วิจัยเตือน สายพันธุ์ปลา 1 ใน 5 ของลุ่มน้ำโขงเสี่ยงสูญพันธุ์ ชี้เขื่อนจีนก่อภัยคุกคามสูงสุด
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รายงาน The Mekong’s Forgotten Fishes ที่จัดทำโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และหน่วยงานอนุรักษ์สัตว์ป่าและสัตว์น้ำโลก 25 แห่ง ได้ระบุว่า การพัฒนาแม่น้ำโขงที่ไม่ยั่งยืนได้ส่งผลกระทบต่อประชากรและสุขภาพของปลาในแม่น้ำโขง โดยพบว่าสายพันธุ์ปลาคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ในแม่น้ำโขงกำลังสูญพันธุ์
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปลาในแม่น้ำโขง ได้แก่ การสูญเสียถิ่นที่อาศัย การเปลี่ยนพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อไปทำการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การขุดทราย การนำสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ชนิดพันธุ์ที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่นเข้ามาอาศัยในพื้นที่ ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เลวร้ายลง และการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลของแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาต่างๆ
นายเซ็บ โฮแกน นักชีววิทยาด้านปลา ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการ Wonders of the Mekong ที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมจัดทำรายงานดังกล่าว ให้ความเห็นว่า ภัยคุกคามใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของจีนที่ตั้งอยู่บนต้นแม่น้ำ ส่งผลให้การไหลของแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป ขัดขวางการอพยพของปลา รวมถึงกั้นตะกอนที่เป็นสารอาหารที่สำคัญของฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
รายงานดังกล่าวให้รายละเอียดว่าราว 19% ของสายพันธุ์ปลาทั้งหมด 1,148 สายพันธุ์ในแม่น้ำโขงกำลังสูญพันธุ์ และตัวเลขดังกล่าวอาจสูงขึ้นกว่านี้เพราะข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ปลาในแม่น้ำอีกราว 38% มีน้อยเกินไปที่จะวัดสถานะการอนุรักษ์ได้ โดยในจำนวนปลาที่กำลังสูญพันธุ์มี 18 สายพันธุ์ที่ถูกขึ้นบัญชีโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ให้เป็นสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นพิเศษ โดยในจำนวนนั้นมีปลาดุกที่ใหญ่ที่สุดในโลก 2 สายพันธุ์ ปลาตะเพียนสายพันธุ์ใหญ่ที่สุดในโลก และปลากระเบนธงน้ำจืดยักษ์
ปัญหาประชากรของปลาในแม่น้ำโขงที่ลดลงอาจคุกคามความมั่นคงทางอาหารต่อประชาชนอย่างน้อย 40 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงตอนล่าง นายโฮแกนกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่ประเทศต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงจะร่วมกันพยายามเปลี่ยนแปลงผลกระทบที่มีต่อประชากรของปลา