‘ไทยยังหาตัวตนไม่เจอ’ อาจารย์ มข. ลั่น ถ้าจะเป็นผู้นำต่อรอง ‘มหาอำนาจ’ จุดเด่นเราคือ?
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ห้อง LA201 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนาวิชาการ “Reviewing The Cold War in The Present Context: ทบทวนสงครามเย็น กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบริบทปัจจุบัน”
บรรยากาศเวลา 09.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ ‘สงครามร้อนในสงครามเย็น : การเมืองแบบสงครามเย็นในยุคหลังสงครามเย็น’ โดย รศ.ดร.ธนนันท์ บุ่นวรรณา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น, รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. และ ผศ.ดร.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มธ. ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มธ.
ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.ธนนันท์ กล่าวถึงสงครามเย็นก่อนโฟกัสไปยังนโยบายการต่างประเทศของ ‘เวียดนาม’ ที่ตกเป็นข่าวอย่างมาก กลายเป็นประเทศเนื้อหอม เพราะมีโอกาสได้ต้อนรับผู้นำหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ที่เข้ามาเยือนประเทศ และเวียดนามก็มีโอกาสไปเยือนจีนถึง 2 ครั้ง
“เราเห็นปรากฏการณ์การณ์นี้เป็นข่าวดังอย่างมาก สื่อพูดถึงเกรียวกราว น่าสนใจว่าทำไมปัจจุบัน เวียดนามถึงตัดสินใจต้อนรับขั้วมหาอำนาจ เราอาจต้องย้อนกลับมาดูบริบทหลังสงครามเย็น ที่บีบให้เวียดนามต่อเลือกข้าง ถ้าเราเข้าใจบริบทจะพบว่า ประเด็นที่น่าสนใจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีขบวนการต่อต้าน ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องการประกาศเอกราชนั้น ซึ่งเอเชียฯใต้ทำได้ เพียงแต่ไม่มีมหาอำนาจตะวันตกยอมรับ รวมถึง เวียดนามเช่นกัน ที่ฝรั่งเศสไม่ยอมรับ แต่โฮจิมินห์ ก็ยังเคยส่งโทรเลขไป หวังว่าจะเห็นใจเอเชียฯ ตะวันออกเฉียงใต้ และสนับสนุนเอกราช” รศ.ดร.ธนนันท์กล่าว
รศ.ดร.ธนนันท์กล่าวว่า นับเป็นเวลา 4-5 ปีกว่า ที่เวียดนามพยายามต่อสู้ทางการเมืองเป็นอย่างมากให้เกิดการยอมรับ การประกาศเอกราช โดยชาติแรกที่รับรองการประกาศเอกราชของเวียดนาม คือ ‘จีน’ เมื่อ 18 มกราคม 1950 แล้วหลังจากนั้นโซเวียต ก็รับรองตามมา ในเวลานั้นเวียดนามให้ความสำคัญกับนโยบายการต่างประเทศอย่างมาก ในลักษณะ เปิดกว้าง เป็น Bamboo ไผ่ลู่ลม
“ทำไมต้องเป็นคำว่า แบมบูแบบเวียดนาม ถ้าศึกษาจริงๆ จะเห็นว่าคอนเซ็ปต์ไม่ยาก โฮจิมินห์ สังคมนิยม ต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศ ‘เพิ่มมิตร ลดศัตรู’ เป็นคำที่โฮจิมินห์ ให้ความสำคัญอย่างมาก เขาไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใครด้วยซ้ำ ปัจจุบันพอเราเห็นทฤษฎีไผ่ลู่ลม ความจริงแล้ว คือ ‘ต้องการมีเพื่อนเยอะๆ’ จึงเป็นเหตุผลที่โฮจิมินห์พยายามควบ 2 ตำแหน่ง ซึ่งในปี 1975 คือวันที่รวมชาติได้สำเร็จ” รศ.ดร.ธนนันท์กล่าว
รศ.ดร.ธนนันท์ชี้ว่า อีกปัจจัยที่สำคัญ ภายใต้ประเทศที่อยู่ใต้การปกครองแบบสังคมนิยม ก็ยังมีการทะเลาะกันเอง อย่างในปี 1978 เวียดนาม มีปัญหากัมพูชา ที่เวียดนามเอาทหาร 200,000 นาย ไปบุกกองกำลังเขมรแดง ที่กรุงพนมเปญ ทำให้ไทยเป็นตัวตั้งตัวตีในการค้าน เพราะพรมแดนอยู่ติดกับไทย ทหารไทยในเวลานั้น ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงเกิดความรู้สึกว่าเวียดนามเป็นศัตรูหมายเลข 1 เพราะทหารส่วนใหญ่คือเวียดนาม ไม่ใช่กัมพูชา แต่ความจริงแล้วเวียดนามกับกัมพูชา ก็มีอุดมการณ์แบบเดียวกันคือสังคมนิยม เวียดนามในยุคนั้นก็สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลหุ่น ซึ่งเวียดนามก็ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ส่วน พลพต อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก็ได้รับการหนุนจากจีนด้วย
รศ.ดร.ธนนันท์กล่าวว่า ชายแดนเวียดนามกับกัมพูชานั้นติดกัน เรื่องอำนาจและดินแดนจึงเป็นเรื่องสำคัญ พอมีการขีดเส้นแบ่งเขตแดนชัดเจน แค่เพียงรุกล้ำเล็กน้อย ก็เกิดการปะทะได้แล้ว ต่างจากยุคโบราณ ทำให้เวียดนามกับกัมพูชา ขัดแย้งกันประเด็นปัญหากัมพูชา จะอยู่ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน แต่ล่าสุด ‘โต เลิม’ เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีเวียดนาม ไปเยือนที่เมืองกวางโจว ประเทศจีน ไป คารวะวีรชน และเยี่ยมชมสมาคมเยาวชนปฏิวัติเวียดนาม ที่นั่น พร้อมทั้งเขียนในบันทึก ตอกย้ำว่า ‘ความสัมพันธ์เป็นสหาย’ พี่น้องกับจีน
รศ.ดร.ธนนันท์กล่าวว่า ในเอกสารของจีนเอง หรือในโลกตะวันตก มักใช้วาทกรรมว่า ‘จีนสั่งสอนเวียดนาม’ กับ ‘พี่ใหญ่สั่งสอนน้อง’ แต่ขณะที่เวียดนามมองว่า ในครั้งนั้นเป็นการทำสงครามชายแดนเพื่อปกป้องชาติตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเทิร์นนิ่งพ้อยต์ที่ทำให้จีนมองเวียดนามเป็นศัตรูมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ 1979-1991 จึงส่งผลให้เวียดนามเกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายหลังยุคสงครามเย็น ที่น่าสนใจในช่วงที่มีประเด็นปัญหาดังกล่าว ก็มีการบันทึกจากไทยว่าในปี 1980 1982 และ 1984 เป็น 3 ครั้งที่ นักการทูตยุคสงครามเย็น ออกมาเป็นหนังหน้าไฟให้เวียดนามในเวลานั้น บอกว่าการที่เวียดนามเอาทหารบุกเขาไป เป็นเพราะว่ากัมพูชาขอให้ช่วย เพราะ ‘พลพต’ อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ทำไม่ดีกับประชากรกัมพูชา เขาพยายามปกป้อง (protect) เวียดนาม ซึ่งจุดยืนแต่ละคนไม่เหมือนกัน
“แต่ต่อมาในปี 1991 เกิดจุดเปลี่ยนที่เวียดนามกับจีน กลับมามีความสัมพันธ์กัน แต่ต้องบอกว่าการที่เวียดนามเลือกข้างในเวลานั้น เพราะปัจจัยทางการเมืองสำคัญมีผล ส่วนที่ต้องเปิดรับทุกประเทศ เพราะมองเห็นปัญหาว่า การอยู่ภายใต้ประเทศในอุดมการณ์สังคมเหมือนกัน ก็อาจจะไม่ได้เป็นผลดีเสมอไป” รศ.ดร.ธนนันท์กล่าว
ในช่วงท้าย รศ.ดร.ธนนันท์กล่าวอีกด้วยว่า จริงๆ แล้ว ตอนที่เวียดนามเลือกข้าง แต่ก็ยังมีประเทศหนึ่งที่ยังไปมาหาสู่ได้และเวียดนามยอมคุย ในขณะที่ประเทศอื่นไม่คุยกับเวียดนาม ซึ่งก็คือ ‘อินโดนีเซีย’ ซึ่งมีผู้นำระดับ รมว.ต่างประเทศของอินโดฯ ที่ไปเยือนหลังสงครามเย็น
“มันมีการส่งสัญญาณ เวียดนามยอมรับว่า โซเวียตคือเสาหลักแห่งนโยบาย ในเวลานั้นเวียดนามเริ่มประชุมผู้นำคอมมิวนิสต์ เมื่อโซเวียตส่งสัญญาณ เขาก็โอเค ยอมคุยกับจีนก็ได้” รศ.ดร.ธนนันท์ชี้
รศ.ดร.ธนนันท์กล่าวว่า หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย เวียดนามก็ปรับนโยบายการทูตใหม่ มีการประชุมพรรค ประกาศนโยบายว่าตัวเองต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศทุกมิติอย่างรอบด้านรวมถึงตะวันตกด้วย ฉะนั้น การส่งสัญญาณตัวนี้อะไรทำให้อเมริกาเริ่มคุยกับเวียดนามได้ เมื่อเวียดนามปรึกษาการทูตกับจีนครั้งแรกในปี 1991 เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เวียดนามกับอเมริกาฯ สถาปนาการทูตครั้งแรกในปี 1995 แต่ไม่ได้มาเจอหน้า คล้ายๆ กับการทำผ่านซูมในยุคนี้ ประเทศที่เรามองเป็นสงครามก็เปลี่ยนนโยบาย ของไทยเองก็นโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ ในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กระทั่งประเทศอื่นๆ เริ่มอ้าแขน ประเทศฝั่งอินโดจีนก็เริ่มมา มีการสร้างวาทกรรมในที่ประชุม ถึง 3-4 ครั้ง น่าสนใจตรงที่ ทำไมนโยบายการทูตเวียดนาม ถึงกล้าเปิดตัว หลายประเทศก็อธิบายว่าตัวเองเป็น แบมบู หรือ ไผ่ลู่ลม ซึ่งรวมถึงไทย แต่เป็นไผ่แบบไหน? รวมถึงตนเคยไปร่วมประชุมกับกระทรวงการต่างประเทศ ก็พูดกันว่า ทำไม 15 ปี อาเซียนถึงรวมกันไม่ได้ เพื่อรวมกลุ่มใช้เวทีอาเซียนเจรจากับมหาอำนาจ เราควรจะทำแบบนั้นแต่มันไม่เคยเกิดขึ้น
รศ.ดร.ธนนันท์กล่าวว่า ที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่วนตัวคิดว่า ตอนนี้เขาไม่รู้ว่าอาเซียนใครจะเป็นผู้นำในการไปเจรจากับมหาอำนาจได้ จริงๆ ไทยก็อยากเป็น แต่เหมือนยังหาตัวเองไม่เจอว่าจะเป็นแบบไหน การประกาศนโยบายแบบนี้ของเวียดนาม ไม่ได้ทำแค่ในระดับเดียว เมื่อประกาศแล้วสื่อก็รับต่อไปขยาย ทำให้ทั่วโลกเข้าใจว่า นี่คือการทูตของเขา ถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งในแง่ของรัฐ เขาก็มองว่าประสบความสำเร็จ หลายประเทศมาหาเขา นัดมาเจอกัน ที่สำคัญเมื่อประเทศมหาอำนาจมา ฝั่งอินโดจีนก็พยายามสร้างสัมพันธ์กับเวียดนาม อย่าง ลาว กับจีน ก็มาโดยทันทีทันใด
“แล้วเราจะทำอย่างไร ให้นโยบายการทูตเราโดดเด่น ว่านี่แหละคือไทย ตอนนี้ไทยต้องการเข้า 2 กรอบ กรอบหนึ่งคือ ‘อเมริกา’ เป็นผู้นำ อีกกรอบคือ ‘จีน เวียดนาม รัสเชีย’ แต่ไทยยังไม่ได้เข้าทั้ง 2 กรอบนี้ แต่ถ้ามองเวียดนามก็อาจจะเข้าได้เลยในกรอบแรก จะทำอย่างไรให้เราหาจุดเด่น ไปให้ถึงกรอบตรงนี้ ตกลงนโยบายเราจะเป็นอย่างไร จะไปทางไหน เราอยากบาลานซ์ เปิดฟรีวีซ่า ท้ายที่สุดไทยจะกลายเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หรือไม่” รศ.ดร.ธนนันท์กล่าวทิ้งท้าย