รมว.พณ.สหรัฐเยือนไทย ขยายโอกาสการค้า-ลงทุน สานต่อความร่วมมือ IPEF

รมว.พณ.สหรัฐเยือนไทย
ขยายโอกาสการค้า-ลงทุน
สานต่อความร่วมมือ IPEF

AP

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นจากการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ นางจีนา เอ็ม. ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-16 มีนาคม โดยเป็นการเดินทางมาพร้อมกับคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐ (President’s Export Council: PEC) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนและองค์กรชั้นนำสหรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐ ในการให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน

ระหว่างเยือนไทย ไรมอนโดได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และพบปะหารือกับรัฐมนตรีอีกหลายคน ประกอบด้วย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ในการหารือทวิภาคีกับนายปานปรีย์ ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยถึงนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ และแนวทางเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและขยายโอกาสการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนจากสหรัฐ ในสาขาที่ไทยให้ความสำคัญและเป็นพื้นฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจแห่งอนาคต อาทิ พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจสีเขียว โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และเซมิคอนดักเตอร์ ตลอดจนแนวทางส่งเสริมโอกาสของความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค

Advertisement
AP

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงความร่วมมือไทย-สหรัฐในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) โดยได้หารือถึงความคืบหน้าของการเจรจา IPEF ซึ่งได้มีการสรุปผลการเจรจาร่างความตกลงสำหรับเสาความร่วมมือที่ 3 ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสาความร่วมมือที่ 4 ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และแผนการดำเนินการในระยะต่อไป รวมถึงได้หารือเตรียมการสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ผ่านระบบทางไกล ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงของประเทศหุ้นส่วน IPEF

โดยหลังเสร็จสิ้นการหารือทวิภาคี นายปานปรีย์และนางไรมอนโดได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ครั้งแรกของปีนี้ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากประเทศหุ้นส่วน IPEF อีก 12 ประเทศ เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางไกลอีกด้วย

Advertisement

ที่ประชุมได้หารือถึงพัฒนาการที่สำคัญใน IPEF โดยเฉพาะการเริ่มมีผลบังคับใช้ของความตกลง IPEF ว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้เสาความร่วมมือที่ 2 ในเรื่องห่วงโซ่อุปทาน (Pillar II: Supply Chain) และความสำเร็จในการสรุปการเจรจาร่างเอกสารความตกลง IPEF จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างความตกลง IPEF ภายใต้เสาความร่วมมือที่ 3 ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Pillar III: Clean Economy) และภายใต้เสาความร่วมมือที่ ๔ ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Pillar IV: Fair Economy) รวมถึงร่างความตกลงกรอบความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง ที่จะเป็นการจัดตั้งกลไกกำกับดูแลการขับเคลื่อนความร่วมมือ IPEF ในภาพรวม ซึ่งแต่ละประเทศหุ้นส่วนจะดำเนินการกระบวนการภายในเพื่อนำไปสู่การลงนามต่อไป

ที่ประชุมยังได้หารือถึงแผนการดำเนินความร่วมมือ IPEF ภายใต้เสาความร่วมมือต่าง ๆ ในระยะต่อไป โดยเฉพาะการจัดตั้งกลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อการทำงานร่วมกันภายใต้เสาความร่วมมือที่ 2 ความคืบหน้าของแผนความร่วมมือ Cooperative Work Programs ของเสาความร่วมมือที่ 3 ในด้านตลาดคาร์บอน ไฮโดรเจน ไฟฟ้าสีเขียว เชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ตลอดจนการดำเนินความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถภายใต้เสาความร่วมมือที่ 4 ในด้านการต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใสด้านภาษี

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดตั้งและให้ทุนสนับสนุน IPEF Catalytic Capital Fund และการเตรียมการสำหรับการประชุม Clean Economy Investor Forum เพื่อระดมทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 มิถุนายนนี้ ที่สิงคโปร์ ที่จะจัดควบคู่ไปกับการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ครั้งต่อไปในวันที่ 6 มิถุนายนด้วย

นายปานปรีย์ได้กล่าวยินดีกับความคืบหน้าของ IPEF โดยเฉพาะการสรุปผลการเจรจาร่างความตกลงและการดำเนินการสำหรับเสาความร่วมมือที่ 3 และ 4 ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังภาคธุรกิจถึงความพร้อมของประเทศในภูมิภาคในการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความเป็นธรรม พร้อมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมภายใต้เสาความร่วมมือที่ 2 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ ทรัพยากรแร่สำคัญ และเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยให้ความสำคัญ อีกทั้งได้เน้นย้ำการสนับสนุนของไทยต่อความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนผ่านกลไกความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุน IPEF Catalytic Capital Fund และการประชุม Clean Economy Investor Forum ซึ่งไทยมีความพร้อมเข้าร่วมและจะทำงานร่วมกับประเทศหุ้นส่วน IPEF อย่างใกล้ชิดต่อไป

ขณะที่นางไรมอนโดระบุว่าเธอยังคงรู้สึกทึ่งกับพลังและจิตวิญญานห่งการทำงานร่วมกันที่พันธมิตร IPEF แต่ละประเทศได้แสดงออกมา และกับข้อเท็จจริงที่ว่าเราประสบความสำเร็จมากเพียงใดในช่วงเวลาอันสั้นๆ เช่นนี้ เพราะกรอบการทำงานนี้ไม่เคยมีมาก่อนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และขณะนี้จากการทบทวนทางกฎหมายเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ตลอดจนการที่ข้อตกลงด้านห่วงโซ่อุปทานที่มีผลบังคับใช้แล้ว (สำหรับประเทศที่ให้สัตยาบัน) และมีการเปิดตัวข้อริเริ่มต่างๆ ที่มีความหมายเพิ่มเติม นั่นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า IPEF ในระยะต่อไปก็จะยังคงทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไปสำหรับเขตเศรษฐกิจของพวกเรา

ภายหลังการหารือดังกล่าว นายปานปรีย์และนางไรมอนโดยังได้พบปะกับคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งมีเป้าหมายของการเยือนเพื่อศึกษาข้อมูลและลู่ทางขยายการค้าการลงทุนกับไทยเพื่อเสนอแนะต่อประธานาธิบดีสหรัฐ โดยทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสทางเศรษฐกิจและศักยภาพของไทย และมาตรการของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนในสาขาที่สำคัญ ตลอดจนความสำคัญของความร่วมมือในด้านอื่นๆ อาทิ ด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล

กระทรวงการต่างประเทศยังได้จัดให้คณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้พบหารือกับ หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย และผู้บริหารระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และคณะผู้บริหารของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อรับฟังถึงโอกาสและลู่ทางขยายการลงทุนของสหรัฐในไทย เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมด้วย

การเยือนไทยของนางไรมอนโดครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการสานต่อการเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการของนายปานปรีย์ เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งได้พบหารือกับนางไรมอนโดที่กรุงวอชิงตัน แต่ยังเป็นการสานต่อความร่วมมือในกรอบ IPEF ซึ่งเป็นความร่วมมือที่จะยังประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกทั้ง 14 ประเทศในอินโด-แปซิฟิกให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image