ยุโรปจ่อส่งทหารร่วมรบยูเครน เร่งจัดหา ‘กระสุน-ระบบป้องกันทางอากาศ’ มาครงย้ำอย่าหวังพึ่งแต่สหรัฐ

AP

ยุโรปจ่อส่งทหารร่วมรบยูเครน เร่งจัดหา ‘กระสุน-ระบบป้องกันทางอากาศ’ มาครงย้ำอย่าหวังพึ่งแต่สหรัฐ

หลังสงครามยูเครนยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 3 ผู้นำยุโรปหลายชาติเริ่มคิดที่จะส่งทหารเข้าไปยังยูเครน ขณะที่ผู้นำยุโรปให้สัญญาว่าจะเร่งจัดหากระสุนและระบบป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนให้กับยูเครนเพิ่มเติม

นายโรเบิร์ต ฟิโก นายกรัฐมนตรีสโลวาเกีย ซึ่งเคยคัดค้านการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน กล่าวว่า สมาชิกของกองกำลังสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รวมถึงสมาชิกอียูหลายประเทศกำลังพิจารณาที่จะส่งทหารไปยังยูเครน ซึ่งจะเป็นการดำเนินการแบบทวิภาคี

AP

“ผมยืนยันได้ว่ามีหลายประเทศเตรียมที่จะส่งกองทหารของตนเองไปยูเครน ซึ่งรวมถึงสโลวาเกียด้วย และมีประเทศที่บอกว่าข้อเสนอนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการพิจารณา” ฟิโกกล่าว

Advertisement

ผู้นำยุโรปราว 20 ชาติรวมตัวกันที่กรุงปารีสในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เพื่อส่งสารถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เกี่ยวกับความพยายามของยุโรปที่จะแก้ไขปัญหายูเครน และแสดงจุดยืนต่อต้านคำกล่าวของรัฐบาลรัสเซียที่ว่ารัสเซียจะชนะสงครามในปีที่ 3 นี้

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้เปิดประตูต่อประเด็นการส่งทหารยุโรปไปยังยูเครน แม้ว่าเขาจะย้ำว่าในชั้นนี้ยังไม่มีฉันทามติในเรื่องดังกล่าว แต่ไม่มีประเด็นใดที่ถูกตัดออกไป เราจะทำทุกอย่างที่ต้องทำเพื่อไม่ให้รัสเซียมีชัย

มาครงได้เชิญชาติพันธมิตรในยุโรปไปร่วมประชุมฉุกเฉินที่พระราชวังเอลิเซ เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดหากระสุนเพิ่มเติมให้กับยูเครน ขณะที่ที่ปรึกษาของมาครงชี้ว่า การรุกรานของรัสเซียได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

Advertisement

นายมาร์ก รุตต์ ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการนาโตคนต่อไป กล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวกับการส่งทหารไม่ใช่ประเด็นหลักในการหารือ แต่เป็นเรื่องของการจัดหาอาวุธที่ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในระยะสั้นคือการจัดหากระสุนและระบบการป้องกันทางอากาศ

รุตต์กล่าวว่า เนเธอร์แลนด์จะบริจาคเงิน 100 ล้านยูโร สำหรับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในต่างประเทศซึ่งจะจัดหากระสุนให้ได้แต่ไม่ขอระบุชื่อประเทศดังกล่าว

นายปิเตอร์ ฟิเอลา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก กล่าวถึงความคืบหน้าในโครงการจัดซื้อกระสุนหลายแสนนัดจากประเทศที่ 3 ซึ่งเป็นความริเริ่มของเขาว่า มีราว 15 ประเทศที่ตกลงที่จะลงนามในความริเริ่มดังกล่าว แม้ว่ามาครงจะยังมีท่าทีระมัดระวังเพราะอยากให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในของยุโรปเอง

ทั้งนี้ อียูยังไม่สามารถจะส่งกระสุนปืนใหญ่ 1 ล้านลูกให้กับยูเครนภายในเดือนมีนาคมนี้ตามที่ได้ประกาศไว้ ทำให้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นเรื่องหลักที่ผู้นำยุโรปพูดคุยกันในฝรั่งเศส โดยมาครงย้ำว่า ฝรั่งเศสก็จะเร่งจัดหากระสุนเช่นกัน และยังมีความตกลงร่วมกันที่จะเร่งการส่งขีปนาวุธพิสัยไกลให้กับยูเครนด้วย

มาครงกล่าวว่า หลายคนที่เคยพูดว่าไม่มีทางในวันนี้ ก็เป็นคนๆ เดียวกับที่เคยพูดว่า ไม่มีรถถัง ไม่มีเครื่องบิน และไม่มีขีปนาวุธพิสัยไกลเมื่อสองปีก่อน เรามักจะล่าช้าไป 6-12 เดือน

“นี่คือวัตถุประสงค์ของการหารือกันในวันนี้ ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งหมด หากมันมีประโยชน์ต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของเรา” มาครงกล่าว และว่า ยุโรปไม่ควรพึ่งพาสหรัฐสำหรับการสู้รบในยูเครน

นายอันโตนิโอ คอสตา นายกรัฐมนตรีโปรตุเกส กล่าวว่า รัฐมนตรีกลาโหมของประเทศต่างๆ ได้รับคำสั่งให้จัดทำแผนเกี่ยวกับการจัดหาอาวุธให้กับยูเครนภายใน 10 วันข้างหน้า

การประชุมผู้นำยุโรปดังกล่าวยังมีนายโอลาฟ โชลช์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายเดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ รวมถึงผู้นำจากประเทศในสแกนดิเนเวียและนอร์ดิกเข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ มาครงมีกำหนดเดินทางเยือนเคียฟในเดือนมีนาคมนี้ จึงมีความกระตือรือร้นที่จะหาทางแก้ไข หลังจากการประชุมด้านความมั่นคงที่นครมิวนิกของเยอรมนีซึ่งมีขึ้นในเดือนนี้เช่นเดียวกันล้มเหลวที่จะสร้างความคืบหน้าใดๆ ในเรื่องยูเครน

ที่ปรึกษาของมาครงย้ำว่า สถานการณ์ของยุโรปไม่ได้เลวร้ายหรือมืดมน เราต้องการให้รัสเซียเข้าใจว่า เราทุกคนจะดำเนินความพยายามร่วมกันเพื่อยุติสงครามนี้

ด้านทำเนียบขาวกล่าวว่า สหรัฐไม่มีแผนที่จะส่งทหารไปสู้รบในยูเครน และยังไม่มีแผนที่จะส่งกองกำลังนาโตไปสู้รบในยูเครนด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image