แอมเนสตี้เผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ปี 2559 เผยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกยังถูกคุกคาม

นางปิยนุช โคตรสาร

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (เอไอ) หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2559/2560 ซึ่งรวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2559 โดยให้ภาพรวมห้าภูมิภาคและข้อมูลของแต่ละประเทศทั้งหมด 159 ประเทศ ที่ชี้ให้เห็นว่าการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็งในทุกมุมโลก โดยที่ประเทศไทยมีนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นตัวแทนมอบรายงานพร้อมทั้งข้อเรียกร้องถึงทางการไทย โดยมีนายณัฐภาณุ นพคุณ ผู้อำนวยการกองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานฉบับดังกล่าว

นางปิยนุช เปิดเผยว่ารายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกยังคงถูกคุกคามอย่างหนักจากกการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงถูกข่มขู่ทั้งในกัมพูชา พม่า มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ รวมทั้งมีการใช้กฎหมายใหม่และกฎหมายที่มีอยู่เพื่อเอาผิดทางอาญากับการแสดงออกอย่างสงบ

“รัฐบาลพุ่งเป้าโจมตีนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม เป็นการส่งสัญญาณเตือนไม่ให้คนแสดงความคิดเห็นต่าง ประชาชนทั้งในมาเลเซีย พม่า ไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาว ถูกคุกคาม ถูกจับกุมและดำเนินคดีเพียงเพราะการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ”

สำหรับประเทศไทย ในรายงานระบุถึงการปราบปรามอย่างต่อเนื่องต่อการแสดงความเห็นต่างอย่างสงบยังดำเนินต่อไปภายหลังรัฐประหารปี 2557 ทำให้เกิดสภาพที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ทางการอย่างเปิดเผย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาเนื่องจากการเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ หรือเนื่องจากการทำงานสนับสนุนบุคคลและชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รัฐบาลยังคงสั่งห้ามการอภิปรายก่อนจะมีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีที่มีประชาชน 10 กว่าคนที่แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทางเฟซบุ๊กเป็นเหตุให้พวกเขาถูกควบคุมตัวหรือถูกตั้งข้อหา และอาจได้รับโทษจำคุกถึง 10 ปีตามคำสั่งเผด็จการฉบับใหม่ของรัฐบาล

Advertisement

แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติการโจมตีการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเรียกร้องเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายหยุดใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อปราบปรามบุคคลที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบโดยทันที

“รัฐไทยต้องให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศที่ปลอดภัยและหนุนเสริมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่นๆ ในภาคประชาสังคม” ปิยนุชกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image