รายงานใหม่ “แอมเนสตี้” ชี้ไทยคุกคามทางกฎหมายต่อนักปกป้องสิทธิฯ

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่าทางการไทยพยายามเอาผิดทางอาญาและลงโทษผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือเห็นต่างจากรัฐ โดยพุ่งเป้าไปที่ภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “พวกเขาไม่สามารถทำให้เราเงียบได้”: เมื่อนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบุคคลอื่นในประเทศไทยโดนเอาผิดทางอาญา” ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาต่อภาคประชาสังคม 64 คน ทั้งที่เป็นนักกิจกรรม นักศึกษา นักเคลื่อนไหวระดับชุมชน และนักปกป้องสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงนักวิจัย นักกฎหมาย ผู้สื่อข่าว และนักวิชาการ กฎหมายและคำสั่งหลายฉบับถูกนำมาใช้เพื่อสอบสวน จับกุม และดำเนินคดีต่อพวกเขา เพียงเพราะการใช้สิทธิเพื่อแสดงความเห็นโดยปราศจากความรุนแรง การทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการ และการทำหน้าที่ของพวกเขาในฐานะสื่อหรือนักกฎหมาย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่านักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนมากต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนที่ยาวนานในศาลทหาร ซึ่งเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยหากศาลตัดสินว่ามีความผิด หลายคนอาจได้รับโทษจำคุกรวมกันหลายสิบปี เช่น กรณีของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีอาญาถึงห้าคดีและถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษจังหวัดขอนแก่น โดยถูกศาลเพิกถอนประกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เกิดการพัฒนาเชิงบวกขึ้นเล็กน้อย เมื่ออัยการสั่งไม่ดำเนินคดีต่อนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หรือ “เมย์” ที่โดนกองทัพฟ้องร้อง หลังออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับน้าชายของตน ซึ่งเป็นพลทหารที่ถูกทรมานจนเสียชีวิตระหว่างการฝึก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image