ทรัมป์ทวีตโวยศาลล้มคำสั่งห้าม7ชาติเข้าประเทศ สั่งกระทรวงยุติธรรมยื่นอุทธรณ์

AFP PHOTO / Mandel Ngan

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาทำบันทึกแจ้งต่อศาลแขวงวอชิงตันให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ว่าจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของผู้พิพากษา เจมส์ โรบาร์ท ที่ให้ยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทางเข้าประเทศของพลเรือน 7 ชาติที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่เป็นเวลา 120 วันยกเว้นซีเรียซึ่งถูกห้ามตลอดไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง การยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวนั้นเป็นไปตามคำสั่งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งใช้เวลาเกือบตลอดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ตามเวลาท้องถิ่น ทวีตข้อความโจมตีคำพิพากษาและตัวผู้พิพากษา โรบาร์ท ต่อเนื่องตลอดเวลา และบอกกับผู้สื่อข่าวที่บริเวณรีสอร์ท มาร์-อา-ลาโก รีสอร์ทส่วนตัวในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกาว่า การอุทธรณ์จะมีขึ้นในช่วงค่ำวันที่ 4 นี้และรัฐบาลจะชนะแน่นอน ชนะเพื่อความปลอดภัยของประเทศชาติ

ในเนื้อหาที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาเผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์หลายๆครั้งนั้น มีทั้งที่โจมตีคำพิพากษาดังกล่าวว่า เป็นการเปิดประเทศให้กับผู้ที่มีโอกาสจะเป็นผู้ก่อการร้ายและคนอื่นๆที่ไม่ได้สนองตอบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาอย่างจริงใจ และทำให้ “คนเลวๆมีความสุข” ไปจนกระทั่งถึงการจาบจ้วงถึงตัวผู้พิพากษาโรบาร์ทด้วยถ้อยคำที่แสดงการไม่ยอมรับ อาทิ แทนที่จะเรียกว่าผู้พิพากษา ทรัมป์กลับใช้คำว่า โรบาร์ทเป็นเพียง “คนที่เรียกกันว่าผู้พิพากษา” โดยชี้ว่า ความคิดเห็นของ “คนที่เรียกกันว่าผู้พิพากษารายนี้ ถือเป็นการโยนการบังคับใช้กฎหมายทิ้งไปจากประเทศนี้ ซึ่งไร้สาระอย่างน่าขันและจะถูกกลับคำพิพากษาในที่สุด”

ในขณะที่ ผู้พิพากษา โรบาร์ท ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อข้อความในทวิตเตอร์ของทรัมป์ต่อผู้สื่อข่าว นักการเมืองและนักวิชาการบางคนชี้ว่า การกระทำของทรัมป์นั้นเป็นการกระทำเกินขอบเขต เข้าข่ายเป็นการบ่อนทำลายระบบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหาร นายแพทริก ลีฮีย์ วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์มอนต์ พรรคเดโมแครตระบุว่า การแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกระบวนการทางนิติรัฐของทรัมป์ไม่เพียงชวนหงุดหงิด แต่ยังเป็นอันตราย เพราะดูเหมือนเป็นการจงใจให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นมา

คดีในศาลแขวงวอชิงตัน เป็นคดีที่นายโรเบิร์ต เฟอร์กุสัน อัยการแห่งรัฐวอชิงตันเป็นผู้ยื่นฟ้องร้อง คำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นคำพิพากษาแรกในจำนวนคดีความจำนวนมากที่ฟ้องร้องท้าทายการใช้อำนาจของทรัมป์ในกรณีผู้อพยพ โดยการอุทธรณ์จะเป็นการอุทธรณ์ต่อศาลเซอร์กิตที่ 9 โดยองค์คณะผู้พิพากษา 3 คน ในขณะที่คดีอื่นๆที่เหลือทั้งหมดอาจกินเวลาดำเนินการหลายเดือนในอนาคต ในขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นโดยรอยเตอร์/อิปซอส แสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันเองก็เห็นแตกแยกกันในเรื่องนี้ โดยเห็นด้วยกับทรัมป์ 49 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วย 41 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image