ดุลยภาค สกัดประเด็นเข้ม รีวิว ‘มรดกหลังสงครามเย็น’ มองอำนาจอีลิท ‘เอเชียอาคเนย์’ สืบต่อหรือล่มสลาย?

ดุลยภาค สกัดประเด็นเข้ม รีวิว ‘มรดกหลังสงครามเย็น’ มองอำนาจอีลิท ‘เอเชียอาคเนย์’ สืบต่อหรือล่มสลาย?

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ห้อง LA201 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนาวิชาการ “Reviewing The Cold War in The Present Context: ทบทวนสงครามเย็น กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบริบทปัจจุบัน”

บรรยากาศเวลา 09.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ ‘สงครามร้อนในสงครามเย็น : การเมืองแบบสงครามเย็นในยุคหลังสงครามเย็น’ โดย รศ.ดร.ธนนันท์ บุ่นวรรณา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น, รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. และ ผศ.ดร.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มธ. ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มธ.

Advertisement

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ตนขอสกัดประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ที่เกี่ยวกับการทบทวนสงครามเย็นแล้วมันมันมีมรดกตกทางทางประวัติศาสตร์ที่ส่งแรงกระเพื่อมสืบเนื่องมาถึงอุษาคเนย์ในปัจจุบัน

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวต่อว่า เรื่องแรก คือ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งในช่วงสงครามเย็นสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งพันธมิตรและบริวารต่างต่อสู้กันในหลายภูมิศาสตร์รอบโลก 1 ในนั้นคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Advertisement

“มันเกี่ยวกับทฤษฎี Heartland และ Rimland ที่น่าสนใจนั่นก็คือว่า ย้อนกลับไปเมื่อก่อนยุคสงครามเย็นปี 1904 มีบทความหนึ่งของ เซอร์ ฮัลฟอร์ด แม็กคินเดอร์ นักภูมิประวัติศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษ เขียนเรื่องดินแดนที่เป็นแกนกลางทางภูมิศาสตร์โลก คือ ทุ่งหญ้าสเตปป์ บริเวณส่วนใหญ่ของรัสเซีย และเอเชียกลาง เป็นจุดสุดยอดในทางยุทธศาสตร์ เป็นจุดที่ปลอดภัยจากการบุกรุกทางทะเล แล้วก็สามารถสร้างทางรถไฟเป็นเส้นทางการลำเลียงอาหาร ยุทธปัจจัย สร้างกองทหารเข้ามาเสริมสร้างพลังอำนาจได้

หลังจากนั้น ก็มีการตีความเรื่องนี้ของ 2 สำนัก คือ สำนักแม็กคินเดอร์ และระยะต่อมามีสายสปีกแมน นักยุทธศาสตร์ชาวอเมริกาก็พูดเหมือนกันว่า มีอีกดินแดนเหมือนกันที่อยู่ใกล้ทะเลที่ว่า ประเทศมหาอำนาจใดที่ครอง Rimland ได้ ก็จะสามารถครองโลกได้ และก็มีนักวิชาการหลายท่านตีความหมายกันว่า ใครที่ได้ครอบครองหัวใจแห่งยูเรเซียตามหลักคิดของแม็กคินเดอร์ ก็จะสามารถครองโลกได้เช่นกัน” รศ.ดร.ดุลยภาคชี้

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า พอช่วงสงครามเย็นก็เกิดการแย่งชิง Heartland และ Rimland กัน ระหว่างสหรัฐกับโซเวียต ซึ่งมีบทความในปี 1947 พูดถึงศัตรูอันร้ายกาจของสหรัฐอเมริกา ที่อยู่ในภาคพื้นดินยูเรเซีย คือ สหภาพโซเวียต แล้วสิ่งที่ทำให้อเมริกาตกใจว่าเป็นบ่อเกิดที่ช่วยกระตุ้นได้ดี คือ Containment Policy นโยบายปิดล้อมตรึงคอมมิวนิสต์ให้อยู่กับที่ตามลัทธิทรูแมน อดีตประธานาธิบดี

“ตอนนั้นพื้นที่สมรภูมิปะทะทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่าง 2 อำนาจยักษ์ใหญ่ในยุคสงครามเย็น มันหรือไม่พ้นการวิเคราะห์เรื่อง Heartland กับ Rimland ซึ่ง ในเรื่อง Heartland แม็กคินเดอร์พูดถึงเรื่องพื้นทราพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว พื้นที่บนบกอยู่แกนกลางยูเรเซีย มันหมายถึง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และพระจันทร์เสี้ยวขอบนอก คือ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

เกิดการตั้งข้อสังเกตในมุมที่ว่า จุดที่มันทะเลาะเบาะแว้งกันในยุคสงครามเย็นส่วนใหญ่อยู่ในพระจันทร์เสี้ยวรอบนอก ซึ่งมันอยู่ใกล้ Heartland และส่วนหนึ่งของ Rimland ด้วย ส่วนหนึ่งอเมริกาขนกองทัพเข้ามาในแถบนี้ สร้างฐานทัพในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกิดสงครามในคาบสมุทรอินโดจีน และ สหภาพโซเวียตก็เข้ามาในเวียดนามเหนือ ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่าง Land Power (พสุธานุภาพ) กับ สมุททานุภาพ มันยำกันชุดใหญ่ที่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพระจันทร์เสี้ยว ตามทฤษฎี Heartland ของแม็กคินเดอร์ และ ส่วนหนึ่งของ Rimland ตามทฤษฎีของสปีกแมน” รศ.ดร.ดุลยภาคระบุ

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า หลังสงครามเย็นล่มสลาย และ สหภาพโซเวียตล่มสลาย ถามว่าสิ่งเหล่านี้ยังหลงเหลืออยู่หรือไม่ มันยังคงมีร่องรอยอยู่ เพราะการที่สหรัฐอเมริกาเข้าปิดล้อมคอมมิวนิสต์มันเปลี่ยนเป็นการปิดล้อมจีน แต่สไตล์ปิดล้อมกลายมาเป็นการตั้งฐานทัพมาเป็นการกระชับวงล้อม จากพลังบนคาบสมุทรที่สหรัฐมีอยู่ มันก็เป็นความสืบเนื่องเหมือนกัน ตนคิวว่ามันเป็นเรื่องที่น่ามอนิเตอร์อยู่มาก

“ยุคสงครามเย็นสหรัฐอเมริกายังมีการขึงโซ่ทางยุทธศาสตร์ เข้ามาทางคาบสมุทรแปซิฟิก เข้ามาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราต้องสร้างฐานทัพเรือ กระโจนเข้ามาในสงครามอินโดจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการวางกำลังส่วนหน้าขึงเข้ามา ซึ่งตอนนี้สหรัฐยังมีการขึงสายโซ่ทางยุทธศาสตร์อยู่เลย เช่น การขยายฐานกำลังในคาบสมุทรแปซิฟิก และทุกวันนี้จีนทำเช่นเดียวกันกับที่สหรัฐอเมริกาทำในการวางกำลังเส้นสายโซ่ยุทธศาสตร์เชิงป้องกัน และเชิงรุก” รศ.ดร.ดุลยภาคเผย

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ประเด็นที่สอง คือ ช่วงสงครามเย็นถ้าเรานับปี 1945-1947 และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ช่วงนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นช่วงสร้างรัฐและสถาปนาอำนาจรัฐสมัยใหม่ เช่น พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ การรวมเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ สปป.ลาวกำเนิดขึ้นมาในการยุติสงครามกลางเมือง และบรูไนได้รับเอกราช

“ผมว่าในทางการเมืองมันน่าสนใจ มีบทความที่ชี้ว่า แบ่งรัฐเอกราชในอุษาคเนย์ออกมาเป็น 3 ชนิด คือ โครงสร้างแบบปฏิวัติ โครงสร้างแบบพหุภาพ โครงสร้างแบบเต็มพิกัด (Maximum Government) มันน่าสนใจเหลือเกินว่าโครงสร้างเหล่านี้จุดเด่นคืออะไร ประเทศไหนจัดอยู่ในโครงสร้างแบบใดในช่วงสงครามเย็น” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวอีกว่า ตนอยากจะชี้ชวนคิดว่า 3 โครงสร้างนี้ปัจจุบันยังหลงเหลืออยู่ไหม เช่น โครงสร้างแบบเต็มพิกัด เคสของประเทศบรูไน หลงเหลืออยู่มาก ไม่เปลี่ยนแปลงนัก นับตั้งแต่ 1984 แต่สำหรับประเทศไทย มีคนพูดถึงระบอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็ไม่ได้เป็น Maximum Government มากนักเมื่อเทียบกับยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ ระบอบของพลเอกเนวิน ในประเทศเมียนมาร์

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ 3 คือ ตระกูลการเมือง ซึ่งในยุคสงครามเย็นเรามีเรื่อง Political family กันมาก พอมานั่งไตร่ตรองว่า ตระกูลทางการเมืองในวันนี้เหลืออยู่กี่ตระกูลที่เคยมีบทบาทในยุคสงครามเย็น และหลังสงครามเย็นยังมีบทบาทสืบต่อไป

“เราพูดง่ายๆว่า โครงสร้างสังคมเป็นแบบสามเหลี่ยมพีระมิด ประชาชนอยู่ด้านล่าง แล้วอีลิทหรือชนชั้นนำซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย อยู่บนชั้นยอดของพีระมิด ซึ่งมีก๊ก มีกลุ่มเครือต่างๆที่มีสายวงศ์ตระกูลคุมพลังอำนาจอยู่ พบว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสัมพันธ์ระหว่างอีลิทกับมวลชนแบบนี้อยู่ และในส่วนท็อปของพีระมิดก็จะมีไม่กี่วงศ์ตระกูลที่สำคัญ เช่น การเมืองไทยมีตระกูล ธนะรัชต์ คุมระเบียบการเมืองอยู่ด้านบน แต่มาวันนี้ไม่พบคนในตระกูลธนะรัชต์เลยที่มาเป็นใหญ่ในสนามการเมืองไทย หรือ แม้กระทั่งตระกูลพิบูลสงคราม หรือ พนมยงค์ จะหาอีลีทที่เข้าไปอยู่ในอำนาจระดับสูงทางการเมืองก็หาได้ยาก” รศ.ดร.ดุลยภาคระบุ

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า มันน่าคิดว่าตระกูลเหล่านี้ที่เคยเรืองรองในยุคสงครามเย็น ณ วันนี้ตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหน แต่เอาเป็นว่าระบบสฤษดิ์ ถนอม และประภาส ได้ล่มสลายไปแล้วจาก 14 ตุลาคม 2516 แต่มรดกของระบบสฤษดิ์มันยังอยู่ สิ่งที่เห็นชัด คือ รัฐประหาร 2549 กับ 2557 กระทำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

“มาวันนี้มรดกอีกชิ้นนงหนึ่งที่น่าจับตามอง คือ มูลนิธิบ้านป่ารอยต่อ อำนาจ 3 ป. หรือ บูรพาพยัคฆ์ ซึ่งเป็นทหารยุคสงครามเย็น แล้วก็ไปรบกับกัมพูชาคู่ปฏิปักษ์ เฝ้าระวังการรบเวียดนาม ฉะนั้นมรดกทางอำนาจของชั้นชั้นนำที่เป็นทหารยังมีชีวิตอยู่ แล้วคำพูดที่ว่า ‘old soldier never die’ ทหารแก่ไม่เคยตาย ก็น่าลุ้นว่าบิ๊กป้อมจะตายไหม หรือ จะสู้ต่อทางการเมือง” รศ.ดร.ดุลยภาคชี้

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ส่วนประเด็นสุดท้ายที่อยากฝาก คือ รูปแบบนโยบายต่างประเทศ ซึ่งคิดว่ามันน่าวิเคราะห์ เพราะนโยบายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอุษาคเนย์ในยุคสงครามเย็น ถ้าเราจัดประเภทจะได้ว่า เช่น นโยบายแบบอิสระแข่งขัน ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มันน่าตรวจสอบทานว่า นโยบายต่างประเทศแบบนี้มันยังคงอยู่คงเส้นคงวาหรือไม่ หรือ มีการกลายรูปแบบไปเป็นนโยบายอื่น

“นโยบายแรก คือ อิสระและแข่งขัน เราจะทรายดีว่าแก่นของนโยบายต่างประเทศอินโดนีเซีย คือ ไม่เลือกข้างระหว่างอเมริกา หรือ โซเวียต น่าตรวจสอบว่าตอนนี้ยังเป็นแบบอิสระและแข่งขันอยู่ไหม หรือ นโยบายการต่างประเทศของพม่าหลังรัฐประหาร เท่าที่ผมเช็กดูยังมีการพูดถึงอิสระแข่งขันและไม่เลือกข้างอยู่ แต่จีนเริ่มแผ่อำนาจมาบีบบังคับพม่าอะไรก็ว่ากันไป แต่รูปแบบมันยังเป็นแบบนี้” รศ.ดร.ดุลยภาคเผย

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ส่วนประเทศไทยเมื่อช่วงยุคสงครามเย็นเราอยู่ข้างสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ก็เลือกข้างสหรัฐ เวียดนามเหนือก็เอนมาทางสหภาพโซเวียต ซึ่งความน่าสนใจของกรณีเวียดนาม เมื่อเขาผ่านกระบวนการรวมชาติมาแล้ว กลับไม่มีนโยบายแบบเลือกข้างแล้ว แต่คิดว่าเวียดนามตอนนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง จีน สหรัฐอเมริกา และรัสเซียด้วย ซึ่งตอนนี้ก็น่าจะถ่วงดุลอำนาจได้อยู่ประมาณหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image