คอลัมน์ไฮไลต์โลก : ม็อบคนงานเกาหลีเหนือลุกฮือ สะท้อนอำนาจกดทับ

แฟ้มภาพเอเอฟพี

คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ม็อบคนงานเกาหลีเหนือลุกฮือ สะท้อนอำนาจกดทับ

แทบจะไม่ค่อยมีข่าวหลุดออกมาฟ้องโลกภายนอกให้ได้รับรู้กันนัก กับชะตากรรมของคนงานเกาหลีเหนือโพ้นทะเล ที่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ใช้แรงงานเพื่อแลกเงิน ดังที่มีกระแสข่าวปรากฎในสื่อตะวันตกเมื่อเร็วๆ นี้ว่า คนงานเกาหลีเหนือราว 3,000 คน ที่ทำงานอยู่ในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 15 แห่งในมณฑลจี๋หลิน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน แต่ดำเนินงานโดยบริษัทเกาหลีเหนือนั้น ได้ก่อจลาจลประท้วงขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

โดยอ้างข้อมูลกล่าวอ้างจากหลายแหล่ง ทั้งที่เป็นอดีตนักการทูตเกาหลีเหนือที่แปรพักตร์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญและข่าวกรองของเกาหลีใต้ ที่ต่างชี้ในทางเดียวกันว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้คนงานเกาหลีเหนือเหล่านั้นลุกขึ้นมาก่อเหตุประท้วงรุนแรง เป็นเพราะอดรนทนต่อไม่ไหวกับการไม่ได้รับเงินส่วนแบ่งค่าจ้างที่ต้องได้ จากที่เหลือต้องปันส่งกลับไปให้กับรัฐบาลเปียงยางแล้ว และการต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เลวร้ายบีบคั้นอีก

สื่ออังกฤษอย่าง บีบีซี อ้าง โก ยองฮวาน อดีตนักการทูตเกาหลีเหนือที่แปรพักตร์มาเกาหลีใต้ช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งออกมาให้ข่าวกับสื่อถึงการก่อการประท้วงของแรงงานเกาหลีเหนือในจีนเมื่อเดือนก่อน บอกว่าฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนงานเกาหลีเหนือถึงจุดเดือดฮือประท้วงเมื่อรู้ว่าค่าจ้างที่ค้างจ่ายพวกเขามาเป็นเวลาหลายปี ถูกโอนกลับไปเป็นงบเตรียมการสำหรับสงครามของรัฐบาลเปียงยาง

Advertisement

ขณะที่ข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่อ้าง โช ฮันบัม นักวิจัยอาวุโสประจำสถาบันเกาหลีเพื่อการรวมชาติ(KINU)ของรัฐบาลเกาหลีใต้ บอกว่าคนงานเกาหลีเหนือในโรงงานกว่า 10 แห่งในเมืองเฮย์หลง มณฑลจี๋หลิน ลุกฮือขึ้นจากปมค้างจ่ายค่าจ้าง ที่คั่งค้างมานาน 4-7 ปี เป็นเงินรวมกันราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเปียงยางจะยอมจ่ายเงินเดือนที่ค้างจ่ายหลายเดือนให้คนงานที่ไม่พอใจเพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย

บีบีซียังอ้างแรงงานเกาหลีเหนือรายหนึ่งบอกเล่าว่า แม้เขาค่อนข้างจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าคนงานคนอื่นๆ เนื่องจากทำงานดี แต่เพื่อนคนงานของเขาส่วนมากไม่ได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น หลายคนไม่ได้รับการดูแลเรื่องเครื่องทำความร้อนในที่พักตลอดช่วงเดือนที่หนาวจัด และยังไม่สามารถออกจากที่พักได้เลย แม้แต่ไปซื้อข้าวของจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงโควิด-19 ระบาด

จากข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุว่า มีแรงงานเกาหลีเหนือโพ้นทะเลอยู่ราว 100,000 คน ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในร้านอาหารและโรงงานต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เงินค่าจ้างที่พวกเขาได้รับจะเป็นเงินสกุลต่างประเทศ มีการประมาณการว่าแรงงานเกาหลีเหนือทำเงินเข้าประเทศระหว่างปี 2017-2023 ได้ราว 740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทว่ารัฐบาลเปียงยางที่ใช้อำนาจควบคุมแรงงานเกาหลีเหนือโพ้นทะเลอย่างเข้มงวด จะริบค่าจ้างของแรงงานเหล่านั้นเอาไว้มากถึง 90% ของเงินเดือนที่พวกเขาได้รับ เพื่อนำกลับมาใช้เป็นงบสนับสนุนของรัฐบาลเปียงยาง

Advertisement

รายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐปี 2023 ยังชี้ว่า แรงงานเกาหลีเหนือเหล่านั้นมักเผชิญกับสภาพเงื่อนไขที่เทียบได้กับเป็นการบังคับใช้แรงงาน

ชะตากรรมที่ถูกเปิดเผยออกมาล่าสุดของผู้ใช้แรงงานเกาหลีเหนือ แม้สื่อหลักทั้ง 2 สำนักจะระบุว่ายังไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ แต่ข้อมูลซึ่งถูกตีแผ่ออกมาก่อนหน้านี้หลายครั้ง ก็มีน้ำหนักที่จะสะท้อนภาพให้เห็นว่าแม้แรงงานเกาหลีเหนือที่อยู่โพ้นทะเล ก็ยังไม่พ้นจากการถูกกดทับโดยระบอบปกครองที่กดขี่ในเปียงยาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image