คอลัมน์ People In Focus: เมห์ริบัน อลิเยวา รองปธน.ควบสตรีหมายเลขหนึ่ง

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อิลฮัม อลิเยฟ ประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจานแต่งตั้ง เมห์ริบัน อลิเยวา สตรีหมายเลขหนึ่ง ให้เป็นรองประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน “คนแรกของประเทศ”

“เธอเป็นมืออาชีพ มีการศึกษา มีประสบการณ์ มีหลักการ และใจกว้าง” อลิเยฟกล่าวต่อที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ

อลิเยวาในวัย 52 ปี เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก “พรรคเยไนอาเซอร์ไบจาน” พรรครัฐบาล และเป็นประธาน “มูลนิธิเฮย์ดาร์ อลิเยฟ” มูลนิธิอันทรงอิทธิพล ที่ตั้งชื่อตามอดีตประธานาธิบดี

ผู้ล่วงลับ และพ่อสามีของอลิเยวา

Advertisement

อลิเยวาผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา เกิดในครอบครัวอันทรงอิทธิพลของประเทศ ถูกมองว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากสามี ที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากบิดาที่เสียชีวิตลงเมื่อปี 2546

เอกสารลับทางการทูตของสหรัฐอเมริกาที่เปิดเผยโดย “วิกิลีก” เมื่อปี 2553 ระบุว่า อลิเยวารักความหรูหรา เรียกได้ว่าเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งแฟชั่น และดูเหมือนว่าจะทำศัลยกรรมพลาสติกที่ต่างประเทศด้วย

อลิเยวาที่มีลูกสาว 2 คน ลูกชาย 1 คน และหลานอีก 4 คน เคยได้รับการฝึกฝนเป็นจักษุแพทย์ เคยผ่านการทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ มุมมองหลักจริยธรรมของการ “การุณยฆาต” ก่อนที่เมื่อปี 2547 อลิเยวาได้รับการแต่งตั้งเป็น “ทูตสันถวไมตรี” ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกด้วย

Advertisement

การแต่งตั้งอลิเยวาเป็นรองประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซอร์ไบจาน มีขึ้นหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นผลมาจากการจัดการลงประชามติที่จัดขึ้นอย่างเข้มงวดเมื่อปี 2558 โดยมีการเพิ่มตำแหน่งรองประธานาธิบดีอันทรงอิทธิพลขึ้นมาอีกหนึ่งตำแหน่ง

ย่างก้าวดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากพรรคฝ่ายค้านที่ระบุว่า การดำรงตำแหน่งใหม่ของสตรีหมายเลขหนึ่งนั้น “ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย”

“สิ่งนี้ทำให้อาเซอร์ไบจานถอยหลังไปสู่ยุคกลาง เป็นช่วงเวลาการปกครองแบบฟิวดัล” ไอซา แกมบาร์ จากพรรคมูซาวัตระบุ และว่า การปกครองโดยครอบครัวนั้นล้าหลังในยุคศตวรรษที่ 21 นี้

ประธานาธิบดีอิลฮัม อลิเยฟ วัย 55 ปี ก้าวขึ้นสู่อำนาจเป็นสมัยที่ 3 ดำรงตำแหน่งต่ออีก 5 ปีในการเลือกตั้งเมื่อปี 2556 ยืดเวลาการปกครองของครอบครัว “อลิเยฟ” ต่อเนื่องออกไปและอาจก้าวไปถึงปีที่ 30 ได้

ผู้สนับสนุนชื่นชมครอบครัวอลิเยฟ ในการเปลี่ยนแปลงประเทศที่เคยถูกมองว่าเป็นสาขาของสหภาพโซเวียต ไปสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานไปยังภูมิภาคยุโรป ทว่าฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ระบุว่า ครอบครัวอลิเยฟทำลายฝั่งตรงข้ามทางการเมืองทั้งหมด และใช้อำนาจในการสร้างความร่ำรวยให้กับประธานาธิบดีและครอบครัว

ขณะที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ แสดงความกังวลถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศ จากการกวาดล้างผู้วิพากษ์วิจารณ์ส่งผลให้มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้สื่อข่าวถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image