นัยแห่งการเยือนสหรัฐของปานปรีย์

นัยแห่งการเยือนสหรัฐของปานปรีย์

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของ นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ในระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะเป็นการเดินทางไปเพียงไม่กี่วัน แต่กำหนดการดูจะอัดแน่น ตั้งแต่การหารือกับนายบลิงเกน ตามด้วยการหารือกับ นางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ พบหารือกับวุฒิสมาชิกสหรัฐ 2 คน คือ นายคริสโตเฟอร์ แวน ฮอลเลน ประธานอนุกมธ.ด้านเอเชียตะวันออก แปซิฟิก และนโยบายความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างประเทศ คณะกรรมการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ นางแทมมี ดักเวิร์ด สมาชิกคณะกมธ.การต่างประเทศของวุฒิสภา ทั้งยังหารือกับ นายอามอส ฮอชชไตน์ ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีสหรัฐด้านพลังงานและการลงทุน เป็นอาทิ

นายปานปรีย์ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นภารกิจว่า การเยือนสหรัฐครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนความเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดและมีมายาวนานกับสหรัฐอเมริกา และเป็นการกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างไทย-สหรัฐโดยได้พบกับผู้นำหลายท่านทั้งผู้นำทางรัฐสภา ส.ว.ดักเวิร์ธ และส.ว.แวน ฮอลแลน ซึ่งทั้งสองท่านเป็นเพื่้อนของชาวไทย และมีความใกล้ชิดกับคนไทยมาก นอกจากนั้นยังได้พบกับ รมว.พณ.สหรัฐ ซึ่งได้คุยกันในเรื่องการค้าการลงทุน และการที่ไทยเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) และความก้าวหน้าของไอเพฟ ทั้งยังหารือกันในอีกหลายๆ เรื่องด้วย

หารือกับนางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ

นายปานปรีย์กล่าวว่า ในการหารือกับนายบลิงเกน ได้พูดคุยกันหลายด้าน ไม่ว่าเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ และเรื่องภูมิภาค โดยเฉพาะความริเริ่มของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับประชาชนในประเทศเมียนมา ซึ่งท่านบลิงเกนก็เห็นด้วยและพร้อมจะให้ความสนับสนุน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษยธรรมโดยตรง ในประเด็นอื่นก็ไม่มีประเด็นอะไรที่เขาเป็นกังวล เราได้เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์เมียนมาในเวลานี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ตนได้ไปลงพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ที่เราได้ไปเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งเขาแสดงความสนใจมาก คิดว่าในเรื่องของเมียนมาก็คงต้องมีการพูดคุยกันต่อไป

Advertisement

นายปานปรีย์กล่าวอีกว่า ยังได้มีการพูดคุยเรื่องความมั่นคงไซเบอร์กับสหรัฐ ซึ่งเขาก็ให้ความสนใจมาก ตนได้ยกประเด็นนี้จากที่ได้ไปชายแดนไทย-เมียนมา ว่าเรามีความห่วงกังวลในเรื่องของอาชญากรรมตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นและเราไม่อยากให้ลุกลามไปสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวอเมริกันซึ่งอยู่ห่างไกล เราคิดว่าถ้าสามารถจะมีควาร่วมมือกันได้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ระหว่างประเทศก็น่าจะดี

หารือกับนางแทมี ดักเวิร์ธ ส.ว.สหรัฐเชื้อสายไทย

เมื่อถามว่าการเยือนครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในการขยับความสัมพันธ์สองประเทศเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า ก็มีความสำเร็จมาก ตนคิดว่าทางสหรัฐก็เริ่มมาให้ความสนใจในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน เราก็เล่าให้เขาฟังในหลายๆ เรื่อง ซึ่งเขามีความสนใจมาก ขณะเดียวกันก็ได้พูดว่า ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ก็พร้อมที่จะมาเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการเมื่อทางสหรัฐมีความพร้อม ซึ่งเขาก็รับทราบ ในปีนี้สหรัฐจะมีการเลือกตั้ง ฝ่ายการเมืองคงยังยุ่งกันมาก เวลาก็อาจมีน้อย แต่อย่างไรก็ตามเขาก็รับว่าจะไปเรียนท่านประธานาธิบดีให้ทราบ

สำหรับประเด็นเรื่องแลนด์บริดจ์ของไทย นายปานปรีย์ระบุว่า ได้พูดกับนายฮอชชไตน์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประธานาธิบดีมาก เขาสนใจสองเรื่องคือภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องที่สองคือการค้าการลงทุนที่ไทยกำลังเปิดประเทศเพื่อที่จะให้มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น รวมถึงเรื่องแลนด์บริดจ์ ซึ่งได้ถามรายละเอียดไปเยอะมาก จึงได้บอกว่าเมื่อรายละเอียดมีความพร้อมก็จะได้บอกให้เขาทราบ และจะมีการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายต่อไป

Advertisement
พูดคุยกับนายคริสโตเฟอร์ แวน ฮอลเลน ประธานอนุกมธ.ด้านเอเชียตะวันออก แปซิฟิก และนโยบายความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างประเทศ

นอกจากนี้แล้วอีกประเด็นหนึ่งที่หารือคือเรื่องของตัวประกันไทยที่ถูกจับอยู่อีก 8 คน นายปานปรีย์ได้พูดกับ  บลิงเกนว่าทราบว่าท่านได้เดินทางไปอิสราเอลมาหลายครั้ง และพยายามทำให้เกิดการหยุดยิงเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน และแจ้งว่าไทยยังมีติดอยู่อีก 8 คน ถ้ามีโอกาสที่จะช่วยประสานงานหรือช่วยผลักดันให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดรวมทั้งคนไทยด้วยก็จะเป็นสิ่งที่ดี

ในห้วงเวลาของการเยือนสหรัฐของนายปานปรีย์ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้หารือกับ นายเคิร์ท แคมป์เบลล์ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐ ในวันแรกที่นายแคมป์เบลล์ ซึ่งเคยเป็นผู้ประสานงานด้านอินโด-แปซิฟิกประจำทำเนียบขาวได้ขึ้นเป็น รมช.กต. จากนั้นนายสีหศักดิ์ยังได้เดินทางไปยังนครนิวยอร์ก และได้พบหารือกับ นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติด้วย แน่นอนว่าประเด็นหลักที่มีการหารือในทั้งสองเวทีดังกล่าวไม่พ้นเรื่องเมียนมา ซึ่งการดำเนินการของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับชาวเมียนมากำลังเป็นที่สนใจและได้รับการจับตามองจากโลกด้วยความสนใจอยู่ในขณะนี้

ด้าน นายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้แถลงผลการหารือว่า นายบลิงเกนได้ย้ำถึงความสำคัญของความเป็นพันธมิตรของสหรัฐ-ไทย พร้อมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐในการเพิ่มความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน ขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงโอกาสในการกระชับความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งในประเด็นทวิภาคีและประเด็นระดับโลก รวมถึงความพยายามของประเทศไทยและอาเซียนเพื่อแก้ไขวิกฤติที่เลวร้ายยิ่งขึ้นในเมียนมา รัฐมนตรีทั้งสองยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการขยายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับผู้พลัดถิ่นในเมียนมาและในภูมิภาคอีกด้วย

นายสีหศักดิ์กล่าวว่า เรื่องเมียนมาสะท้อนให้เห็นว่าไทยไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่เพียงในประเด็นทวิภาคี แต่สิ่งที่ไทยพูดถึงคือเรื่องของภูมิภาคและบทบาทของไทยต่อภูมิภาค ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ขณะที่ในการหารือครั้งนี้สิ่งที่มีการพูดคุยกันคือจะทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง ส่วนด้านเศรษฐกิจ การที่ท่านนายกฯเศรษฐา เดินทางไปเจอกับภาคเอกชนสหรัฐ ก็ทำให้เขาเข้าใจว่าไทยมุ่งมั่นตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งยังให้ความสนใจในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยอีกด้วย

พูดคุยกับนายอามอส ฮอชชไตน์ ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีสหรัฐด้านพลังงานและการลงทุน

การเยือนของนายปานปรีย์ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตใหม่ในความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ เห็นได้จากคำกล่าวที่ฝ่ายสหรัฐได้ถึงการยกระดับความสัมพันธ์ในทุกด้าน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลไทยในปัจจุบันเป็นรัฐบาลพลเรือนเต็มใบในสายตาของต่างชาติ ทำให้มีการเปิดประตูในการไปมาหาสู่และพูดคุยกันมากขึ้น อย่างที่นายปานปรีย์ได้หารือกับนางเรมอนโด ทั้งที่ดูเหมือนจะไม่มีกำหนดการดังกล่าวอยู่ก่อน

ขณะที่นโยบายการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมาของไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจทั้งจากประเทศต่างๆ ไปจนถึงเลขาธิการสหประชาชาติ แน่นอนว่ายังมีงานอีกมากที่ต้องทำต่อไป แต่เชื่อว่าด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและทำงานแบบมีแนวร่วมก็น่าจะทำให้การขับเคลื่อนความช่วยเหลือของไทยจะดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่ตั้งใจไว้

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า หลังจากนี้จะมีการเยือนระดับสูงของฝ่ายสหรัฐมายังไทย หรือจากฝ่ายไทยไปสหรัฐตามมา ที่จะยืนยันถึงพลวัตในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ตามความตั้งใจมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพียงใด

พูดคุยกับทีมประเทศไทยในวอชิงตัน

ธานี แสงรัตน์
เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ

ในช่วงเวลาเพียง 4 เดือนเศษหลังเข้ารับหน้าที่ การเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการครั้งแรกของท่านรองนายกฯและรมว.กต.สะท้อนนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์และความเป็นพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ ที่ใกล้ชิดขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ในภาพรวม การเยือนสหรัฐและการพบหารือกับ รมว.กต.บลิงเคนและผู้แทนระดับสูงของสหรัฐ สะท้อนถึงการยอมรับและให้ความสำคัญกับไทยและบทบาทของไทยในภูมิภาค โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาเมียนมาเชิงรุกและความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับไทยและประเทศลุ่มน้ำโขง รวมถึงการส่งเสริมการค้า การลงทุนและความสัมพันธ์ระดับประชาชนต่อประชาชน การกระชับความสัมพันธ์ส่งผลสำคัญต่อความเป็นพันธมิตรไทย-สหรัฐด้วย เพื่อตอบโจทย์ภัยคุกคามทั้งในและนอกรูปแบบต่อไทยและภูมิภาคด้วย เช่น ความมั่นคงชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งแวดล้อม อาชญากรรมข้ามชาติและความมั่นคงไซเบอร์

การพบหารือกับ รมว.พณ.สหรัฐ เรมอนโดสานต่อจากการหารือของ นรม. ซึ่งจะนำไปสู่การขยายการค้าและการลงทุนกับสหรัฐ ทั้งในระดับทวิภาคีและบทบาทของไทยในกรอบ IPEF โดยเฉพาะการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับสหรัฐ การลงทุนด้านเซมิคอนดัคเตอร์ เศรษฐกิจดิจิตัลและพลังงานสะอาด รวมทั้งเรื่องแลนด์บริดจ์ที่ได้นำเสนอและหารือกับทำเนียบขาวเป็นครั้งแรกและฝ่ายไทยจะศึกษาเตรียมการเพิ่มเติมเพื่อหารืออย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย

รองนายกฯ และ รมว.กต.ได้กระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดขึ้นกับผู้นำวุฒิสภาสหรัฐ โดยได้อธิบายถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเมียนมา ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกรัฐสภาเข้าใจสถานการณ์ในเมียนมาและสนับสนุนความพยายามของไทย อาเซียนและที่สำคัญรัฐบาลสหรัฐจะได้สนับสนุนด้วย ซึ่งจะทำให้แนวทางของไทยมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น หากมีการไปเยือนสหรัฐของนายกรัฐมนตรีก็จะสามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับภาคเอกชนในเขตการเลือกตั้งและมลรัฐต่างๆ ของสหรัฐ ที่สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนและสร้างแรงสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเมียนมากับรัฐสภาและฝ่ายบริหารสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก

สำหรับวุฒิสมาชิกแทมมี่ ดักเวิร์ธ ก็กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐให้เปิดให้นักศึกษาต่างชาติในสหรัฐที่สนใจรวมทั้งไทยสมัครรับการฝึกทหารใน ROTC (คล้าย ร.ด.) ได้ ซึ่งสอนทักษะต่างๆ อาจจะทำให้ นศ.มีโอกาสมากขึ้นในตลาดแรงงานทั้งในสหรัฐ และเมื่อกลับประเทศของตน นอกจากนี้ การหารือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์ทหารก็จะทำให้กองทัพไทยและสหรัฐฯ มีขีดความสามารถด้านการรักษาพยาบาลกำลังพลและประชาชนด้วยมาตรฐานทางการแพทย์สหรัฐฯ มากยิ่งขึ้นรวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือความขัดแย้ง

การเยือนทำให้ฝ่ายสหรัฐเข้าใจความตั้งใจของรัฐบาลไทยและพร้อมจะร่วมกันกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการค้าและการลงทุน ความมั่นคง และที่สำคัญบทบาทนำของไทยในการแก้ไขปัญหาเมียนมาและประเด็นสำคัญในภูมิภาค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image