ผู้แทนพิเศษอาเซียนเรื่องเมียนมาถก UNSC เดินหน้าการทูตเงียบ 9 ชาติสมาชิกวอนหยุดโจมตีทางอากาศ

ผู้แทนพิเศษอาเซียนเรื่องเมียนมาถก UNSC เดินหน้าการทูตเงียบ 9 ชาติสมาชิกวอนหยุดโจมตีทางอากาศ

สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) 9 ประเทศ ได้ออกมาประณามการโจมตีทางอากาศโดยไม่เลือกหน้าของกองทัพเมียนมาต่อพลเรือน ก่อนหน้าที่จะมีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับความพยายามของอาเซียนที่จะดำเนินการตามแผนการสันติภาพเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในเมียนมา ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังดูเหมือนว่าจะยังไม่มีผลในทางปฏิบัติเท่าใดนัก
สมาชิกทั้ง 9 ชาติของ UNSC ประกอบด้วยเอกวาดอร์ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น มอลตา เกาหลีใต้ สโลวีเนีย สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริการะบุว่า สามปีหลังการอำนาจของกองทัพเมียนมาผู้คนมากกว่า 18 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และอีก 2.6 ล้านคนยังคงไร้ที่อยู่อาศัย
สมาชิกทั้งเก้าประเทศได้แสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อการไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน หลักนิติธรรม รวมถึงเจตจำนงและผลประโยชน์ตามระบอบประชาธิปไตยของประชาชนในเมียนมา
สมาชิก UNSC 9 ประเทศยังเน้นย้ำถึงข้อเรียกร้องของคณะมนตรีฯ ที่ให้มีการพัฒนาปรับปรุงการเข้าถึงความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมให้กับประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งก็สอดคล้องกับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่หลวงพระบาง ซึ่งลาวในฐานะประธานอาเซียนได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าที่จะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมกับประชาชนชาวเมียนมา
ด้านนายจ่อ โม ตุน เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำยูเอ็นของเมียนมา ซึ่งยังคงเป็นตัวแทนของรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี ที่ถูกโค่นล้ม เรียกร้องให้ UNSC ออกมติที่เข้มข้นขึ้นและสามารถบังคับใช้ได้ โดยระบุว่าขณะนี้กองกำลังประชาธิปไตยกำลังรุกคืบยึดครองพื้นที่ ขณะที่รัฐบาลเผด็จการทหารก็ประสบกับความพ่ายแพ้สูญเสียในทุกๆ วัน
นายอลุนแก้ว กิตติคุณ ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนว่าด้วยเรื่องเมียนมา และอดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรลาวประจำยูเอ็น ได้เดินทางไปชี้แจงในการประชุมปิดต่อที่ประชุม UNSC ในนามอาเซียน โดยย้ำว่าอาเซียนยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียนเพื่อสร้างสันติภาพในเมียนมา ผ่านการดำเนินการการทูตแบบเงียบต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อไป แม้ว่าจะมีความกังวลในวงกว้างเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศเมียนมา จากการที่ทหารต้องเปิดแนวรบหลายด้าน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงของความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ รวมถึงเห็นด้วยกับความจำเป็นในการต้องเปิดช่องทางความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมที่ดีขึ้น
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image