แอปเปิลชนเอฟบีไอ รัฐกับบริษัทในโลกสมัยใหม่ โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

AFP

คงจำกันได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้คณะกรรมาธิการอะไรสักอย่างของไทยไปเชิญตัวแทนจากบริษัทด้านโซเชียลเน็ตเวิร์กรายใหญ่ที่เราท่านรู้จักกันดีมาโน้มน้าวให้ช่วยเหลือในเรื่องการเซ็นเซอร์หรือการปิดกั้นการเข้าถึงหน้าเพจที่รัฐถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง โดยหยอดเรื่องการจะเอื้ออำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ในการดำเนินธุรกิจในอนาคต

แล้วได้รับคำตอบที่ใครซึ่งพอจะรู้เรื่องรู้ราวในวงการนี้ก็คาดเดาได้ว่าสิ่งที่บริษัทเหล่านั้นพร้อมให้ความร่วมมือหากเป็นไปตามขั้นตามกฎหมาย

บริษัทไอทีใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงของโลกนั้นยึดมั่นในหลักการคุ้มครองสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานอย่างเหนียวแน่น เรื่องที่จะไปขอให้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานนั้น อย่าได้ไปหวังอะไร แม้กระทั่งต่อให้ใช้อำนาจศาลก็จะมีการต่อสู้อย่างถึงที่สุด อย่างที่เราเห็นกรณีตัวอย่างหลายครั้งมาแล้วในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งครั้งล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ กับแอปเปิลกับเอฟบีไอ

หลังศาลมีคำสั่งให้แอปเปิลให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานของรัฐในการเข้าถึงข้อมูลภายในโทรศัพท์ไอโฟนของผู้ใช้งานรายหนึ่งที่ตกเป็นผู้ต้องหาในกรณีการยิงกราดที่ซาน เบอร์นาดิโน โดยสิ่งที่เอฟบีไอต้องการก็คือให้แอปเปิลเปิดทางสะดวกให้สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในโทรศัพท์ที่ผู้ต้องหาใช้ได้ ทิม คุก ผู้บริหารสูงสุดของแอปเปิลก็ออกมาปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวว่าจะคัดค้านคำสั่งดังกล่าวอย่างถึงที่สุดและเรียกร้องให้มีการดีเบตที่เปิดต่อสาธารณชนในเรื่องนี้

Advertisement

เสียงค้านของทิม คุก ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากยักษ์ใหญ่อื่นๆ เช่น ไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊ก และกูเกิล

หลายคนคงสงสัยว่านี่มันเรื่องอะไรกันแน่

ขออธิบายอย่างนี้ครับ โดยปกติแล้วโทรศัพท์ไอโฟนนั้นมีระบบการเข้ารหัสที่เรียกว่าการเอ็นคริปต์อยู่เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลให้ผู้ใช้งาน ข้อมูลต่างๆ ทั้งหมดภายในโทรศัพท์จะเข้ารหัสไว้โดยสามารถเข้าถึงได้ก็เฉพาะเจ้าของโทรศัพท์ที่มีพินหรือรหัส 4 ตัวที่กำหนดไว้เองเท่านั้น แม้แต่แอปเปิลก็ไม่ล่วงรู้รหัสนี้ของผู้ใช้งาน

Advertisement

มาตรการความปลอดภัยที่ซ้อนเอาไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการใช้หลักการเดาสุ่มรหัสไปเรื่อย คือจำกัดจำนวนครั้งในการใส่รหัส เมื่อเกินกำหนดโทรศัพท์จะถูกล็อกไม่สามารถใช้งานได้อีกเลย

สิ่งที่เอฟบีไอต้องการก็คือให้แอปเปิลขยายหรือเลิกใช้ข้อจำกัดนี้เพื่อที่จะสามารถเปลี่ยนรหัสไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถูกต้องโดยที่โทรศัพท์ไม่ถูกล็อกแบบปกติทั่วไป

ผู้บริหารแอปเปิลบอกว่า ข้อเรียกร้องน่าขนหัวลุกนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เคยมีอยู่ ถ้าจะให้เป็นอย่างนี้แอปเปิลจะต้องเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นใหม่ เท่ากับเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติการไอโฟนให้มีประตูหลัง ซึ่งในทรรศนะของแอปเปิลแล้วเป็นสิ่งที่อันตรายเกินกว่าที่จะสร้างขึ้นมา มันอาจตกไปอยู่ในมือที่ไม่ถูกต้องซึ่งจะใช้มันในทางที่ผิด โดยที่แอปเปิลเองก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่ามันจะถูกใช้เฉพาะสำหรับเอฟบีไอเท่านั้น

“มันน่าหัวเราะตรงที่วิศวกรพวกเดิมที่สร้างการเข้ารหัสที่แข็งแกร่งเพื่อปกป้องผู้ใช้งานของเรา ได้รับคำสั่งให้ทำให้การป้องกันเหล่านั้นเปราะบางขึ้นและทำให้ผู้ใช้งานของเราปลอดภัยน้อยลง” ทิม คุก เขียนไว้ในแถลงการณ์ของเขา

การปะทะระหว่างแอปเปิลกับรัฐบาลสหรัฐในครั้งนี้ถือเป็นกรณีที่น่าศึกษาที่ไม่ควรด่วนเอาบรรทัดฐานทางศีลธรรมใดๆ ไปวัดกันอย่างง่ายๆ

เป็นการต่อสู้กันในเชิงหลักการของบริษัทในโลกสมัยใหม่ที่ไม่ยึดถือว่ารัฐคือตัวแทนความดีสูงสุดที่จะต้องยอมไปทุกอย่าง หากละเมิดหลักการสำคัญ อย่างไรเสียก็ต้องสู้กันไปตามกระบวนการทางกฎหมายจนถึงที่สุด

คดีนี้น่าจะยังคงต่อสู้กันไปอีกนานกว่าจะรู้ผลในขั้นสุดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image