3 ปี รัฐประหารเมียนมา ‘มิน อ่อง ลาย’ กับอนาคตอันมืดมน

แฟ้มภาพ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา (รอยเตอร์)

3 ปี รัฐประหารเมียนมา ‘มิน อ่อง ลาย’ กับอนาคตอันมืดมน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ถือเป็นวันครบรอบ 3 ปีรัฐประหารเมียนมา และยังถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักหน่วงที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน จากการต่อต้านอย่างหนักทั้งฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ และล่าสุดในกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา แม้แต่พระภิกษุปึก โกตอ ผู้ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าสนับสนุนกองทัพ ยังออกมาเสนอให้พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาลงจากตำแหน่ง ท่ามกลางฝูงชนที่โห่ร้องแสดงการตอบรับต่อเรื่องดังกล่าว

แม้แต่นักข่าวและบล็อกเกอร์ออนไลน์ที่สนับสนุนกองทัพก็มีท่าทีไปในทิศทางเดียวกัน โก หม่อง หม่อง ยูทูบเบอร์ที่โปรกองทัพก็โพสต์ว่า “เขาควรลาออกจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด” หากมองย้อนไปในไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ท่าทีเช่นนี้ต่อพล.อ.มิน อ่อง ลาย ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

การตั้งคำถามต่อพล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย มีขึ้นหลังจากความพ่ายแพ้ในหลายสมรภูมิรบของกองทัพเมียนมา ภายใต้ปฏิบัติการ 1027 ของกลุ่มต่อต้านที่เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคมปีก่อน

Advertisement

ตามข้อมูลของกลุ่มสื่อ Myanmar Peace Monitor ระบุว่า จนถึงขณะนี้ รัฐบาลทหารเมียนมาสูญเสียอำนาจในการควบคุมเมืองไปแล้วอย่างน้อย 35 เมือง แม้ว่าการหยุดยิงที่จีนเป็นคนกลางจะทำให้การปะทะใกล้ชายแดนจีนยุติลง แต่ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป

นักการทูตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางรายบอกกับรอยเตอร์ว่า มีความคับข้องใจอย่างลึกซึ้งภายในกองทัพ ซึ่งมันได้ขยายไปถึงมิน อ่อง ลาย เป็นการส่วนตัว แน่นอนว่าบางคนอยากเห็นเขาพ้นไป ขณะเดียวกันเปิดรับสมัครทหารและบังคับให้บุคลากรที่ไม่ใช่หน่วยรบเข้าสู่แนวหน้าของการต่อสู้ ล้วนแต่ทำให้มิน อ่อง ลาย ยิ่งกลายเป็นเป้าของการโจมตีเพิ่มขึ้น

ความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องส่งผลเสียต่อสถานะของมิน อ่อง ลาย รวมถึง “ทัดมาดอว์” ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานกองทัพเมียนมาอันทรงอำนาจ ที่ต้องเผชิญกับคำถามที่ยากจะตอบ

Advertisement

ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเมียนมาของ Crisis Group กล่าวว่า ผลงานที่ย่ำแย่ในสนามรบของเมียนมากลายเป็นเรื่องน่าละอายในหมู่ผู้รักชาติ รวมถึงผู้สนับสนุนกองทัพคนอื่นๆ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะต่อความเป็นผู้นำของมิน อ่อง ลาย ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

คำประกาศของรัฐบาลทหารที่เคยบอกว่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2566 แต่ความไม่สงบในประเทศที่ลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น การปราบปรามด้วยความรุนแรงกลับก่อให้เกิดการลุกฮือของกลุ่มติดอาวุธทั่วประเทศ ที่หันไปจับมือกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ต่อสู้กับกองทัพเมียนมามาหลายสิบปี
เศรษฐกิจของเมียนมาที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากการปกครองภายใต้รัฐบาลทหารมานานหลายทศวรรษ ยังเสียหายหนักจากเงินลงทุนต่างชาติที่หดหายภายหลังรัฐประหารและการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ความเป็นอยู่ที่ยากลำยาก ไฟฟ้าดับ ราคาพลังงานและเครื่องอุปโภคบริโภคพุ่งสูง บ่อนทำลายการให้การสนับสนุนต่อรัฐบาลทหาร

ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 31 มกราคม ก่อนถึงวันครบ 3 ปีของการยึดอำนาจว่า พวกเขาเปิดกว้างสำหรับการเจรจากับกองทัพ หากมีการดำเนินการตามเงื่อนไข 6 ประการ ซึ่งรวมถึงให้กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน และยุติการมีส่วนร่วมทางการเมืองของทหาร ขณะที่ NUG และพันธมิตรจะสถาปนา “สหภาพประชาธิปไตยแห่งสหพันธรัฐ”

หนทางยังอีกยาวไกล และดูเหมือนจะยังมองไม่เห็นหนทางกลับสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาได้ในเร็ววัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image