ที่มา | นสพ.มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | วรรัตน์ ตานิกูจิ |
เผยแพร่ |
นิกรเดช พลางกูร
ความท้าทายบนเก้าอี้
‘โฆษกบัวแก้ว’
๐งานสำคัญหนึ่งของกรมสารนิเทศคือการวิเคราะห์ท่าทีของต่างประเทศต่อไทย เท่าที่ดูข้อมูลขณะนี้โลกมองประเทศไทยอย่างไร
ข้อดีอย่างหนึ่งที่ผมได้เห็นเนื่องจากในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากการเป็นทูตมารับตำแหน่งอธิบดีสารนิเทศได้ประมาณเดือนหนึ่ง ในช่วงท้ายของการเป็นทูตที่ฮานอยก็ได้เห็นว่าต่างชาติมีความตื่นตัว มีความกระตือรือร้น กับการติดตามข่าวของรัฐบาลไทยค่อนข้างมาก ตั้งแต่รัฐบาลประกาศว่าจะนำประเทศไทยกลับสู่จอเรดาร์ของโลก เขามองว่าจะนำไทยกลับจอสู่เรดาร์ผ่านอะไร ผ่านการเมือง ผ่านเศรษฐกิจ ผ่านซอฟต์พาวเวอร์ การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างประชาชน หรือมาทุกด้าน
ดังนั้น เขาก็เริ่มจับตามองทั้งการเยือนต่างๆ ของท่านนายกรัฐมนตรี การเยือนต่างประเทศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงการรับการเยือนระดับสูงจากหลายๆ ประเทศที่เข้ามาที่ไทย การมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และบทบาทสำคัญของไทยในประเด็นต่างๆ ที่ไทยชูขึ้นมาระยะหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างการมีบทบาทที่สำคัญของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เรื่อง “Ignite Thailand” ให้ไทยเป็นศูนย์กลาง 8 เป้าหมาย การชูประเด็นซอฟต์พาวเวอร์ เรื่อง OECD เรื่องการจะเป็นประธานการประชุมเจ้าภาพ “บิมสเทค” (BIMSTEC) เป็นต้น
ทุกประเด็นจะได้รับการติดตามค่อนข้างใกล้ชิดทั้งจากทูตที่อยู่ในต่างประเทศและจากทูตต่างประเทศที่อยู่ในไทย นอกจากนี้ต่างชาติยังมุ่งให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่พูดในหลายโอกาสว่าเรากำลังจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมันสะท้อนออกมาในนโยบายที่เราแสดงความชัดเจนมากในการยื่นใบสมัครเข้าไปเป็นสมาชิก OECD การที่นายกรัฐมนตรีไปต่างประเทศในทุกๆ ทริป พบผู้แทนระดับสูงทุกๆ ครั้งก็จะพูดเสมอว่าการกลับมาเมืองไทยโดยไม่กลับมามือเปล่า และทุกครั้งเป็นการพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ กลับมาไทย การเสนอโครงการต่างๆ ที่ไทยจะทำและชักชวนต่างประเทศให้มาลงทุน เช่น “แลนด์บริดจ์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ “Ignite Thailand” ก็ทำให้ต่างชาติเห็นถึงความเอาจริงของสิ่งที่นายกรัฐมนตรีประกาศและทำจริงในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากเน้นย้ำคือ ต่างชาติให้ความสำคัญมากกับการยกเว้นวีซ่า โดยเฉพาะจีน รัสเซีย อินเดีย ไต้หวัน คาซัคสถาน เป็นต้น เรื่องที่เขาให้ความสำคัญมากคือการขยายเส้นทางการบินต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวโยงไปกับการจัดอีเวนต์ต่างๆ เช่นการจัดงานมหาสงกรานต์ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ดังนั้นถ้ามองเป็นแพ็กเกจก็สามารถมองได้ว่าด้านเศรษฐกิจ เราพยายามดึงดูดการลงทุนเข้าไทย ซึ่งต่างชาติสนใจมากว่า เขาจะมีส่วนตรงไหนได้บ้าง ใน”แลนด์บริดจ์” ใน “Ignite Thailand” เขาจะทำอะไรได้บ้าง ในเรื่องการท่องเที่ยวเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากการฟรีวีซ่า เป็นต้น
นอกจากนี้ ในเรื่องของความมั่นคงต่างชาติก็มุ่งให้ความสนใจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์ในเมียนมาว่าสรุปแล้วจะออกมาในทิศทางไหน บทบาทไทยจะอยู่ตรงไหน ซึ่งผมเองมองว่าไทยเองเดินมาถูกทิศ ในแง่ที่ไม่นานมานี้เราเริ่มยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับเมียนมา และสนับสนุนลาวในฐานะประธานอาเซียนให้มีบทบาทที่เข้มแข็ง ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต่างชาติยังคงถามผมมาอยู่ทุกวัน รวมถึงประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างจีนและอินเดีย แม้เหตุการณ์ในเมียนนมาจะสงบลง แต่ทุกคนก็ยังจับตาดูอยู่ว่าบทบาทของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป
๐ประเด็นที่ให้ความสำคัญเมื่อรับหน้าที่อธิบดีสารนิเทศคนใหม่คืออะไร
ประเด็นสำคัญที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่างๆ ที่ออกมาจากกระทรวง ถึงแม้ว่าปัจจุบันในโลกมีข่าวสารที่รวดเร็วทางช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อออกมาเร็วมากแต่ความถูกต้องของข้อมูลสำหรับผมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ก็จะพยายามให้เกิดความสมดุลระหว่างความรวดเร็วในการให้ข่าวกับความถูกต้องของข้อมูล
อีกเรื่องที่ผมให้ความสำคัญมากคือเรื่องการพัฒนาบุคลากรของกรมที่อยากจะให้มีความรอบด้านมากขึ้น ในปัจจุบันเจ้าหน้าาที่ของกรมสารนิเทศไม่ว่านักการทูตหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนจะมีความรู้ด้านใดด้านหนึ่งคงไม่พอ ต้องอัพสกิลให้เขามีความเท่าทันกับประเด็นต่างๆ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ในส่วนของตัวผมเองจะทำงานบนพื้นฐานของสองเรื่องคือความเปิดกว้างที่จะยอมรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ๆ ของข้อมูลของการนำเสนอข่าว กับความถูกต้องและความจริงใจในการทำงาน
๐ความท้าทายของการรับหน้าที่อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศคืออะไร
ความท้าทายคือบางทีเราไม่รู้เลยว่าสื่อต้องการข้อมูลในบางเรื่องที่อยู่ไกลตัวมากๆ อย่างกรณีการลอบทำร้ายประธานาธิบดีสโลวาเกีย ภายในเวลาไม่ถึงสิบนาทีก็มีการขอความเห็นจากกระทรวง ซึ่งในความเป็นจริงเราก็ต้องขอเช็กข้อมูลก่อน แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายการเมืองก็ได้รับคำถามเดียวกัน ท่านก็ได้ถามกลับมาที่เรา มันก็เป็นความท้าทายแรกที่รู้สึกว่า นอกจากตัวเราแล้วสถานทูตต่างๆ ทั่วโลกก็ต้องเปลี่ยนความรวดเร็วในการทำงาน แต่ก็ยังมีความกดดันในเรื่องความถูกต้องของข้อมูลเช่นเดิม
มันก็เป็นความท้าทายหนึ่งที่ผมมองว่ามันไม่ใช่แค่ตัวอธิบดีหรือกรมสารนิเทศ แต่มันคือบทบาทของนักการทูตทั่วโลกที่ได้รับความท้าทายนี้ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี มาพร้อมกับเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นที่เราจะต้องเช็คก่อนว่ามันเป็นข่าวจริงใช่หรือไม่ ก่อนที่จะมีท่าทีใดๆ ออกไป
ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่มันเร็วและฮอตสปอตมันเยอะ ทั้งอิสราเอล ปาเลสไตน์ ฮามาส อิหร่าน เมียนมา จีน และยูเครน ทำให้กรมสารนิเทศทั้งกรมต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะเราเป็นกรมที่ทำหน้าที่ทั้งหน้าด่านและท้ายด่าน ขณะที่ตรงกลางเราก็ต้องเป็นกรมที่คอยประสานงานคนอื่น เราจะต้องไปกระตุ้นให้คนอื่นเขาตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีความทันต่อสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถทำให้ประชาชนทราบประเด็นต่างๆ
โดยเฉพาะตอนนี้ประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ สื่อให้ความสำคัญ คนไทยให้ความสำคัญคือประเด็นฮอตสปอตต่างๆ นี้จะส่งผลอย่างไรกับคนไทย การจ้างงานมันจะเปลี่ยนแปลงไปไหม ชีวิตและทรัพย์สินคนไทย ทุกเรื่องจะกลับมาที่สวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย
นอกจากนี้พี่น้องคนไทยก็จะให้ความสำคัญมากขึ้นกับสื่อสังคมออนไลน์ของกระทรวงอย่างเห็นได้ชัด แพลตฟอร์มต่างๆ ต้องเป็นเป็นการสื่อสารแบบสองทาง ไม่ใช่ว่าให้ข่าวแล้วจบ เราก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์หากประชาชนให้ความเห็นมา กรมกงสุลต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเขา งานของกระทรวงต้องสื่อไปถึงประชาชน ผมมองว่ามันมีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งมิติการข่าว มิติการทางทูตสาธารณะ มิติด้านการทูตวัฒนธรรม และกรมสารนิเทศต้องพยามทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ ของเรา หมดยุคที่จะบอกว่ากระทรวงต่างประเทศเป็นนักวิชาการ เราอยู่บนหอคอยในระบบปิดไม่ได้ นั่นคือส่วนหนึ่งของความสนุกที่ท้าทาย