ในช่วงปลายรัฐบาลของเนวิน เมื่อเกิดการประท้วงทั่วประเทศในปี 1988 นั้น ก็มีกระแสภายในเพื่อกดดันเนวินอย่างหนักให้ลาออก เพราะแม้กองทัพจะใช้ไม้แข็งยิงใส่ผู้ชุมนุมประท้วงโดยตรง แต่ความไม่พอใจกองทัพก็ลุกลามเหมือนไฟลามหญ้า อย่างไรก็ดี ในตอนนั้นยังพอมีผู้นำที่มีบารมีอยู่บ้าง อย่างพลเอก ซอ หม่อง ที่เป็นแม่ทัพสายบู๊ หรือเมื่อตอนที่ SPDC ขึ้นมามีอำนาจในปลายทศวรรษ 1990 ก็มีผู้นำทหาร 3 คน ที่เป็นเบอร์ 1-3 ให้ได้เห็น เริ่มจากตาน ฉ่วย ขิ่น ยุ้น และมาถึงเบอร์สามอย่างหม่อง เอ

Advertisement

สำหรับตอนนี้ เรายังไม่เห็นภาพของ “เบอร์สอง” ชัดเจน แต่ก็มีกระแสออกมาว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล SAC และอาจเป็นรองนายกรัฐมนตรี 2 คน ที่เข้ามารับตำแหน่งแทนมิน อ่อง ลาย ในฐานะผู้นำ SAC แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้นำชุดใหม่จะบริหารทั้งกองทัพและประเทศชาติให้รอดวิกฤตช่วงนี้ไปได้ วิธีเดียวที่ยั่งยืนคือทั้งมิน อ่อง ลาย และ SAC ทั้งคณะต้องออกจากตำแหน่ง ในมุมมองของผู้เขียน ผู้นำ SAC ทั้งหมดไม่มีทางลงจากหลังเสือง่ายๆ เพราะนั่นเท่ากับว่ารัฐประหารปี 2021 สูญเปล่า ทั้งความตั้งใจเดิมที่ SAC ต้องการกำจัดนักการเมืองและพรรค NLD ออกไป และจะเผชิญกับการดำเนินคดีสารพัด และด้วยบุคคลเหล่านี้มีทัศนคติที่แตกต่างออกจากพลเรือนอย่างสิ้นเชิง ทั้งชีวิตของนายทหารเหล่านี้อยู่ในโรงเรียนนายร้อยและกองทัพที่โหมกระหน่ำโฆษณาชวนเชื่อว่าเชื้อชาติพม่ายิ่งใหญ่กว่าใคร และกองทัพมีหน้าที่ปกป้องแผ่นดินนี้มิให้แตกสลาย ความไม่ยืดหยุ่นนี้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

ฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ในเวลาที่ทหารในกองทัพไม่พอใจท่าทีของผู้นำ SAC อย่างหนัก ทำให้ทหารตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับผู้นำกองร้อยหนีกองทัพ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนเสถียรภาพของกองทัพ ถึงขนาดที่อดีตนายทหารระดับสูงในกองทัพเองก็เริ่มทนไม่ไหวและโพสต์ข้อความเรียกร้องให้กองทัพลงโทษทหารเหล่านี้อย่างรุนแรง หลังปฏิบัติการ 1027 มีนายทหารระดับนายพลจัตวา (Brigadier General) ถึง 6 นาย
ที่ยอมแพ้ ก็เพิ่งได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตจาก SAC นอกจากนี้ครอบครัวของทหารที่หนีทัพหรือยอมแพ้ก็ถูกกดดันอย่างหนักจากกองทัพ

Advertisement

กองร้อยที่ยังเหลืออยู่ก็กล้าๆ กลัวๆ และไม่มั่นใจว่าจะรบชนะฝ่ายต่อต้าน SAC ด้วยความกลัวการถูกลงโทษและความจำเป็นต้องปกป้องครอบครัวของตนเอง แม่ทัพส่วนหนึ่งต้องหนีเข้าไปทั้งในอินเดียและไทย เสียงภายในกองทัพอาจไม่มากพอที่จะกดดันให้มิน อ่อง ลายลาออกได้ แต่สถาบันสงฆ์ก็เริ่มออกมาวิจารณ์สภาวะผู้นำของมิน อ่อง ลายมากขึ้น เริ่มจาก อะฉิ่น อาริยะวุนทะ (Ashin Ariawuntha) ที่เป็นพระสายอนุรักษนิยม-ชาตินิยม โปรกองทัพ ยังออกมาเรียกร้องให้ผู้นำ SAC ลาออก ท่ามกลางผู้สนับสนุนกองทัพมากมายที่มารวมตัวกันที่ปยินอูลวิน (โรงเรียนนายร้อยของพม่าอยู่ที่เมืองนี้) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สิ่งที่อะฉิ่น อาริยะวุนทะพูดถึงมิน อ่อง ลายคือการเผชิญหน้ากับผู้นำกองทัพโดยตรง ท่านมองว่ามิน อ่อง ลายไม่มีความสามารถ เห็นแก่ตัว และยังเปลี่ยนให้กองทัพพม่าที่เคยยิ่งใหญ่กลายเป็นกองทัพที่ไร้ประสิทธิภาพ อันสะท้อนให้เห็นจากความพ่ายแพ้ของกองทัพในปฏิบัติการ 1027 ความไม่พอใจมิน อ่อง ลายยิ่งมีเพิ่มขึ้น ทำให้การประชุมสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ (National Defense and Security Council หรือ NDSC) ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้เพื่อต่ออายุของ SAC ไปอีก 6 เดือน มีข่าวออกมาว่าประธานาธิบดี มยิ้น ส่วย ที่เป็นประธาน NDSC สุขภาพไม่แข็งแรง ทำให้การประชุม NDSC ต้องเลื่อนออกไป ทางสองแพร่งที่ NDSC เผชิญในเวลานี้ ทางแรกคือยอมให้ SAC ต่ออายุออกไปอีก 6 เดือน และอีกทางหนึ่งคือ SAC ต้องปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีของตัวเอง โดยเฉพาะตำแหน่งผู้นำ SAC เพื่อลดอุณหภูมิของฝ่ายต่อต้าน ผู้เขียนยังมองว่ามิน อ่อง ลายไม่น่าจะลาออกง่ายๆ บางตำแหน่งใน SAC อาจมีการปรับเปลี่ยน หรือมิน อ่อง ลายอาจเลือกรักษาตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพมากกว่านายกรัฐมนตรีและผู้นำ SAC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image