‘ปานปรีย์‘ หนุนโลกหลากขั้ว ชู ‘อินโด-แปซิฟิก’ ที่อิสระ-เปิดกว้าง หวังเมียนมาสงบสุข-มั่นคง

‘ปานปรีย์‘ หนุนโลกหลากขั้ว ชู ‘อินโด-แปซิฟิก’ ที่อิสระ-เปิดกว้าง หวังเมียนมาสงบสุข-มั่นคง
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก (EU Indo-Pacific Ministerial Forum-IPMF) ครั้งที่ 3 โดยนายปานปรีย์ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันอินโด-แปซิฟิกถือว่าอยู่ในแนวหน้าของการกำหนดระเบียบโลกใหม่และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก นี่ยืนยันจากข้อเท็จจริงและตัวเลขที่เราทุกคนทราบกันดีอยู่
อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคนี้ก็ต้องรับมือกับความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงหลายประการ ซึ่งรวมถึงความตึงเครียดทางการเมืองและการทหาร ตลอดจนข้อพิพาทเรื่องดินแดน ทั้งหมดนี้ยังประกอบเข้ากับการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจรายใหญ่ ดังนั้นเราจึงยินดีกับย่างก้าวเชิงบวกระหว่างจีนและสหรัฐในซานฟรานซิสโกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายให้มั่นคง และประเทศไทยก็ยินดีที่ได้เป็นสถานที่จัดการประชุมครั้งล่าสุดระหว่างสองมหาอำนาจซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง
ประเทศไทยเชื่อในความสำคัญของการมีหลายขั้วอำนาจในโลกปัจจุบัน ในเรื่องนี้ อำนาจในการชักจูงของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการรวบรวมมหาอำนาจหลัก สามารถเป็นพลังเชิงบวกในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific:AOIP) ตั้งอยู่บนพื้นฐานความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เป็นอิสระ เปิดกว้าง และครอบคลุม มีส่วนร่วมกับโลกโดยรวม แนวทางดังกล่าวซึ่งเราทั้งสองมีร่วมกันน่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค
สหภาพยุโรปสามารถให้การสนับสนุนเชิงบวกต่อระเบียบของภูมิภาคที่มีหลายขั้วอำนาจโดยรักษาการดำเนินนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นตัวของตัวเอง (strategic autonomy) และส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่เปิดกว้างและครอบคลุมอย่างแท้จริง อันที่จริงแล้ว เรายินดีกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรป และตั้งตารอการเพิ่มการมีส่วนร่วมเชิงสร้างสรรค์กับพันธมิตรในยุโรปของเรา
แต่อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ความท้าทายหลายประการยังคงมีอยู่ จากมุมมองของภูมิภาค สิ่งที่สำคัญที่สุดคือวิกฤตในเมียนมา ประเทศไทยต้องการเห็นเมียนมาที่สงบสุข มั่นคง และเป็นเอกภาพ เราเชื่อว่าวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเพียงอย่างเดียวคือการแก้ปัญหาทางการเมือง และมันก็ขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการกำหนดอนาคตของตนเอง
ในฐานะเพื่อนบ้านข้างเคียง ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเป็นจริงประการหนึ่ง นั่นคือชาวเมียนมากำลังทนทุกข์ทรมาน และเราไม่สามารถยอมให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปได้ และนั่นคือสาเหตุที่ประเทศไทยริเริ่มโครงการด้านมนุษยธรรม ซึ่งเราหวังว่าจะเปิดประตูสำหรับการเจรจาระหว่างทุกฝ่าย ท้ายที่สุดแล้ว มันควรเป็นเวทีสำหรับการมีส่วนร่วมของเมียนมากับประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นก้าวเชิงบวกอย่างมาก ข้อริเริ่มนี้ของไทยยังได้รับการสนับสนุนจากอาเซียนด้วย
ท่ามกลางความท้าทายทั้งหมด เรายังคงมั่นใจในศักยภาพและอนาคตของอินโด-แปซิฟิกหรือเอเชีย-แปซิฟิก ดังที่พวกเราหลายคนยังคงใช้เรียกภูมิภาคนี้ เรายังมั่นใจว่าสหภาพยุโรปจะเป็นหุ้นส่วนสำคัญของอาเซียนและของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ในความพยายามของเราที่จะสร้างอินโด-แปซิฟิกที่สงบสุข มั่นคง และเจริญรุ่งเรือง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นกับโลกโดยรวม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image