คอลัมน์ไฮไลต์โลก : ‘การทูตไผ่ลู่ลม’ เข็มทิศเวียดนามฝ่ากระแสโลก

ภาพรอยเตอร์

คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ‘การทูตไผ่ลู่ลม’ เข็มทิศเวียดนามฝ่ากระแสโลก

การประกาศยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” ระหว่างเวียดนามกับออสเตรเลีย หลังปิดฉากการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ที่ฝ่ายออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพไปเมื่อสัปดาห์ก่อน นับเป็นความสำเร็จครั้งล่าสุดของ “การทูตไผ่ลู่ลม” (Bamboo Diplomacy) ที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามภายใต้การกุมบังเหียนของ เหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคฯ ชูเป็นเข็มทิศในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่มุ่งหันหน้าเข้าหาชาติมหาอำนาจชั้นนำเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ขั้วอุดมการณ์ใด ท่ามกลางการพยายามปรับตัวรับมือกับสถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น

“แสวงหามิตรมากขึ้น สร้างศัตรูน้อยลง” เป็นหลักยึด ที่เหวียน ฝู จ่อง ใช้อธิบายแนวทางในการดำเนินนโยบาย “ไผ่ลู่ลม” ที่มีรากอันแข็งแรง ลำต้นที่แข็งแกร่ง และ กิ่งก้านที่ยืดหยุ่น เพื่อมุ่งผลักดันให้เวียดนาม ซึ่งเป็นเสาหลักทางการผลิตในภูมิภาคอยู่แล้ว ให้กลายเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญทางยุทธศาสตร์ในระบบห่วงโซ่อุปทานโลกมากยิ่งขึ้น

จากแนวนโยบายนี้ทำให้เราได้เห็นเวียดนามขยับปฏิสัมพันธ์กับประเทศชั้นนำทรงอิทธิพลหลายชาติที่แนบแน่นยิ่งขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

Advertisement

หนึ่งในนั้นคือ จีน มหาอำนาจโลกในขั้วอุดมการณ์เดียวกันและเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เวียดนามและจีน ได้บรรลุความเห็นพ้องที่จะสร้างชุมชนที่มี”อนาคตร่วมกัน” ในระหว่างการเยือนฮานอยของ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือถึง 36 ฉบับ ครอบคลุมหลายมิติ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การค้า ความมั่นคงและเศรษฐกิจดิจิทัล แม้ก่อนหน้านั้นเวียดนามและจีนจะมีการกระทบกระทั่งประปรายเหนือพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ ที่ตอนนี้กำลังมีประเด็นเดือดระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์อยู่ก็ตาม

เวียดนามยังได้ยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ในระหว่างการมาเยือนฮานอยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีการประกาศความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์และแร่สำคัญที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย ทว่าการยกระดับความสัมพันธ์ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐ ที่มุ่งหมายให้ตัวเองเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานโลกได้อย่างต่อเนื่องและเพื่อควบคุมการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้

Advertisement

เวียดนามยังยกระดับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นในระหว่างที่ประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ของเวียดนาม เยือนโตเกียวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา และทั้งสองชาติยังเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยบริษัทข้ามชาติสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง แคนนอน, ค่ายรถฮอนด้า, พานาโซนิค และ บริดจ์สโตน ยังเป็นหนึ่งในบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม

ก่อนหน้านั้นเวียดนามยังยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับเกาหลีใต้ แหล่งทุนต่างชาติใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ในระหว่างที่ประธานาธิบดีเหงียน ซวน ฟุกของเวียดนามในขณะนั้น เยือนกรุงโซลเมื่อเดือนธันวาคมปี 2022 โดยมุ่งจับมือด้านการค้า การลงทุน การป้องกันและความมั่นคง

เวียดนาม ในฐานะชาติสมาชิกอาเซียน ยังเป็นภาคีในความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป อังกฤษ ชิลี และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังเป็นภาคีสมาชิกในเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าสำคัญอย่าง ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP) และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งล้วนเป็นเวทีที่มุ่งส่งเสริมสถานะและบทบาทของเวียดนามให้แข็งแกร่งไปพร้อมกับการฉายแสงในเวทีระหว่างประเทศได้มากขึ้น ท่ามกลางพลวัตน์โลกส่วนเวียดนามจะยกระดับกระชับสัมพันธ์กับชาติไหนต่อไปอีกนั้นต้องรอดู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image