หลังจากเยี่ยมเยือน จ.บึงกาฬ คณะบัวแก้วสัญจรซึ่งนำโดย นายชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็เดินทางต่อไปยัง จ.สกลนคร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของคณะบัวแก้วสัญจรที่มาเยี่ยมเยือนสกลนคร หลังจากที่เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมาท่านที่ปรึกษาฯชัยสิริได้นำคณะบัวแก้วสัญจรเดินทางไปยัง 6 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย อำนาจเจริญ ยโสธร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์ และศรีสะเกษ
ท่านที่ปรึกษาฯชัยสิริพร้อมด้วยรองอธิบดีกรมสารนิเทศ นางลินนา ตังธสิริ และคณะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดสกลนครเพื่อบรรยายและให้ข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการบัวแก้วสัญจรที่ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจในงานด้านการต่างประเทศให้กับข้าราชการและประชาชนในทุกพื้นที่ของไทย
ท่านที่ปรึกษาฯชัยสิริได้แสดงความชื่นชมจังหวัดสกลนครที่ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้และยังพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ โดยเฉพาะการดำเนินการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน ที่เป็นศูนย์ทดลองวิจัยและพัฒนาในทุกๆ ด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น โดยการนำความรู้ไปประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง นอกจากนี้ จังหวัดสกลนครยังมีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงถึง 170 แห่ง
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศก็ได้นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของการทูตไทยในยุคปัจจุบัน โดยมีการเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในหลายเวที ซึ่งรวมถึงการนำเสนอให้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติหรือเอสดีจีส์ด้วย ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้เชิญ
ผู้แทนจากต่างประเทศมาศึกษาดูงานด้านหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในไทยภายใต้โครงการ “บัวแก้วสัมพันธ์” มีการให้ทุนฝึกอบรมระยะสั้น และการให้ทุนแก่ต่างชาติมาศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดให้เยาวชนไปศึกษาดูงาน
ท่านที่ปรึกษาฯชัยสิริกล่าวว่าปัจจุบันได้มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมแล้วใน 7 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า ติมอร์เลสเต บังกลาเทศ ตองกา ชิลี และกำลังจะเริ่มดำเนินการในฟิจิ นอกจากนี้ในโอกาสที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 วาระปี 2559 ยังได้นำเสนอโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีประเทศกำลังพัฒนา 9 ประเทศที่สนใจตอบรับข้อเสนอของไทย ได้แก่ ศรีลังกา ไนเจอร์ โตโก บูร์กินาฟาโซ โมซัมบิก ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน ปารากวัย และคอสตาริกา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศหวังว่าจะได้รับความอนุเคราะห์จากจังหวัดสกลนครหากมีโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในจังหวัด
ด้าน นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์เสด็จฯเยือนสกลนครถึง 109 ครั้ง มีโครงการพระราชดำริในสกลนครถึง 297 โครงการ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สกลนครถือเป็นแหล่งศึกษาดูงานในโครงการพระราชดำริที่สำคัญ จึงอยากเสนอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาให้จังหวัดสกลนครเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของโครงการตามแนวพระราชดำริของกระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะคนสกลนครใช้ชีวิตอยู่กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาโดยตลอด

“สกลนครสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติครบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งน้ำ ดิน อาชีพ รวมถึงยังมีห้องทดลองธรรมชาติที่ภูพาน ซึ่งทั่วประเทศมีเพียง 6 แห่งเท่านั้น ที่สำคัญ สกลนครยังเป็นที่ตั้งของพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยขยายความรู้เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน และยังสามารถผลักดันให้เกิดความเข้าใจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการประกาศพระเกียรติคุณและเทิดพระเกียรติของพระองค์ แต่ยังเป็นการสืบทอดสิ่งที่พระองค์ท่านได้ให้ไว้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” ท่านผู้ว่าฯวิทยาสรุป
ท่านผู้ว่าฯวิทยายังเล่าให้ฟังถึงจุดเด่นของสกลนครเพิ่มเติมว่า สกลนครถือเป็นเมือง 3 ธรรม ประกอบด้วย ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะในส่วนของธรรมะ สกลนครถือเป็นจังหวัดที่มีครูบาอาจารย์และพระอริยสงฆ์อยู่เป็นจำนวนมากทั้งที่สิ้นไปแล้วและยังไม่ละสังขาร ปัจจุบันมีพระทั้งจากลาวและเวียดนามมาศึกษาพระธรรมของพระอริยสงฆ์อย่างหลวงปู่มั่นและหลวงปู่ฝั้นที่สกลนครอยู่มาก นอกจากนี้ สกลนครยังเป็นศูนย์กลางอารยธรรมเก่าแก่ตั้งแต่ทวารวดี ขอม ล้านช้างจนถึงปัจจุบัน มีสภาพธรรมชาติที่สวยงาม สกลนครยังถือเป็นเมืองพฤกษเวชเนื่องจากมีการสำรวจว่าที่บริเวณเทือกเขาภูพานมีสมุนไพรที่เป็นประโยชน์มากกว่า 600 ชนิด จึงตั้งเป้าอยากส่งเสริมให้จังหวัดได้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านสมุนไพรเพื่อสุขภาพของอาเซียน
ท่านผู้ว่าฯวิทยาบอกว่า สกลนครยังมีผลิตภัณฑ์โอท็อประดับชั้นนำหลายชนิด ตั้งแต่เนื้อโคขุนโพนยางคำที่ปัจจุบันผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทางกลุ่มจังหวัดกำลังมีการพัฒนาสายพันธุ์และดูแลคุณภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ ผ้าย้อมคราม ข้าวฮาง น้ำเม่า และเม็ดเม่า ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ชนิดนี้ยังได้รับการขึ้นบัญชีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือจีไออีกด้วย

ท่านผู้ว่าฯวิทยาเล่าให้ฟังอีกว่า จีดีพีของสกลนครเมื่อปี 2557 มีมูลค่าเกือบ 50,000 ล้านบาท คิดเฉลี่ยต่อหัวต่อคนตกที่ราวเกือบ 60,000 บาท ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1,700 กว่าล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ายังสามารถขยายให้เติบโตขึ้นได้ 10-15% ปัจจุบันมีคนเดินทางมาเที่ยวสกลนครเยอะขึ้น แต่เชื่อว่ายังสามารถพัฒนาได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมะ เพราะสกลนครมีศาสนสถานหลากหลายทั้งของชาวพุทธและเป็นชุมชนชาวคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังมีชุมชนดั้งเดิมเป็นชนเผ่าถึง 6 ชนเผ่าด้วย โดยขณะนี้มีการบูรณาการร่วมกันในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเป็นกลุ่มจังหวัด “สนุก” ซึ่งประกอบด้วยสกลนคร มุกดาหาร และนครพนม
ท่านผู้ว่าฯวิทยายังได้ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่เลือกเดินทางมายังจังหวัดสกลนคร และเห็นว่าโครงการบัวแก้วสัญจรถือว่ามีประโยชน์มากเพราะทุกวันนี้ในจังหวัดมีผู้แทนจากส่วนราชการอื่นทั้งหมดเว้นแต่กระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้นหากมีโครงการเช่นนี้มากๆ มีการส่งผู้แทนมาประจำกลุ่มจังหวัด หรือมีการตั้งสายด่วนขึ้นเพื่อให้เป็นช่องทางในการติดต่อกรณีที่กลุ่มจังหวัดต้องการความช่วยเหลือ เพราะอาจไม่มีความรู้เรื่องการต่างประเทศลึกซึ้งพอก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และเห็นว่าจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอีกด้วย

หลังเสร็จสิ้นภารกิจในสกลนคร ท่านที่ปรึกษาฯชัยสิริ ยังได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวของกระทรวงการต่างประเทศที่ศาลาว่าการจังหวัดอุดรธานี โดยมี น.ส.อุทุมพร อำไพวิทย์ หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางฯ คอยให้การต้อนรับ
ปัจจุบันสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวที่อุดรธานีมีจำนวนประชาชนมายื่นขอหนังสือเดินทางมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากชาวอุดรธานีนิยมเดินทางไปทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะที่ประเทศเกาหลีใต้ทำให้ประสบปัญหาตามมา เพราะมีบางส่วนเข้าไปทำงานโดยอาศัยช่องโหว่ที่เกาหลีใต้ยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางให้กับผู้ที่ถือหนังสือเดินทางไทย ขณะเดียวกันเมื่อประสบปัญหาคนเหล่านี้ก็มักจะไม่กล้าติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตเนื่องจากหวาดกลัวว่าจะถูกส่งตัวกลับ ทำให้การให้ความช่วยเหลือเป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้น อีกทั้งเมื่อเป็นแรงงานที่เข้าไปโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อประสบปัญหาใดๆ กลับมาก็ทำให้ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้างได้อย่างที่ควรจะเป็น
นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ท่านที่ปรึกษาฯชัยสิริย้ำทุกครั้งเมื่อไปพูดคุยกับจังหวัดต่างๆ ในโครงการบัวแก้วสัญจรว่า ปัจจุบันการต่างประเทศไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยทุกคนอีกต่อไป