ฮ่องกงผ่านกม.ความมั่นคงใหม่ ‘ต.ต.-ยูเอ็น’ กังวลหนัก ทำลายเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

AP

ฮ่องกงผ่านกม.ความมั่นคงใหม่ ‘ต.ต.-ยูเอ็น’ กังวลหนัก ทำลายเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

สภานิติบัญญัติของฮ่องกงผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ หรือที่เรียกว่า มาตรา 23 ซึ่งเพิ่มการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น จนเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากชาติตะวันตกรวมถึงสหประชาชาติ ว่าจะกัดกร่อนเสรีภาพขั้นพื้นฐานในฮ่องกง

สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงทั้ง 89 คน ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ผ่านมาตรา 23 ที่กำหนดโทษในความผิดต่างๆ รวมถึงการกบฏ การก่อวินาศกรรม การยุยงปลุกปั่น การขโมยความลับของรัฐ การแทรกแซงจากภายนอก และการจารกรรม โดยมีโทษตั้งแต่จำคุกหลายปีจนถึงตลอดชีวิต

กฎหมายดังกล่าวได้รับการรับรองหลังเพิ่งมีการนำเสนอเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นกฎหมายเพิ่มเติมจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่จีนบังคับใช้ในฮ่องกงในปี 2020 ที่เคยถูกใช้ในการจำคุกนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย หลังการประท้วงบนท้องถนนอย่างรุนแรง และก่อให้เกิดการคว่ำบาตรจากสหรัฐ

Advertisement

สภานิติบัญญัติฮ่องกงซึ่งขณะนี้มีเพียงสมาชิกที่จงรักภักดีต่อจีนแผ่นดินใหญ่ ได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม หลังมีการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะมานานร่วมเดือน

กฎหมายนี้ไม่ได้บังคับใช้เพียงในฮ่องกงแต่ยังมีผลนอกอาณาเขต ทำให้เกิดความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้เพื่อข่มขู่และจำกัดเสรีภาพในการพูดในเขตอำนาจศาลอื่นๆ อีกด้วย

นายจอห์น ลี ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง กล่าวว่า กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคมนี้ พร้อมกับเรียกมันว่าเป็น “ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์”

Advertisement

ขณะที่นายแอนดูร์ เหลียง ประธานสภานิติบัญญัติฮ่องกง กล่าวว่า เราต้องออกกฎหมายเพื่อความมั่นคงของประเทศและของฮ่องกง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เราไม่สนใจ

พัฒนาการดังกล่าวเรียกเสียงตำหนิจากชาติตะวันตก โดยสหรัฐระบุว่า กฎหมายนี้จะจำกัดเสรีภาพให้แคบลงอีก และสามารถนำไปใช้เพื่อขจัดความขัดแย้งด้วยความกลัวว่าจะถูกจับกุมและคุมขัง

เวดันท์ ปาเทล รองโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐเชื่อว่าการผ่านร่างกฎหมายใหม่ดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะปิดสังคมที่ครั้งหนึ่งเคยเปิดกว้าง ขณะที่ถ้อยคำจำนวนมากรวมถึงการแทรกแซงจากภายนอกนั้นก็เป็นเรื่องที่มีความคลุมเครืออย่างไม่น่าเชื่อ

สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายดังกล่าวเช่นกัน โดยนายโวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น ระบุในแถลงการณ์ว่า เป็นเรื่องน่าตกใจที่การออกกฎหมายเป็นผลสืบเนื่องจากการส่งเรื่องผ่านสภานิติบัญญัติอย่างเร่งรีบ แม้จะมีข้อกังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับความไม่ลงรอยกันของบทบัญญัติหลายข้อกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศก็ตาม

ถ้อยแถลงของเติร์กระบุด้วยว่า บทบัญญัติที่มีการกำหนดอย่างกว้างๆ และคลุมเครือในร่างกฎหมายนี้อาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมในการดำเนินการต่างๆ ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และสิทธิในการรับและให้ข้อมูล

“การที่ผ่านกฎหมายดังกล่าวโดยไม่มีกระบวนการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและการปรึกษาหารืออย่างมีความหมาย ถือเป็นก้าวถอยหลังสำหรับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง” เติร์กกล่าว

อียูก็ออกแถลงการณ์เช่นกันโดยแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวฮ่องกง และมีโอกาสอย่างสำคญที่จะส่งผลกระทบต่องานของสำนักงานของอียู รวมถึงองค์กรและบริษัทในฮ่องกง

“สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความน่าดึงดูดของฮ่องกงในระยะยาว ในฐานะศูนย์กลางทางธุรกิจระหว่างประเทศ” แถลงการณ์ของอียูระบุ

อังกฤษซึ่งเคยปกครองฮ่องกงกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของฮ่องกงในฐานะเมืองนานาชาติที่เคารพหลักนิติธรรม มีสถาบันที่เป็นอิสระ และปกป้องเสรีภาพของพลเมือง

“กฎหมายใหม่นี้ซึ่งเร่งดำเนินการผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ จะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทุกด้าน” เดวิด แคเมอรอน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศระบุในแถลงการณ์ และว่า สิ่งนี้บ่อนทำลายเงื่อนไขของข้อตกลงปี 1984 ที่อังกฤษคืนอาณานิคมของตนให้กับจีน

สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำอังกฤษออกมาขอให้อังกฤษยุติข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลต่อกฎหมายใหม่มาตรา 23 ของฮ่องกง โดยย้ำว่า กิจการของฮ่องกงเป็นกิจการภายในของจีนอย่างแท้จริง อังกฤษไม่มีสิทธิที่จะกล่าวคำพูดที่ปราศจากความรับผิดชอบเช่นนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image