ที่มา | คอลัมน์ - ไทยพบพม่า |
---|---|
ผู้เขียน | ลลิตา หาญวงษ์ |
ไทยพบพม่า : ใครๆ ก็ไปจีน
เมื่อจีนรุกหนัก SAC จะเป็นอย่างไรต่อไป (ตอนที่ 1)
ในช่วงเดือนสองเดือนมานี้ คีย์เวิร์ดของการทำความเข้าใจการเมืองและการต่อสู้ภายในพม่า คือ “จีน” เพราะเราได้เห็นบทบาทของจีนในฐานะ “พี่ใหญ่” ที่พยายามไกล่เกลี่ย และหาทางลงให้กับคู่ขัดแย้งในพม่า ตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2021 จีนไม่เคยปฏิเสธว่าวางตัวเป็นกลางในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทุกระดับในพม่า เพราะจีนจำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง และไม่สามารถปล่อยให้การลงทุนระดับเมกะโปรเจ็กต์ของตนเกิด “ดิสรัปชั่น” จากความขัดแย้งภายในพม่าได้
แนวทางของจีนคือการสร้างสมดุลทางอำนาจ (balance of power) เพื่อปกป้องผลประโยชน์ โครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นคงทางพลังงานของตนเอง เพราะจีน โดยเฉพาะมณฑลยูนนานในจีนภาคใต้ พึ่งพาทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากพม่าในปริมาณมาก เมื่อพิจารณาจากสถิติระดับโลก พม่าไม่ได้มีน้ำมันสำรองสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะมีน้ำมันสำรองเพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์ (ราว 139 ล้านบาร์เรล จากสถิติปี 2017) และมีก๊าซธรรมชาติราว 0.6 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก แม้ตัวเลขของปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไม่มากนัก แต่สำหรับจีน นี่คือ “บ่อน้ำมัน” สำคัญใกล้บ้าน ที่จะทำให้จีนลดการพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลาง และภูมิภาคอื่นๆ ที่จีนไม่สามารถควบคุมได้
แหล่งพลังงานแหล่งใหญ่ของจีนยังอยู่ในรัสเซีย และประเทศรอบข้าง ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน จีนมีท่อลำเลียงแก๊สจาก 4 ประเทศดังกล่าวโดยตรง เพราะจีนเข้าใจดีว่าต้นทุนที่สูงที่สุดคือเรื่องต้นทุน และจีนไม่สามารถพึ่งพาการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผ่านช่องทางทั่วๆ ไป ทางเรือหรือทางบกได้
พม่ามีความสำคัญกับจีนเป็นพิเศษเพราะเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใกล้ที่สุด ในปี 2018 ก๊าซธรรมชาติจากพม่าคิดเป็น 2.6 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของจีน แต่หากไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น และจีนรักษาความสงบในพื้นที่ที่ท่อก๊าซพาดผ่านในเขตพม่าได้ ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากพม่าอาจมีเกือบๆ 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณนำเข้าทั้งหมดเลยทีเดียว
นอกจากจีนจะสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เป็นเสมือน “รัฐอารักขา” (tributary states) แล้ว รัฐบาลปักกิ่งก็มีพยายามรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาล SAC ที่เนปยีดอ ในช่วงก่อนปฏิบัติการ 1027 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จีนยังไม่ได้แสดงท่าทีไม่พอใจ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำ SAC ออกมามากนัก แต่เมื่อการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กว่าสิบกลุ่มยืดเยื้อ และไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จีนจำเป็นต้องเปลี่ยนเกม และคราวนี้มาพร้อมกับเมสเสจที่ชัดเจนว่าจีนต้องการเปลี่ยนผู้นำ SAC หมายความว่าจีนไม่ต้องการให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย เป็นผู้นำ SAC อีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน SAC หรือองคาพยพรวมศูนย์ในลักษณะนี้ก็จำเป็น สำหรับการแผ่อิทธิพลของจีนเข้าไปในพม่า…ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาทั้งผลประโยชน์และพลังการต่อรอง (leverage) ของตนในพม่า เพื่อที่จะอยู่เหนือชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในเกมกับพม่าไปอีกขั้นหนึ่ง
ในปลายเดือนมิถุนายน ปักกิ่งส่งเทียบเชิญให้อดีตประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ในการรับรู้ของจีน เต็ง เส่ง คือประธานาธิบดีในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ระหว่างปี 2011-2016 และเป็นผู้นำอดีตผู้นำในกองทัพที่เป็นสายปฏิรูป มิได้เป็นสายฮาร์ดไลเนอร์ เหมือนกับอดีตผู้นำ SPDC อย่างตานฉ่วย หรือมิน อ่อง ลาย ผู้นำ SAC ในปัจจุบัน นอกจากนี้ หากพิจารณากันแบบ “กลางๆ” แล้ว แม้ยุคของเต็ง เส่ง จะห่างจากคำว่าประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ทั่วโลกก็ให้การยอมรับว่านี่คือช่วงเวลาเกือบ 5 ปี ที่ดีและสงบสุขที่สุดเท่าที่พม่าเคยมีมานับตั้งแต่ได้เอกราชเมื่อ 76 ปีที่แล้ว จึงไม่น่าแปลกที่หลายประเทศมอง เต็ง เส่ง คล้าย “กาวใจ” และอาจจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาเป็นตัวกลางเจรจา เพื่อนำไปสู่สันติภาพ จีนจึงให้ความสำคัญกับเต็ง เส่ง เป็นพิเศษ และเปิดโอกาสให้พบกับหวังยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศ ข่าวลือจากปักกิ่งชี้ชัดว่ารัฐบาลจีนพยายามเจรจากับเต็ง เส่งเพื่อบอกให้มิน อ่อง ลาย ลาออก และเปิดโอกาสให้ผู้นำคนอื่นๆ ขึ้นมาบริหาร SAC แทน
ในช่วงใกล้ๆ กัน โซวิน ผู้นำเบอร์ 2 ของ SAC ก็เดินทางไปเยือนจีน ด้วยเทียบเชิญจากรัฐบาลปักกิ่งเช่นเดียวกัน สำหรับกรณีของโซวิน หัวข้อการเจรจาอาจจะใกล้ตัวมากกว่าเต็ง เส่ง หนึ่งในเรื่องที่จีนรู้สึกเป็นกังวลมากกับพม่าคือ ธุรกิจจีนเทา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และธุรกิจผิดกฎหมายทั้งหลาย ที่กระทบความมั่นคงชายแดนของจีนอย่างมาก แม้ว่าจีนจะพยายามปราบปรามเรื่องเหล่านี้โดยใช้วิธีของตนเอง อย่างที่เราเห็นในกรณีของเล้าก์ก่ายมาแล้ว แต่ปัญหาที่นักธุรกิจจีนเข้าไปทำธุรกิจผิดกฎหมายในพม่า โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่รัฐบาล SAC เองก็ไม่สามารถควบคุมได้ ก็ยังเป็นปัญหาที่จีนยังแก้ไม่ตก การไปเยือนจีนในเวลาไล่เลี่ยกันของทั้งเต็ง เส่ง และโซวิน ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าจีนยังให้ความสำคัญกับรัฐบาล SAC ในขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณออกไปชัดเจนว่าอยากให้ผู้นำคนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทนมิน อ่อง ลาย
คำถามที่มีผู้ถามผู้เขียนบ่อยครั้งคือ เหตุใดจีนจึงไม่ปลื้มมิน อ่อง ลาย? อย่างที่ทราบกันดีว่าจีนชื่นชอบผู้นำประเทศที่ออกไปในทางเผด็จการ เพราะพูดคุยค่อนข้างง่าย และไม่ติดกรอบคิดแบบตะวันตก แต่สำหรับมิน อ่อง ลาย แล้ว จีนไม่สามารถควบคุมได้ ตั้งแต่รัฐประหาร 2021 มิน อ่อง ลาย ไม่เคยไปเยือนจีน ผู้นำของจีนที่มีโอกาสได้เจอมิน อ่อง ลาย มีเพียง ฉินกัง (Qin Gang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน (ในขณะนั้น) ในเดือนพฤษภาคม 2023 ในปลายปีเดียวกัน ก็ได้พบหวังเสี่ยวหง (Wang Xiaohong) รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ว่ากันว่าการพบกันระหว่างรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องตำรวจของจีน กับผู้นำของ SAC ก็เพื่อพูดคุยเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐฉานเหนือ ซึ่งจีนพยายามเป็นตัวกลางเจรจาให้เกิดการหยุดยิง
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เคยเยือนเนปยีดอ อย่างเป็นทางการก่อนเกิดรัฐประหารราว 1 ปี แต่หลังรัฐประหาร ผู้นำของทั้งสองประเทศก็ไม่เคยพบปะกันอีกเลย ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับจีนนั้น หากสรุปสั้นๆ ก็คือทุกอย่างดูเหมือนจะปกติ แต่ในความเป็นจริงห่างไกลจากความปกติเป็นอย่างมาก ในสัปดาห์หน้า เราจะมาวิเคราะห์กันต่อว่าท่าทีของจีนที่จะมีต่อพม่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าล่าสุด เมื่อมิน อ่อง ลาย เพิ่งแต่งตั้งตัวเองให้เป็นประธานาธิบดีรักษาการ