คอลัมน์ People In Focus: เจมส์ โรบาร์ต ผู้พิพากษาผู้งัดข้อ “ทรัมป์”

"เจมส์ โรบาร์ต" ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางจากเมืองซีแอตเทิล

“เจมส์ โรบาร์ต” ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางจากเมืองซีแอตเทิล แห่งรัฐวอชิงตัน กลายเป็นชื่อที่ชาวอเมริกันรู้จักไปทั่วประเทศเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เมื่อโรบาร์ตถูก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทวีตข้อความโจมตีผ่านทวิตเตอร์อย่างดุเดือด ใช้ถ้อยคำเรียกโรบาร์ตว่า “ผู้ที่ทำตัวเป็นผู้พิพากษา” ที่มีความเห็นอันไร้สาระและ “พรากการบังคับใช้กฎหมายไปจากประเทศ”

การแสดงความไม่พอใจผ่านตัวอักษรของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่มีขึ้นหลังโรบาร์ตในวัย 69 ปี มีคำตัดสินให้ระงับ “คำสั่งห้ามพลเมืองจาก 7 ชาติมุสลิมและผู้ลี้ภัย” เข้าประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ ลงเป็นการชั่วคราว และมีผลบังคับทั่วประเทศ

สำหรับผู้ที่รู้จักผู้พิพากษาโรบาร์ต ผู้ที่นั่งทำหน้าที่ในศาลรัฐบาลกลางมานานกว่า 10 ปี หลังได้รับแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

Advertisement

“รีพับลิกัน” อีกคนอย่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช นั้น คำตัดสินของโรบาร์ตชัดเจนว่าไม่ได้มีผลจากแนวคิดทางการเมือง

ดักลาส แอดกินส์ นักลงทุนผู้รู้จักโรบาร์ตตั้งแต่วัยเด็กระบุว่า โรบาร์ตเป็นคนที่ค่อนข้างไม่สนใจการเมือง “เขาไม่ใช่ผู้ที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม แต่เป็นคนที่สนใจในกฎหมายและความยุติธรรม” แอดกินส์กล่าว

หลังจบการศึกษาจาก “วิทแมนคอลเลจ” และจากศูนย์กฎหมาย มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โรบาร์ตใช้เวลา 30 ปี ทำงานในบริษัทกฎหมายเอกชนชื่อว่า “เลนพาเวลล์” ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีบุช ในปี 2547

Advertisement

แอดกินส์ระบุว่า โรบาร์ตและภรรยา ไม่มีลูกด้วยกันแต่ได้รับอุปการะเด็กผู้ลี้ภัยจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ โรบาร์ตยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธาน “ซีแอตเทิล ชิลเดรนส์ โฮม” และเป็นผู้จัดการทรัพย์สินให้กับ “ชิลเดรนส์ โฮม โซไซตี ออฟ วอชิงตัน” สององค์กรที่ให้บริการด้านสภาพจิตใจแก่เด็กที่มีความเสี่ยงและครอบครัวที่มีปัญหา

“การมีส่วนร่วมกับเด็กอาจมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจที่เขามีต่อผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากคำตัดสินนี้ แต่จะไม่มีอิทธิพลต่อการตีความหลักนิติธรรมของเขาได้” พอล ลอว์เรนซ์ หนึ่งในอัยการผู้สนับสนุนการระงับคำสั่งของทรัมป์ระบุ

ในปี 2547 โรบาร์ตกล่าวในระหว่างการอภิปรายคุณสมบัติเพื่อรับตำแหน่งผู้พิพากษาต่อวุฒิสภา ถึงประสบการณ์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายโดย “ไม่คิดค่าตอบแทน” ให้กับผู้คนที่อาจรู้สึกว่ากฎหมายคืออุปสรรค และว่า ตนได้เรียนรู้ว่ากฎหมาย “หากใช้ให้เหมาะสม สามารถเป็นโอกาสให้ผู้คนได้แก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดไปได้” โรบาร์ตระบุ

เมื่อปี 2559 โรบาร์ตเคยตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ ในฐานะผู้พิพากษาที่ตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความผิดฐานใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อกลุ่มคนผิวสี พร้อมทั้งประกาศคำว่า “แบล๊ก ไลฟ์ แมทเทอร์” หรือ “ชีวิตคนผิวดำก็มีค่า” จากบนบัลลังก์พิจารณาคดี

ขณะที่ในปี 2554 โรบาร์ตมีคำตัดสินให้ระงับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายของรัฐบาลกลางที่ส่งผลให้มีการตัดงบสนับสนุนเด็กพิการและครอบครัวในรัฐวอชิงตันลงด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image