ชี้คนทั่วโลกสนใจข่าวลด มอง ‘หดหู่-ไม่จบสิ้น’ กังขาใช้ AI ทำข่าว ดูผ่าน TikTok พุ่ง
รายงานข่าวดิจิทัลซึ่งเป็นผลการศึกษาที่ทำขึ้นโดยสถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาวารสารศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ระบุว่า ผู้คนจำนวนมากในโลกไม่สนใจข่าวสารเพิ่มขึ้น เพราะมองว่าเป็นเรื่องน่าหดหู่ ไม่จบไม่สิ้น และน่าเบื่อ
จากการสำรวจความเห็นของผู้คนเกือบ 100,000 คนใน 47 ประเทศ พบว่า ผู้คนเกือบ 4 ใน 10 คน หรือราว 39% ทั่วโลกบอกว่า พวกเขาหลีกเลี่ยงข่าว เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2017 ที่เพียง 29% ซึ่งถือว่าตัวเลขของผู้ที่เลี่ยงจะรับข่าวในขณะนี้สูงเป็นประวัติการณ์
สงครามในยูเครนและในกาซาส่งผลต่อความต้องการของคนที่จะปิดรับข่าวสาร ขณะที่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกทั้งเลือกตั้งในประเทศและเลือกตั้งระดับภูมิภาคอย่างรัฐสภายุโรปทำให้มีความสนใจข่าวสารเพิ่มขึ้นในบางประเทศ อาทิ ในสหรัฐอเมริกา หรือแอฟริกาใต้
อย่างไรก็ดี แนวโน้มของการรับรู้ข่าวสารโดยรวมของผู้คนทั่วโลกยังคงลดลง โดยผลการศึกษาชี้ว่า ผู้คน 46% ระบุว่าพวกเขาสนใจข่าวมากหรือมากสุดๆ ลดลงจาก 63% ในปี 2017 ขณะที่ความเชื่อมั่นในข่าวยังทรงตัวที่ 40% แต่ในภาพรวมก็ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ความเชื่อมั่นในข่าวอยู่ในระดับสูงสุด
นิค นิวแมน ผู้ร่วมวิจัยอาวุโสของสถาบันรอยเตอร์ กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าเรื่องของข่าวดูจะยากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุณต้องเผชิญกับโรคระบาดและสงคราม จึงเป็นเรื่องปกติที่คนจะหันหลังให้กับข่าว เพื่อป้องกันสุขภาพจิตของพวกเขา หรืออาจเพียงเพื่อต้องการใช้ชีวิตของพวกเขาต่อไป
นิวแมนกล่าวว่า ผู้ที่เลือกที่จะหลีกเลี่ยงการรับข่าวสารทำเช่นนั้นเพราะรู้สึกว่าพวกเขาไร้ซึ่งอำนาจ และไม่มีพลังเหนือสิ่งใหญ่โตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก บางคนรู้สึกหนักใจและสับสนมากขึ้นกับข่าวต่างๆ ที่ท่วมท้น โดยผู้หญิงและคนหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะรู้สึกเบื่อหน่ายกับจำนวนข่าวสารรอบตัว
ขณะเดียวกัน มีประเด็นความกังวลใหม่เกี่ยวกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการผลิตข่าวและความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอย่างการเมือง ซึ่งทำให้สำนักข่าวทั่วโลกต้องทำงานเพื่อจัดการกับความท้าทายใหม่เหล่านี้ด้วยวิธีที่สร้างสรรค์
ผลสำรวจชี้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในสหรัฐ 52% และผู้ตอบแบบสอบถามในสหราชอาณาจักร 63% บอกว่า พวกเขาไม่สบายใจกับข่าวที่ทำขึ้นโดย AI ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับความรู้สึกของพวกเขาในการนำ AI มาใช้เพื่อให้การทำข่าวของผู้สื่อข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นิวแมนกล่าวว่า ระดับความสงสัยเกี่ยวกับ AI ที่พบถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ แต่อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่จะมีความหวาดกลัวเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจเกี่ยวกับเนื้อหาของข่าว
ความกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาของข่าวปลอมทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน โดย 29% ของผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่าพวกเขารู้สึกกังวล แต่ตัวเลขในแอฟริกาใต้และสหรัฐ ความกังวลดังกล่าวพุ่งสูงถึง 81% และ 72% ตามลำดับ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีการเลือกตั้งในปีนี้
รายงานยังพบว่าผู้เสพแหล่งข่าวแบบดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ผู้คนอายุน้อยเลือกที่จะรับข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์หรือทางโซเชียลมีเดีย โดยเฟซบุ๊กยังคงเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่สำคัญที่สุดสำหรับข่าวสาร แม้ว่าแนวโน้มในระยะยาวจะลดลงก็ตาม
YouTube และ WhatsApp ยังคงเป็นแหล่งสำคัญในการรับชมข่าวสำหรับหลายๆ คน แต่ TikTok ได้รับความนิยมแซงหน้า Twitter หรือที่เปลี่ยนชื่อเป็น X ในปัจจุบันเป็นครั้งแรก ผู้คนราว 10% ใช้ X ขณะที่ตัวเลขของผู้รับชมทาง TikTok เพิ่มขึ้นไปถึง 23% ในกลุ่มคนอายุ 18-24 ปีทั่วโลก
แนวโน้มดังกล่าวเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้วิดีโอกลายเป็นแหล่งข่าวออนไลน์ที่มีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มคนอายุน้อย ที่วิดีโอข่าวสั้นนั้นกลายเป็นสิ่งที่ผู้รับชมข่าวสารสนใจมากที่สุด
นิวแมนกล่าวว่า ผู้บริโภคข่าวสารหันมาดูวิดีโอเพราะมันรับชมง่าย มีข้อมูลมากมายในประเด็นต่างๆ และมันยังน่าดึงดูด ขณะที่ห้องข่าวแบบดั้งเดิมจำนวนมากที่ยังทำงานโดยยึดข้อความก็กำลังดิ้นรนเพื่อปรับเปลี่ยนกลวิธีในการเล่าเรื่อง
สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ การทำพอดแคสต์ถือเป็นทางออก แต่กระนั้นโดยรวมแล้วพอดแคสต์ก็ยังถือเป็นกิจกรรมของคนกลุ่มน้อย ที่ดึงดูดผู้ชมที่มีการศึกษาดีเป็นหลัก
อินฟลูเอนเซอร์ด้านข่าวยังมีบทบาทมากกว่าองค์กรสื่อกระแสหลักในการนำเสนอข่าวสารแก่ผู้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยมอย่าง TikTok ผลการสำรวจผู้ใช้งาน TikTok มากกว่า 5,600 คนบอกว่า พวกเขาใช้แอพพ์เพื่อรับข่าวสารถึง 57% โดยสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมุ่งเน้นไปที่บุคลิกภาพส่วนบุคคลเป็นหลัก ขณะที่มีเพียง 34% ที่บอกว่าพวกเขาติดตามนักข่าวหรือสำนักข่าวใดสำนักข่าวหนึ่งเป็นหลัก
นิวแมนกล่าวว่า ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าห้องข่าวต้องสร้างสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ชม ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้แพลตฟอร์มต่างๆ อย่างมีกลยุทธ์เพื่อเชื่อมต่อกับผู้คนที่เป็นกลุ่มซึ่งเข้าถึงยากอย่างผู้ชมที่มีอายุน้อย