บัวแก้วจับมือกลุ่มลูกเหรียง ‘เชฟตัวน้อยหัวใจใหญ่’ อาหารสร้างสันติภาพดีพเซาท์

บัวแก้วจับมือกลุ่มลูกเหรียง
‘เชฟตัวน้อยหัวใจใหญ่’
อาหารสร้างสันติภาพดีพเซาท์

กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้รังสรรค์โครงการดีๆ ที่น่าประทับใจที่ชื่อ “Little Chefs, Big Hearts – เชฟตัวน้อยหัวใจใหญ่ เปิดโลกเชฟ” นำน้องๆ เยาวชนจากสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ “กลุ่มลูกเหรียง” จากจ.ยะลา ขึ้นมาเรียนรู้พัฒนาทักษะ เปิดประสบการณ์ และเปิดโอกาสต่อยอดวิชาชีพจากการทำอาหาร ที่กลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนชีวิตของพวกเขา และขับเคลื่อนสันติภาพในดีพเซาท์ไปพร้อมๆ กัน

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ผลักดันโครงการน่าประทับใจนี้เล่าให้ฟังว่า โครงการนี้มาจากความตั้งใจที่จะให้โอกาสน้องๆ เยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มลูกเหรียงส่วนหนึ่งได้ทำงานในเรื่องของอาหารและทำเชฟเทเบิ้ล เมื่อมีคณะราชการหรือคณะทูตลงพื้นที่น้องๆ ก็ทำอาหารให้ ส่วนหนึ่งเป็นการหาเงินเพื่อมาดูแลเด็กๆ มากกว่า 100 คนที่เขาดูแลอยู่

Advertisement

น้องๆ กลุ่มลูกเหรียงเป็นเด็กกำพร้า เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเด็กที่พ่อแม่ไม่สามารถส่งเสียได้ เงินที่ได้มาเหล่านี้นำมาใช้เพื่อการศึกษาของเด็ก กลุ่มลูกเหรียงยังทำโครงการเพื่่อช่วยเหลือคนอื่นๆ ไม่ว่าจะในช่วงโควิด-19 น้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือแม้แต่พลุระเบิดที่ตลาดมูโนะ จ.นราธิวาส วันรุ่งขึ้นพวกเขาก็ไปลงครัวทำอาหารให้คนเป็นพันๆ คนมีข้าวกิน ทั้งที่ยังมีสารเคมีอยู่ในพื้นที่ อธิบดีกาญนาบอกว่าสิ่งที่น้องๆ ทำทำให้เห็นว่าพวกเขามีหัวใจที่ยิ่งใหญ่มาก จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการว่า “Little Chefs, Big hearts”

Advertisement

โครงการนี้มีหลายภาคส่วนที่เข้าร่วมเป็นภาคีกับกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ The Food School Bangkok วิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี สถาบันการอาหารไทย (TCA) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ในเวลา 3 วันที่น้องๆ กลุ่มลูกเหรียงมาอยู่ที่กรุงเทพ พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการการจัดการสุขาภิบาลอาหารเบื้องต้น และการจัดเตรียมวัตถุดิบและการประกอบอาหารฮาลาลจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับฟังแนวทางการออกแบบเมนูอาหารไทยสู่สากล โดยเชฟชุมพล แจ้งไพร จากสถาบันการอาหารไทย และยังไปเรียนทำอาหารที่ครัววันดี ขณะที่สถานทูตอิตาลีส่งเซฟมาสอนน้องๆ ทำพาสต้าและทีรามิสุ สถานทูตเบลเยียมเปิดทำเนียบให้น้องๆ ไปเรียนทำวาฟเฟิลและไอศกรีม ทั้งยังได้ฟังเรื่องเล่าถึงเส้นทางการมาเป็นเซฟของท่านทูต ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา

อธิบดีกาญจนากล่าวว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องไปเข้าเรียนปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย เพราะที่จริงแล้ววิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญที่จะติดตัวเราไปทำมาหากินได้ เราเห็นว่าเด็กต้องหาหนทางวิชาชีพที่จะเลี้ยงชีพได้ แล้วถ้ายิ่งเป็นสิ่งที่เขารักอยู่แล้วก็ยิ่งดีไปใหญ่

นายทัตตกร มลายาสกุล หรือต้า ที่เติบโตมากับกลุ่มลูกเหรียง แม้ว่าปัจจุบันจะมีงานประจำที่เทศบาลนครหาดใหญ่จากคนที่ไม่มีความมั่นใจในเรื่องทำอาหาร แต่พอทำได้ไม่เพียงแต่จะรู้สึกว่าสนุก ต้ายังได้ใช้ประสบการณ์ที่มีไปต่อยอดทำอาหารขายเป็นอาชีพเสริมไปด้วย ซึ่งทำให้เขาตระหนักว่าอาหารสามารถทำเป็นอาชีพได้

น้องต้า ทัตตกร มลายาสกุล

จากประสบการณ์ 10 ปีที่เข้าครัวทำอาหารในบ้านลูกเหรียง เริ่มจากการช่วยพี่ๆ ตกแต่งจาน และค่อยๆ พัฒนาทักษะและความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบที่ใช้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ให้กับแขกผู้ใหญ่ ซึ่งรวมถึงเอกอัครราชทูตจากหลายประเทศในไทย แม้จะเรียบจบและมีงานทำแล้ว ต้าก็ยังคงกลับไปช่วยงานที่บ้านลูกเหรียงอยู่ตลอด

น้องต้าขอบคุณผู้สนับสนุนให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมาและบอกว่าถ้าไม่มีพวกเขา เราก็ไม่ได้มาถึงจุดนี้อย่างแน่นอน เด็กทุกคนในลูกเหรียงบางคนมีความสามารถมาก แต่เรายังขาดองค์ความรู้ว่าจะทำอย่างไรให้มันออกมาดี พอมาที่นี่ เราได้รับการสนับสนุนและได้รับองค์ความรู้ เราสามารถที่จะต่อยอดตัวเองได้ พวกเขาวาดฝันว่าอนาคตลูกเหรียงจะกลายเป็นเอสเอ็มอีหรือเป็นธุรกิจเพื่อสังคม เพราะการบริจาคมันไม่ยั่งยืน จึงอยากจะหาที่ที่พวกเขายืนให้ได้ด้วยตัวเองต่อไป

คุณชมพู่ วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ คุณแม่บ้านลูกเหรียง

น.ส.วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ หรือคุณชมพู่ คุณแม่บ้านลูกเหรียง เล่าให้ฟังถึงที่มาของการทำอาหารของบ้านลูกเหรียงว่า เด็กๆ ที่บ้านเป็นคนชอบกิน ในแต่ละเดือนจะคุยกันว่าเราอยากกินอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นเมนูที่ทำให้คิดถึงพ่อคิดถึงแม่เพราะเขาเคยทำให้เรากิน พออยากรู้เรื่องเมนูไหน บางทีก็ไปที่ตลาดเพราะมีคนขายอาหารเยอะ และขอให้เขาสอนเรา ทำอย่างนั้นจนมีคนไปหาเราที่บ้านแล้วเราทำอาหารให้เขากิน เขาก็บอกว่าทำไมไม่ทำอาหารขายจะได้มีรายได้ จากที่ไม่มั่นใจแต่ได้รับความช่วยเหลือจากเชฟหลายๆ คน ทำให้เกิดการเปิดครัวลูกเหรียงในที่สุด และเธอสอนเด็กๆ ในบ้านว่ามันเป็นช่องทางที่จะหารายได้ให้เรา

คุณชมพู่บอกว่า การเปิดครัวยังเป็นความภาคภูมิใจ เมื่อมีคนมากินอาหารที่บ้านเราแล้วเขาชอบ ประทับใจ และกลับมาใหม่เพราะชอบที่อาหารอร่อย เธอไม่อยากให้ใครมากินข้าวเพราะอยากช่วยหรือเพราะสงสาร ที่สำคัญคือเด็กๆ ที่ทำอาหารภาคภูมิใจ มันทำให้เราตระหนักถึงศักยภาพของเรา ทำให้เรารู้สึกว่ามันเยียวยาตัวเอง พอได้ใช้ศักยภาพตัวเองมากๆ ออกไปทำอาหารแล้วได้เงินกลับมาเป็นค่าข้าว ค่าน้ำค่าไฟในบ้าน เป็นเงินไปโรงเรียน ก็รู้สึกตื่นเต้น อยากจะขยันและอยากจะทำอะไรมากขึ้น

ครัวลูกเหรียงเปิดมา 3 ปีแล้ว คุณชมพู่บอกว่าเกินกว่าที่คาดมาก แต่ก็ยังอยู่ในช่วงระหว่างการพัฒนาตัวเองและยังพยายามเรียนรู้เรื่องโน้นเรื่องนี้ เธอบอกว่า “ที่สำคัญคืออาหารมันเล่าเรื่องลูกเหรียงได้ อาหารมันเล่าความสดใสของคนที่ชายแดนภาคใต้ได้ ความเจ็บปวด ชีวิตเรามันเศร้าอยู่แล้วก็ไม่ต้องเล่า แต่เราคิดว่าชีวิตมันมีมุมอื่นๆ ได้เล่าด้วย การเล่าเรื่องราวของดีพเซาท์ เล่าเรื่องราวของเราผ่านอาหาร มันเป็นอะไรที่น่ารัก และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นได้”

โครงการนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะคุณชมพู่รู้จักกับอธิบดีกาญจนามานานกว่า 20 ปีแล้ว เธอบอกว่ามันคงดีมากถ้าเด็กๆ ที่บ้านลูกเหรียงได้มาเรียนรู้ว่าโลกนอกจาก 3 จังหวัดมันมีอะไรบ้าง อาหารมันสามารถต่อยอดได้อีกเป็นเรื่องอะไรบ้างในสิ่งที่เรามี วัตถุดิบที่เรามี อยากจะให้เด็กๆ ได้รู้ว่าแค่ทำอาหารเป็น มันทำอะไรได้อีก มันไปอาชีพอะไรได้อีก มาที่นี่ก็ได้รู้ว่ามันต่อยอดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ และทำให้เด็กๆ รู้ว่าโลกมันใหญ่มาก

คุณชมพู่พูดถึงมุมมองของเธอที่น่าสนใจว่า “อาหารมันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสันติภาพ” พร้อมขยายความว่า เวลาพูดถึงสร้างสันติภาพ คนมักจะนึกถึงหน่วยงานความมั่นคง ต้องใช้เงินเยอะแยะมากมาย แต่เธอรู้สึกว่าการสร้างสันติภาพมันมีเครื่องมืออีกมากมาย โดยเฉพาะเด็กตัวเล็กๆ คนจะนึกภาพไม่ออกว่าเด็กจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงความไม่สงบได้อย่างไร เราถูกมองเป็นคนข้างหลังสุด

“แต่เราก็กำลังทำสิ่งที่เราถนัดและเราอินกับมัน มันเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คนมาคุยกันได้ เหมือนเวลากินข้าวที่บ้านลูกเหรียง เราพยายามทำให้เป็นสำรับ เพื่อที่ทุกคนจะได้แชร์อาหารและคุยกัน ไม่ใช่ของใครของมันแล้วต่างคนต่างกิน เราไม่ชอบบรรยากาศแบบนั้น บรรยากาศของการพูดคุยมันจะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น รู้จักกันมากขึ้น พอรู้จักกันมากขึ้นก็จะทำให้เราปรองดองกันมากขึ้น มันก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีเกิดขึ้น” คุณชมพู่บอก

คำบอกเล่าของคุณชมพู่ทำให้รู้สึกว่า การสร้างสันติภาพไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับพวกเราทุกคน เช่นเดียวกับการทูตวัฒนธรรมที่ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูดสวยหรูล่องลอย ดังที่อธิบดีกาญจนาบอกไว้ในช่วงหนึ่งที่ได้คุยกันวันนั้นว่า “การทำงานการทูตวัฒนธรรมไม่ใช่แค่การเอาวัฒนธรรมของเราส่งออกไปข้างนอก หรือทำกับวงใหญ่ๆ โตๆ แต่เราสามารถทำกับชุมชน การทูตวัฒนธรรมต้องสร้างให้ชุมชนตระหนักถึงศักยภาพของพวกเขา มันต้องเป็นประโยชน์ต่อคนตัวเล็กตัวน้อยด้วย นี่เป็นที่มาของโครงการนี้ซึ่งหวังว่าจะไม่ใช่ครั้งเดียว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากการสร้างเครือข่ายจะทำให้งานมันงอกงามและขยายตัวออกไป”

ความประทับใจกับความมุ่งมั่นตั้งใจของน้องๆ กลุ่มลูกเหรียง รอยยิ้มและเสียงหัวเราะในวันนั้น บวกกับอาหารที่เป็นฝีมือของน้องๆ ที่มีทั้งความงดงามในการนำเสนอและรสชาติที่อร่อยน่าประทับใจไม่แพ้ร้านอาหารระดับไฟน์ไดนิ่ง ทำให้ทุกคนที่ได้ไปงาน Little Chefs, Big Hearts กลับบ้านไปพร้อมกับรอยยิ้ม ในค่ำคืนที่เชื่อว่าทุกคนทั้งอิ่มท้องและอิ่มเอมใจไม่แพ้กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image