คอลัมน์ Think Tank: ‘เม็กซิโก’ มิตรที่ตกเป็น‘เหยื่อนโยบายทรัมป์’

ประธานาธิบดีเอ็นริเก เปนญา นีเอโต ของเม็กซิโก / AFP PHOTO / Ronaldo SCHEMIDT

นักวิเคราะห์ระบุว่า การสร้างความขัดแย้งกับเม็กซิโกหมายถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา กำลังเป็นปฏิปักษ์กับชาติพันธมิตรทางยุทธศาสตร์สำคัญที่อาจตอบโต้ด้วยการทำสงครามการค้าหรือให้ความร่วมมือน้อยลงในการแก้ปัญหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ทรัมป์สร้างความโกรธแค้นให้ชาวเม็กซิกันด้วยการยืนยันว่าพวกเขาจะต้องจ่ายเงินค่าสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างทั้ง 2 ชาติมูลค่าหลายล้านดอลลาร์

การเผชิญหน้ากันครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการทูตครั้งรุนแรงที่สุดระหว่างเพื่อนบ้านทั้ง 2 ชาติในรอบหลายทศวรรษ

ประธานาธิบดีเอ็นริเก เปนญา นีเอโต ของเม็กซิโกเคยแสดงความเห็นในทางบวกไว้ว่า ทั้ง 2 ประเทศจะยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันหลังจากที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง แต่ความเชื่อมั่นนั้นจบสิ้นลงเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อเขายกเลิกการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันเพื่อพบหารือกับทรัมป์ในวันที่ 31 มกราคม

Advertisement

เฮซุส เวลาสโก ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์สหรัฐ-เม็กซิโกแห่งมหาวิทยาลัยทาร์ลตันสเตท ในรัฐเท็กซัสระบุว่า วิกฤตครั้งสุดท้ายคือเมื่อปี 1985 ตอนที่แก๊งค้ายาเม็กซิโกทารุณกรรมและสังหารเจ้าหน้าที่สำนักงานปราบยาเสพติดของสหรัฐรายหนึ่ง ส่งผลให้สหรัฐปิดชายแดนเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง

“แต่นี่เลวร้ายกว่าครั้งนั้น” เวลาสโกบอก “ทรัมป์กำลังทำให้รัฐบาลของเปนญา นีเอโต จนมุม ดังนั้นตอนนี้จึงไม่เหลือหนทางในการเจรจาแล้ว”

เวลาสโกบอกว่า เม็กซิโกอาจตอบโต้ด้วยการปล่อยให้ผู้อพยพจากอเมริกากลางข้ามพรมแดนไปอย่างง่ายๆ และบอกรัฐบาลของทรัมป์ว่า ตอนนี้เราไม่มีความร่วมมือด้านพรมแดนต่อกันแล้ว

Advertisement

แม้จะเป็นเรื่องที่ถูกทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ แต่เม็กซิโกและสหรัฐ “มีความร่วมมือบริเวณชายแดนที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

หลังจากจำนวนผู้อพยพเด็กที่ไม่ได้มาพร้อมกับพ่อแม่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2014 จนถูกกดดันจากรัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เม็กซิโกได้จัดการปราบปรามการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายบริเวณชายแดนด้านที่ติดกับกัวเตมาลา โดยส่งกลับผู้อพยพ 147,370 คนในปีนั้น เทียบกับ 80,900 คน เมื่อปี 2013

แต่ทรัมป์กลับข่มขู่ว่าจะให้เม็กซิโกจ่ายเงินสร้างกำแพง โดยฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า ความเป็นไปได้หนึ่งคือการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก 20 เปอร์เซ็นต์

หลุยส์ เด ลา กาเย นักเศรษฐศาสตร์ชาวเม็กซิกันที่เป็นหนึ่งในทีมเจรจาต่อรองข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) บอกว่า “หากสหรัฐกำหนดเก็บภาษีในรูปแบบนี้ เม็กซิโกก็สามารถทำได้เช่นกัน”

แต่เด ลา กาเยยังกังขาว่า สภาคองเกรสของสหรัฐที่สมาชิกจำนวนมากสนับสนุนการค้าเสรี จะยอมผ่านร่างมาตรการเช่นนี้ออกมาหรือไม่

นอกจากนี้ นาฟตาก็เป็นประเด็นอยู่เช่นเดียวกัน โดยทรัมป์แสดงเจตนารมณ์ว่าจะขอเจรจาเงื่อนไขใหม่ ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจเม็กซิโกประกาศว่าพร้อมถอนตัวออกมาหากการเจรจาไม่เป็นที่น่าพอใจ

เด ลา กาเยบอกด้วยว่า “ในอดีตเม็กซิโกเคยมีช่วงเวลาที่ยากลำบากกับสหรัฐ แต่ทรัมป์เป็นคนที่แตกต่างออกไป”

“ขึ้นอยู่กับทรัมป์คนเดียวเท่านั้นที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ชาติ ยังคงเป็นไปในทางบวกหรือไม่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image