ไทยขับเคลื่อนกระบวนการ ช่วยชาวเมียนมาด้านมนุษยธรรม

ลงพื้นที่จ.ตาก สำรวจจุดส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชายแดนไทย-เมียนมา

ไทยขับเคลื่อนกระบวนการ
ช่วยชาวเมียนมาด้านมนุษยธรรม

หลังข้อริเริ่มในการยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาของไทยกลายเป็นข่าวในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ หรืออาเซียน รีทรีต ที่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้งหมด ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ แม้จะผ่านไปเพียงไม่ถึง 1 เดือน แต่การขับเคลื่อนงานในเรื่องดังกล่าวของไทยก็เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง

เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ข้อริเริ่มดังกล่าวของไทยซึ่งเป็นการจัดตั้งจุดมนุษยธรรมระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือที่จำเป็นด้านมนุษยธรรมต่างๆ เข้าไปให้กับชาวเมียนมาจึงดำเนินการผ่านสภากาชาดไทยและสภากาชาดเมียนมา โดยมีศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) ของอาเซียนเข้าร่วมสังเกตการณ์

สิ่งของช่วยเหลือทั้งหมดจะต้องผ่านพิธีศุลกากร เพื่อไม่ให้มีสิ่งอื่นปะปนและเพื่อความโปร่งใส โดยมีตัวแทนจากทั้ง 2 ประเทศร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งก็ได้มีการเจรจากับทางเมียนมาแล้ว ทั้งเรื่องความปลอดภัยที่ต้องมีการพูดคุยในพื้นที่ให้เปิดทางไม่ให้กระทบกับการขนส่ง ทางเมียนมาจะใช้พื้นที่ที่มีความเป็นกลางไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และเตรียมจัดหาพื้นที่พักรอเพื่อแจกจ่าย ซึ่งในกระบวนการนี้จะมีหัวหน้าชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งของช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากไทยจะไปถึงกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ

Advertisement

ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งมอบงบประมาณชุดแรกในการจัดซื้อข้าวของช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อาทิ ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำมันสำหรับประกอบอาหาร และยารักษาโรค ให้กับสภากาชาดไทยเพื่อนำไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ เหล่านี้ ก่อนที่จะนำไปจัดบรรจุในกล่องเพื่อการจัดส่ง จากนั้นจึงต้องมีการประสานงานกับสภากาชาดเมียนมา รวมถึงฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดวันในการส่งมอบต่อไป

แน่นอนว่ากระบวนการขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมดที่ว่ามานี้ย่อมต้องใช้เวลา ดังนั้นจึงไม่แน่ชัดว่าการส่งมอบของชุดแรกจะเกิดขึ้นได้ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ตามที่ฝ่ายไทยเคยประกาศความตั้งใจไว้หรือไม่ แต่หากจะว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้วก็ถือได้ว่าขณะนี้กระบวนการในการดำเนินการเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชุดแรกจากไทยไปให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเมียนมาก็มีการเดินเครื่องกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การส่งมอบความช่วยเหลือชุดแรกนี้เป็นไปได้อย่างราบรื่นเรียบร้อย และสามารถส่งมอบความช่วยเหลือไปให้ถึงมือประชาชนชาวเมียนมาที่เดือนร้อนได้ดังที่ตั้งใจ การประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ก็เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาเช่นกัน เพราะหากโครงการนำร่องที่จะส่งมอบในพื้นที่ 3 หมู่บ้านในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งมีจำนวนประชากรประมาณ 20,000คน สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี ก็จะเป็นตัวอย่างสำหรับการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของไทยไปยังพื้นที่อื่นๆ ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาต่อไปในอนาคต

Advertisement

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคยกล่าวไว้ระหว่างลงพื้นที่จ.ตาก เพื่อดูจุดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชายแดนไทย-เมียนมาว่า จุดส่งมอบความช่วยเหลือดังกล่าวน่าจะเป็นรูปธรรมได้ภายใน 1 เดือน และจะเป็นจุดแรกที่จะส่งความช่วยเหลือเข้าไป ซึ่งไทยได้ประสานกับรัฐบาลเมียนมาตั้งแต่แรกและได้รับการตอบรับด้วยดี พร้อมกับมีการส่งทีมมาพูดคุยยังประเทศไทย

นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังมีความพยายามในการประสานกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมาก ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนรีทรีต นายอลุนแก้ว กิตติคุณ ผู้แทนพิเศษเรื่องเมียนมาของลาวในฐานะประธานอาเซียน ก็ได้ประสานงานนำร่องในการเจรจา โดยไทยก็พยายามประสานอยู่ด้วยเช่นกัน คาดว่าเมื่อทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ ก็จะเกิดการพูดคุยกันที่จะนำไปสู่การหารือ เชื่อว่าหากสามารถพูดคุยกันได้ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา และอาจจะทำให้มีการหยุดยิง นำไปสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพต่อไป

“คิดว่าข้อริเริ่มที่ไทยดำเนินการ อาจนำไปสู่การพูดคุยได้เพราะเป็นเรื่องกับประชาชนโดยตรงไม่มีเรื่องของการเมือง ดังนั้นทุกฝ่ายน่าจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้ที่อาเซียนเสนอมาตั้งแต่ต้น เชื่อว่าทุกฝ่ายในเมียนมาต้องการความสงบสุข และกลับไปสู่สันติภาพ และทางเดียวที่ทำได้คิดว่ามาจากการที่ทุกฝ่ายจะต้องหันมาพูดคุยกัน ภายใต้นโยบายด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” นายปานปรีย์กล่าว

นายปานปรีย์ย้ำว่า ไทยไม่ได้ทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทำเพื่อประชาชนชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบ และสิ่งที่ทำก็อยู่เป็นส่วนหนึ่งของฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียนในเรื่องเมียนมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำฉันทามติ 5 ข้อไปสู่การปฏิบัติ และนี่เป็นข้อแรกที่สามารถทำได้ก่อน พร้อมยืนยันว่าเป็นคนละเรื่องกับการตั้งศูนย์รับผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ตามไทยก็ได้มีการเตรียมความพร้อมหากมีกรณีที่เกิดเหตุความรุนแรง แต่กรณีนี้ เป็นเรื่องของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือมีปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยจะเป็นลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว และอยู่ในฝั่งของเมียนมา

“วันนี้เราต้องมีจุดเริ่มต้นที่ใดที่หนึ่ง ถ้าเราไม่เริ่มต้นจากรัฐบาลเมียนมา ถ้าเราไปเริ่มต้นกับคนอื่นในที่สุดเราก็ต้องกลับมาพูดคุยกับรัฐบาลอยู่ดี วันนี้เราก็เลยต้องเริ่มต้นจากรัฐบาล ยืนยันว่าไม่มีเรื่องการเมือง แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนที่มีใครเป็นกังวลหรือไม่ เชื่อว่ากาชาดของเมียนมามีเจตนาที่จะช่วยเหลือประชาชนเช่นเดียวกัน กาชาดสากลก็รับปากว่าจะเข้ามา เช่นเดียวกับ AHA Centre ซึ่งถือเป็นหน่วยงานกลางของอาเซียนด้วย” นายปานปรีย์กล่าว

รองนายกฯ และรมว.กต. กล่าวว่า ในส่วนของปัญหาภายในของเมียนมา เขาก็พยายามจะแก้ไขด้วยตัวเขาเอง เราไม่ได้จะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน แต่เป้าหมายของเราคือการที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ดังนั้นเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการที่จะเลือกพูดคุยกับใคร หรือสนับสนุนใคร แต่เราสนับสนุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา

นายปานปรีย์รับว่า ต้องมีการสังเกตการณ์โครงการนำร่องดังกล่าวว่ามีปัญหาตรงจุดใดเพื่อที่จะได้นำกลับมาแก้ไข เพราะจะหวังให้ทุกอย่างสมบูรณ์ 100% คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์ในเมียนมาวุ่นวายทาก จงต้องทำให้เป็นขั้่นเป็นตอน และไทยเชื่อมั่นว่าน่าจะเรียบร้อยดีที่สุด หากจุดแรกนี้ประสบความสำเร็จ ได้รับความสนับสนุนจากทุกฝ่ายก็เชื่อว่าจะขยายไปยังจุดอื่นๆ ต่อไป และยังบอกด้วยว่า ในระหว่างเดินทางไปประชุมกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่เบลเยี่ยมก่อนหน้านี้ ยังได้รับแจ้งว่าหากข้อริเริ่มของไทยเกิดขึ้น อียูพร้อมให้การสนับสนุนในวงเงินที่สูงมากถึง 20 ล้านยูโร

เชื่อว่าข้อริเริ่มในการยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาของไทยกำลังถูกจับตาดูจากหลายมุมโลก เพราะสถานการณ์ในเมียนมาดูจะไร้ทางออกและทวีความวุ่นวายมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วก็อาจลุกลามปานปลายและส่งผลกระทบมาถึงประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งภูมิภาคอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ขณะที่สำหรับไทยเอง สิ่งที่อยากเห็นไม่มีอะไรมากไปกว่าอยากเห็นฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาหันหน้ามาพูดคุยกัน และช่วยเหลือประชาชนของตนเอง เพราะยิ่งสถานการณ์ในประเทศไม่สงบมากเท่าไหร่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านั้นมากที่สุดก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นชาวเมียนมาด้วยกันเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image