‘เวียดนาม’ โหยหาสิ่งนี้! นักวิชาการ เมาธ์เคล็ดลับที่ไทยไม่ทำ ‘เอาตัวเองไปหาแสง’ เป็นไผ่ลู่ลมแต่ไม่ตามน้ำ
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ห้อง LA201 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนาวิชาการ “Reviewing The Cold War in The Present Context: ทบทวนสงครามเย็น กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบริบทปัจจุบัน”
บรรยากาศเวลา 09.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ ‘สงครามร้อนในสงครามเย็น : การเมืองแบบสงครามเย็นในยุคหลังสงครามเย็น’ โดย รศ.ดร.ธนนันท์ บุ่นวรรณา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น, รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. และ ผศ.ดร.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มธ. ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มธ.
ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.มรกตวงศ์กล่าวว่า ถ้าพูดถึงสงครามเย็นในอุษาคเนย์ ในอดีตมักถูกพูดถึงในแง่ที่ว่า เราเป็นสงครามตัวแทนของขั้วอุดมการณ์ที่แตกต่างจากนั้น เท้าความย้อนไปถึงสงครามเย็น โดยชี้ว่า นักประวัติศาสตร์ในยุคแรกๆ ชาวอเมริกันที่เขียนเรื่องสงครามเย็น มักนิยามว่า สงครามเย็น คือ ‘สันติภาพอันยาวนาน’ (Long Peace) ที่ชะลอการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของ 2 ขั้วมหาอำนาจในเวลานั้น
แต่ต่อมา ก็มีการตั้งคำถามถึงนิยามสงครามเย็น ว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือ นักประวัติศาสตร์ที่ทำงานด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็ตั้งคำถามว่า มันคือสงครามเย็นที่เกิดขึ้นในระดับโลก ไม่ใช่ Long Peace แต่มันคือ Hot War ซึ่งเทรนด์ในการศึกษาระยะหลังๆ ตั้งคำถามว่า หรือจริงๆ แล้วเรา (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) คือคนที่โดนผลกระทบเต็มๆ เพราะมีคนตายเป็นล้านๆคน ทำไมเราไม่ลองมองแบบคนเอเชียฯใต้ หรือคนที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก
ดังนั้น ถ้าเรามานั่งพิจารณาใหม่ สงครามเย็น มันคือสงครามในรูปแบบไหนกันแน่ ถ้าพูดถึงในอดีต มันคือ ‘การแข่งกันระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ’ คือ จีนและโซเวียต ปัจจุบันมันเป็นการสู้กันระหว่าง จีนและอเมริกาก็จริง แต่เทรนด์ศึกษาใหม่ พยายามพูดถึงการอิงอยู่บนหลายขั้ว ใช้การบาลานซ์หลายขั้วเข้าสู้ เพื่อไม่ให้เอนไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
ผศ.ดร.มรกตวงศ์กล่าวต่อว่า สงครามเย็น มองได้จาก 2 ระดับคือ 1.มองลงมา และ 2.มองขึ้นไป โดยหากมองขึ้นไปว่าเกิดอะไรขึ้นในระดับล่าง จะพบว่า คนส่วนใหญ่จากภูมิภาคเอเชียฯ ได้รับผลกระทบจากข้างบน สิ่งที่เห็นชัดเจนในอดีต คือ 1.การเลือกฝักฝ่าย ซึ่งประเทศที่ประกาศว่าไม่ฝักฝ่ายใด เอาเข้าจริงแล้วทำได้จริงหรือเปล่า บาลานซ์ตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน 2.ลักษณะที่สำคัญ เราอนุญาตให้กำลังทหารเข้ามาในภูมิภาค ตั้งฐานทัพไทย เรามีสนามบิน จากการที่กองทัพอเมริกา เข้ามาตั้งฐานทัพ แต่ถ้าเราพูดถึง New Cold War การให้ทหารเข้ามามีบทบาท ตั้งกองทัพ มันยังมีรูปแบบนี้อยู่ไหม ทุกวันนี้เราไม่อนุญาตให้เข้ามาทำแบบนั้นให้เอเชียฯใต้ แล้ว แต่มันเป็นไปในลักษณะ การเข้ามาขยายอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือการพยายามแบทเทิลเพื่อรักษาอิทธิพลของตัวเอง
“มองจากข้างบน ก็มักจะเล่าแบบเดิมคือ รัฐบาลมนยุคนั้นของแต่ละประเทศ เท่ากับหุ่นเชิดของมหาอำนาจ หรือเอาเข้าจริงเป็นเพียงแค่ เอเยนต์ ที่รับวิธีคิดมาเท่านั้น แต่ความจริงแล้วฉลาดจะตาย เลือกใช้ประโยชน์จากมหาอำนาจ อย่างไทยชัดมาก มีรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหุ่นเชิดอเมริกาหรือไม่? ก็น่าจะไม่ ถ้าไปศึกษา เราข้อตกลง มีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างกันอยู่” ผศ.ดร.มรกตวงศ์กล่าว
ผศ.ดร.มรกตวงศ์กล่าวต่อว่า ขณะที่มองจากล่างขึ้นไป สงครามเย็นจบแล้วหรือยังไปต่อ ยังมีบาดแผลที่เป็นมรดกอยู่หรือเปล่า, ในแง่ความทรงจำระหว่างคนกับรัฐนั้น มันลงตัวแล้วหรือยัง?
จากนั้น ผศ.ดร.มรกตวงศ์หยิบยกหนังสือ สงครามเย็นในแบบอื่น ‘The other Cold War‘ ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงจุดเริ่มต้นของการพูดถึง สงครามเย็นในมุมมองจากคนข้างล่างเป็นเล่มแรกๆ โดยชี้ให้เห็นตัวอย่างหนึ่งในหนังสือที่เล่มนี้เล่าเรื่อง พี่น้องในครอบครัวหนึ่งเลือกเชื่อคนละอุดมการณ์ พูดง่ายๆ เหมือน ซ้าย กับขวา แม้จะจบสงครามเย็นแล้ว พี่ชายอยู่ฝ่ายซ้ายถึงเจอน้องแต่ไม่สามารถทำพิธีส่งให้น้องได้เพราะว่าน้องอยู่ฝ่ายขวา ซึ่งยังเป็นบาดแผลมายาวนาน
จากนั้นเปิดภาพ ‘ทุ่งไหหิน’ ที่เชียงขวาง ประเทศลาว ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ แต่หากมองลงไปข้างล่างคือ หลุมระเบิด ปัจจุบันคนลาวยังมีการติดป้ายว่า ‘สถานกอบกู้ระเบิด’
“เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนมากของสิ่งที่หลงเหลือจากสงครามเย็น มาจนถึงยุคปัจจุบัน ระเบิดจำนวนมหาศาลยังอยู่ในลาว ระเบิดที่ยังไม่ระเบิด ยังมีคนที่ไปเก็บซาก คนลาวก็ยังตายอยู่ ถ้าเดินไม่ดี เขาต้องเสี่ยง เป็นมรดกจากสงครามเย็น”
พร้อมตั้งคำถามว่า มรดกสงครามเย็น ที่แท้คืออะไรกันแน่ มีการตั้งคำถามว่า เอาเข้าจริงแล้วมี 2 ขั้วหรือมากกว่านั้น
“มันมีความพยายามบาลานซ์ กับประเทศใหญ่ประเทศอื่น นอกเหนือจาก 2 มหาอำนาจด้วย ปัจจุบันเน้นเรื่อง ผลประโยชน์เป็นหลัก ซึ่งยังเป็นที่มาของ ‘เวียดนาม’ รวมทั้งหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฯ ที่พยายามรักษาความเป็นกลาง ทำไมเวียดนามพยายามพูดถึงสิ่งนี้ และใช้นโยบายไผ่ลู่ลม เพราะเขาได้รับบทเรียนการเลือกข้าง ว่าอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด”
ผศ.ดร.มรกตวงศ์กล่าวต่อว่า หนี่งในมาตรการในการรักษาความเป็นกลาง ในกระทรวงการต่างประเทศ พูดเลยว่า ต้องใช้ 1. ‘มาตรการเชิงรุก’ เข้าไปทำการทูตอย่างต่ำ 50-70 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่เขาสถาปนาไว้ว่าจะทำความสัมพันธ์ทางการทูต
2.ไผ่ลู่ลมของเวียดนาม ไม่เหมือนไทยแน่นอน ไทยเอาตัวรอดไปตามน้ำ แต่ของเขาบอกว่า เป็น Proactive engagement ฉันต้องจัดการ พุ่งไป ไม่รอ เอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง
เห็นได้จากการที่เปิดบ้านต้อนรับผู้นำทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ (วันที่ 10-11 ก.ย. 2566 ) และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน (12-13 ธ.ค.2556, ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ( 20-21 มิ.ย. 2567) เป็นต้น
“พูดบ้านๆ คือ เอาตัวเองไปหาแสง การที่เวียดนามเสนอตัวเองเป็นตัวกลาง ในการเชิญประธานาธิบดี ของมหาอำนาจ มาประชุมกัน ซึ่งไทยไม่ทำ เป้าหมายของเวียดนาม คือ ต้องการยกระดับตัวเองเป็น Middle personal power ประเทศมีอำนาจในภูมิภาค ซึ่งเขาเองโหยหามาตลอด พยายามเอาตัวเองเข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือต่างๆ” ผศ.ดร.มรกตวงศ์กล่าว
ผศ.ดร.มรกตวงศ์ระบุว่า อีกลักษณะ ถ้ามองเวียดนามในปัจจุบัน แนวคิดสังคมนิยม แทบจะเบาบางพอสมควร จริงๆ แล้ว เขาวางยุทธศาสตร์หลัก 4 ข้อ คือ
1.การหาประโยชน์เพื่อเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก ค้าขายได้ทั่วโลก เราจึงเห็นเวียดนามเป็นดาวรุ่งอย่างมาก
2.Direct Engagement เอาตัวเองเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์โดยตรง
“เรารู้ว่าเวียดนามมีปัญหากับจีน ในกรณีทะเลจีนใต้ แต่เขายังมีการรักษาความสัมพันธ์กันอยู่ในระดับทั้ง 2 พรรค เพื่อที่เขาหวังว่าจะลดความตึงเครียดกรณีจีนใต้ได้ อย่างน้อยก็น่าจะคุยกันรู้เรื่อง” ผศ.ดร.มรกตวงศ์กล่าว และว่าคำถามต่อมาคือ ‘เวียดนาม’ จะบาลานซ์ความสัมพันธ์กับจีนได้แค่ไหน อย่างที่เราเห็น จีนลุกคืบลาว
- Hard Balancing สร้างความเข้มแข็งทางกองกำลัง
“ขณะเดียวกัน สร้างความเข้มแข็งทางกองทัพไว้ เพื่อเป็นการขู่ไว้ ถึงแม้จะใกล้ชิดกัน เป็นคู่ค้า แต่เราก็มีกำลังการทหารนะ” ผศ.ดร.มรกตวงศ์กล่าว
4.Soft Balancing ใช้ยุทธศาสตร์เอาตัวเองเข้าไปปฏิสัมพันธ์ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ให้ค่ากับมหาอำนาจ อย่างที่เห็นชัดเจน เช่น อเมริกา
“อย่างเช่นการส่งคนไปเรียนที่อเมริกา เพื่อกลับเข้ามาเป็นบุคลากร ที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองและการพัฒนาระหว่างประเทศ กับมหาอำนาจ เป็นต้น” ผศ.ดร.มรกตวงศ์กล่าว