อาเซียนรีทรีตหนุนข้อริเริ่มไทย เปิดจุดมนุษยธรรมชายแดนเมียนมา ‘ปานปรีย์’ บินดูพื้นที่แม่สอด 8-9 ก.พ.นี้

AFP

อาเซียนรีทรีตหนุนข้อริเริ่มไทย เปิดจุดมนุษยธรรมชายแดนเมียนมา ‘ปานปรีย์’ บินดูพื้นที่แม่สอด 8-9 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 29 มกราคม นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ว่าที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการเห็นพ้องและตอบรับกับข้อริเริ่มของไทยในการที่จะสร้างจุดมนุษยธรรมระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา และต่างก็เห็นด้วยกับการที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

นายปานปรีย์กล่าวว่า ขณะเดียวกันศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนจะเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ พร้อมทั้งจะมีสภากาชาดไทยและสภากาชาดเมียนมาเข้ามาร่วมด้วย

“ในช่วงวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์นี้ ผมจะเดินทางไปที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อดูพื้นที่ที่จะเป็นจุดในการทำเป็นพื้นที่มนุษยธรรม หากเหมาะสมก็จะเดินหน้าต่อไป ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังให้การยืนยันว่าจะเดินต่อเรื่องฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนที่ได้มีการตกลงกันก่อนหน้านี้ ซึ่งข้อริเริ่มของไทยในส่วนนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งใน 5 ของฉันทามติอาเซียน” นายปานปรีย์กล่าว

Advertisement

นายปานปรีย์กล่าวด้วยว่า สำหรับท่าทีของเมียนมานั้น ในที่ประชุมมีนางมาร์ลาร์ ถั่น ติเก ตัวแทนในระดับปลัดกระทรวงต่างประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย เขาก็แสดงความยินดีและพร้อมให้การสนับสนุน และพร้อมที่จะให้ AHA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนเข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย ดังนั้นหากทุกอย่างเรียบร้อยก็สามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

นายปานปรีย์กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้มีการพูดคุยกันถึงความร่วมมือของอาเซียนอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจด้านดิจิทัล สิ่งแวดล้อมและสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาค รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อให้ตัวแทนจากทุกประเทศได้แสดงความคิดเห็น รวมถึงปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเห็นว่าเป็นปัญหาร่วมกันที่จะต้องเร่งแก้ไข

ด้านนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังไม่เป็นทางการมีการพูดถึงถ้อยแถลงสรุปการประชุมของประธานที่มีการเสนอว่า อยากเห็นสถานการณ์ที่ฉนวนกาซาคลี่คลาย และต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว แต่รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ได้ท้วงติงและเสนอให้เพิ่มประเด็นการปล่อยตัวประกันให้บรรจุในถ้อยแถลง ซึ่งไทยก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ จึงได้มีการบรรจุในถ้อยแถลงของประธานว่าขอให้มีการปล่อยตัวประกันที่ถูกควบคุมตัวในฉนวนกาซาโดยไม่มีเงื่อนไข

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image