คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: เดอะ เทล ออฟ ‘2 คิม’

ในทันทีที่ข่าว คิม จอง นัม เสียชีวิตอย่างพิสดารระหว่างถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปุตราจายา จากท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย สะพัดออกไป หลายฝ่ายรวมทั้งหน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา ก็ปักใจเชื่อทันทีว่านี่คือปฏิบัติการลอบสังหาร และชี้ด้วยว่ามีโอกาสมากถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเป็นผลงานการลงมือของมือสังหารของทางการเกาหลีเหนือ

ผลการตรวจพิสูจน์ “อาวุธสังหาร” ของทางการมาเลเซียที่ได้ข้อสรุปว่าเป็นผลมาจากสารเคมี “วีเอ็กซ์” สารเคมีมอมประสาทที่ส่งผลร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ในเวลาไม่กี่นาที เป็นเครื่องยืนยันสมมุติฐานดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

“วีเอ็กซ์” เป็นสารเคมีอันตราย สหประชาชาติจัดให้เป็น “อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง” และเป็นอาวุธเคมีที่ห้ามสังเคราะห์และผลิตเกินกว่า 100 กรัมต่อปี วีเอ็กซ์เป็นสารเคมีที่มีพิษสูงสุดในบรรดาสารเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทด้วยกัน (อาทิ มัสตาร์ด, ซาริน) หากสัมผัสผ่านผิวหนังในปริมาณเพียง 10 มิลลิกรัม ก็เสียชีวิตได้ทันที

เป็นที่รับรู้กันว่ามีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่มีสารเคมีชนิดนี้อยู่ หนึ่งคือสหรัฐอเมริกา อีกหนึ่งคือรัสเซีย ที่เหลือเป็นการลักลอบผลิตหรือสังเคราะห์ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก

Advertisement

การจัดหาสารวีเอ็กซ์จึงยากเย็นกว่าการว่าจ้างมือปืนรับจ้าง 3 คน 5 คน มากมายนัก

นั่นสะท้อนให้เห็นถึงว่าการลอบสังหารครั้งนี้มีเครือข่ายในระดับ “รัฐ” อยู่เบื้องหลัง ตอกย้ำความเป็นไปได้ของการที่เกาหลีเหนือเป็นผู้ลงมือลอบสังหารครั้งนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก

หลงเหลือเพียงคำถามที่ว่า “ทำไม” และ “ใคร” คือผู้ออกคำสั่งสังหารในครั้งนี้

แม้ว่าผู้สันทัดกรณีส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า เป็นไปได้ที่อาจมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานข่าวกรองหรือหน่วยงานทางด้านทหารของเกาหลีเหนือ “สั่งการ” ให้ปฏิบัติการในครั้งนี้เกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่าผู้ที่ออกคำสั่งสังหารในครั้งนี้ มีได้เพียงคนเดียวเท่านั้น นั่นคือ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ

ในระบอบรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ ที่ใช้การสืบทอดอำนาจทางสายเลือดอย่างเกาหลีเหนือ คำสั่งฆ่าคนในระดับ “พี่ชายต่างมารดา” ของผู้นำสูงสุด มีเพียง “ผู้นำสูงสุด” เท่านั้นที่ออกปากได้

ถ้าถามต่อว่า ด้วยเหตุผลใดถึงฆ่า เพียงย้อนกลับไปดูความเป็นมาของ “2 พี่น้องคิม” ก็สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากว่า

ในบรรดา “ทายาทตระกูลคิม” ทั้งหลายนั้น มีเพียง คิม จอง นัม รายนี้อีกเพียงรายเดียวเท่านั้นที่สามารถก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำเกาหลีเหนือได้อย่างชอบธรรม ไม่ว่าเจ้าตัวจะต้องการหรือไม่ก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ คิม จอง นัม จึงเป็นภัยคุกคาม และด้วยเหตุนี้ คิม จอง นัม จึงต้องตาย!

คิม จอง อิล อดีตผู้นำเกาหลีเหนือผู้ล่วงลับซึ่งครองอำนาจสูงสุดอยู่ระหว่างปี 1997 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2011 มี “ลูกชาย” ที่เป็นที่รับรู้ของสังคมเกาหลีเหนืออยู่เพียง 3 คน

คิม จอง นัม วัย 45 ปี เป็นลูกชายคนโต เกิดกับ “ภรรยาคนที่ 2” ชื่อ ซัง ฮเย ริม นักแสดงระดับหัวแถวของ “นอร์ธ โคเรีย ฟิล์ม สตูดิโอ” ในขณะที่ลูกชายอีก 2 คน เกิดกับภรรยาคนที่ 3 ของคิม จอง อิล ชื่อ โค ยอง ฮุย นักเต้นชาวเกาหลีที่เกิดในประเทศญี่ปุ่น คนพี่คือ คิม จอง ชอล ส่วนคนน้องคือ คิม จอง อึน

จอง นัม นั้นเชื่อกันว่าเกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1971 ไม่นานก่อนหน้าที่ผู้เป็นมารดาจะหย่าร้างกับ คิม จอง อิล เพราะ คิม อิล ซุง ผู้เป็นบิดาที่เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศอยู่ในเวลานั้น ไม่ชอบและไม่ยอมรับการใช้ชีวิตร่วมกันของคนทั้งสอง จอง นัม ถูกส่งไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนตั้งแต่ตอนนั้น

คิม จอง นัม เริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติในกรุงมอสโก ต่อด้วยการเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้ภาษาหลายภาษา ทั้งรัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ก่อนเดินทางกลับมาศึกษาต่อที่ “มหาวิทยาลัยคิม อิล ซุง” ในกรุงเปียงยาง เข้ารับราชการในกองทัพเกาหลีเหนือจนกระทั่งปี 1998 จึงปรากฏชื่อของเขารับหน้าที่ในตำแหน่งระดับสูงของกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ ที่ว่ากันว่าเป็นตำแหน่งสำหรับเตรียมความพร้อมเพื่อการเป็นผู้นำลำดับถัดไป

แต่เพียงไม่กี่ปีถัดมาชะตาของ คิม จอง นัม พลิกผันอย่างรุนแรงและเหลือเชื่อ เมื่อถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ในข้อหาเดินทางเข้าเมืองด้วยพาสปอร์ตปลอมของสาธารณรัฐโดมินิกัน ถูกคุมตัวเพื่อสอบปากคำอยู่นาน 3 วัน ปรากฏข่าวออกมาให้เฮฮาแกมประหลาดใจกันว่า จุดประสงค์ในการเดินทางไปญี่ปุ่นของว่าที่ผู้นำเกาหลีเหนือในครั้งนั้นเพราะ “อยากไปเที่ยวโตเกียว ดิสนีย์แลนด์”

เพื่อตอบแทนพฤติกรรมที่สร้าง “ความอับอาย” ของเขา คิม จอง อิล ส่งตัว คิม จอง นัม ไปใช้ชีวิตอยู่ในมาเก๊า ดินแดนจีนที่เคยอยู่ใต้อาณัติของโปรตุเกส จนกระทั่งถูกลอบสังหารในที่สุด

พฤติกรรมดังกล่าวทำให้ สถานะ “ทายาท” ของคิม จอง นัม สิ้นสุดลงโดยปริยาย แต่แทนที่ตำแหน่งดังกล่าวจะตกอยู่กับ คิม จอง ชอล กลับตกอยู่ในมือของน้องชายร่วมมารดาอย่าง คิม จอง อึน ลูกชายคนสุดท้องของ คิม จอง อิล

แท ยอง โฮ อดีตอุปทูตเกาหลีเหนือประจำกรุงลอนดอน ซึ่งแปรพักตร์ขอลี้ภัยเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา บอกว่า คิม จอง ชอล ไม่มีวันกลายเป็นคนที่ท้าทายอำนาจของ คิม จอง อึน เหตุผลเพราะไม่เพียงไม่สนใจในการเมืองเลยแม้แต่น้อย ยังถูกผู้เป็นพ่อมองว่าลูกชายคนกลางรายนี้ออก “ตุ้งติ้ง-เป็นอิสตรี” มากเกินไป

สิ่งที่ จอง ชอล รักและทำได้ดีเสียด้วยคือการเล่นกีตาร์ ชนิดที่คนที่ได้เห็นเขาเล่นถึงกับออกปากถามว่า นี่เป็นนักดนตรีอาชีพจากวงไหนกัน

เมื่อ คิม จอง อิล เสียชีวิตลง ตำแหน่งผู้นำสูงสุดจึงตกอยู่ในมือของ คิม จอง อึน ลูกชายคนสุดท้องโดยปริยาย

ในเวลาเดียวกัน เมื่อเทียบระหว่าง จอง นัม กับ จอง ชอล ฝ่ายแรกเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นผู้นำของ จอง อึน มากกว่ามากมายนัก

คิม จอง อึน เพิ่งอายุ 34 ปีในปีนี้ แต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศตั้งแต่อายุเพียง 28 ปี นับแต่นั้นมาก็สร้างชื่อในฐานะผู้นำเผด็จการที่ “เลือดเย็นที่สุด” และ “ไม่สามารถคาดเดาใดๆ ได้” มากที่สุดผู้หนึ่ง

ผู้สันทัดกรณีเกาหลีเหลือมองว่าการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดดังกล่าวตั้งแต่อายุยังน้อย และยังไม่ผ่านการ “บ่มเพาะ” เท่าที่ควรจากผู้เป็นบิดา ที่ไม่เคยคาดคิดว่าจำเป็นต้องมอบตำแหน่งให้ ส่งผลในทางจิตวิทยาอย่างสำคัญที่กลายเป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมในช่วงที่ผ่านมาของผู้นำเกาหลีเหนืออย่างชัดเจน

เงื่อนปมทางจิตวิทยาประการแรกที่ครอบงำจิตใจของ คิม จอง อึน ก็คือ ทำอย่างไรตนเองถึงจะสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าทรงคุณค่าต่อผู้อื่น จนควรได้รับความรัก ความเคารพ จนถึงระดับ “สักการะ” เหมือนผู้เป็นปู่อย่าง คิม อิล ซุง และผู้เป็นพ่ออย่าง คิม จอง อิล

ในอีกทางหนึ่ง จิตใจของผู้นำใหม่วัยเยาว์ก็เต็มไปด้วยความหวั่นกลัว เริ่มตั้งแต่การกลัวว่าจะไม่สามารถ “ทำได้” เหมือนที่ผู้เป็นพ่อและพ่อของพ่อทำไว้ เรื่อยไปจนถึงความหวาดระแวงว่าจะมีใครคนใดคนหนึ่ง “เหนือกว่า” ไม่ว่าจะด้านใดหรือด้านหนึ่ง ส่งผลให้คิม จอง อึน ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ทุกคน “กลัว” และ “สยบยอม”

ความต้องการได้รับการ “ยอมรับ” และ “หวั่นกลัว” ไปพร้อมๆ กันดังกล่าวนี้ ไม่จำกัดอยู่เพียงภายในประเทศ การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ไม่หยุดยั้งของเกาหลีเหนือก็เป็นการเรียกร้องความรักและความกลัวจากนานาชาติด้วยเช่นเดียวกัน

พฤติกรรมที่ คิม จอง อึน แสดงออกตลอดมาในช่วง 5 ปีเศษที่ผ่านมา ที่สะท้อนถึง “กรอบคิด” ดังกล่าวนี้มากที่สุดก็คือเหตุการณ์การกวาดล้างศูนย์กลางอำนาจครั้งใหญ่ของเกาหลีเหนือในห้วงเวลาดังกล่าว

การกวาดล้างในครั้งนั้น คนใกล้ชิดที่เคยเป็น “วงใน” ของผู้เป็นบิดาถูกจัดการจนหมดสิ้น ไม่เว้นแม้กระทั่ง จาง ซอง แต็ก อาเขยของ คิม จอง อึน เอง ที่ถูกประณามด้วยสารพัดข้อหา และถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในที่สุดในปี 2013

ทั้งๆ ที่ จาง ซอง แต็ก คือคนสำคัญที่หล่อหลอมความ คิด ความเป็นผู้นำให้กับ คิม จอง อึน มาโดยตลอดก็ตามที

รายงานข่าวบางกระแสที่ไม่อาจยืนยันได้ ระบุว่า เขาถูกประหารอย่างเหี้ยมโหดด้วยการโยนเข้าสู่กรงสุนัขหิวกว่า 100 ตัวด้วยซ้ำไป

ชาวเกาหลีแปรพักตร์รายหนึ่งเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ผู้ถูกประหารด้วยอีกรายก็คือ อาแท้ๆ ของ คิม จอง อึน ที่เป็นภรรยาของ จาง ซอง แต็ก นั่นเอง

คนอื่นๆ หนีไม่พ้นชะตากรรมทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ ฮยอน ยอง ชอล ผู้บัญชาการกองทัพเกาหลี ซึ่ง “ว่ากันว่า” ถูกยิงเป้าด้วยปืนต่อสู้อากาศยานจนร่างแหลกเละ ไม่มีชิ้นดี ด้วยเหตุผลที่ว่า “นั่งสัปหงก” ระหว่างที่คิมกล่าวสุนทรพจน์

คิม ชอล รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกิจการกองทัพบก และเป็นญาติของจาง ถูกบังคับให้เดินฝ่ากลางห่ากระสุนระหว่างการซ้อมยิงปืนครกด้วยกระสุนจริง และว่ากันว่า คนวงในในอดีตอีกรายถูกสังหารโดยการเผาทั้งเป็นด้วย “ปืนพ่นไฟ”

“เอ็นไอเอส” สำนักงานข่าวกรองของเกาหลีใต้สรุปรวมตัวเลขเจ้าหน้าที่ที่ถูกสังหารหรือปลดแล้วริบทรัพย์ระหว่างการ “กวาดล้าง” ครั้งนี้ว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงอยู่รวมทั้งสิ้น 70 คน

แอนโธนี ซาฮาเกียน เพื่อนสนิทเก่าแก่ของ คิม จอง นัม ที่กอดคอไปไหนมาไหนด้วยกันตั้งแต่อายุ 12-13 ปีเมื่อครั้งคิมเข้าเรียนที่โรงเรียนนานาชาติในนครเจนีวา และติดต่อไปมาหาสู่กันเรื่อยมาจนกระทั่งก่อนหน้าจะจบชีวิตลงอย่างพิสดารที่เมืองหลวงของมาเลเซีย ยืนยันไว้ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ เดอะ การ์เดียน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บอกว่า คิม จอง นัม ที่เขารู้จักในชื่อสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ลี” ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่น้องชายอย่าง คิม จอง อึน ก้าวขึ้นครองตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ

คิม กับ แอนโธนี ถกกันเรื่องคิม จอง อึน บ่อยครั้ง ทุกครั้งไม่เพียง จอง นัม จะแสดงให้เห็นว่าไม่สนใจที่จะครองอำนาจทางการเมืองเท่านั้น ยังแสดงความวิตกบางครั้งกับถึงหวาดกลัวว่าผู้เป็นน้องชายอาจคิดเอาว่าตนเองเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่ในอำนาจ และอาจเป็นที่มาของการถูกลอบสังหาร

“เขากลัว ไม่ใช่กลัวเป็นบ้าเป็นหลังอยู่ตลอดเวลา แต่หวาดระแวง เขา (คิม จอง นัม) ถือเป็นคนมีความสำคัญทางการเมืองของที่นั่น ถึงได้เป็นกังวลนัก”

แอนโธนีเชื่อว่าสิ่งที่ส่งผลอย่างมากต่อความเป็นความตายของ คิม จอง นัม ก็คือคำให้สัมภาษณ์ของเขาต่อ โยจิ โกมิ ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นผ่านอีเมล์ เมื่อปี 2011 ก่อนหน้าที่น้องชายจะขึ้นครองอำนาจเพียงไม่กี่เดือน ในอีเมล์ที่ติดต่อกันเป็นซีรีส์ในครั้งนั้น คิม จอง นัม ไม่เพียงวิพากษ์วิจารณ์การสืบทอดอำนาจทางสายเลือดของระบอบปกครองเกาหลีเหนืออย่างไม่เห็นด้วยเท่านั้น ยังพาดพิงถึงความไม่เหมาะสมในการเป็นผู้นำของน้องชายต่างมารดา และแสดงความเชื่อว่า ถ้าหาก จอง อึน ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “ผู้นำสูงสุด” รัฐบาลเกาหลีเหนือก็คงอยู่ได้อีกไม่นาน

โยจิ โกมิ ตีพิมพ์รายละเอียดของการสัมภาษณ์ออกมาเป็นหนังสือเล่มเขื่อง วางจำหน่ายในปี 2012 และเพียงเท่านั้นก็อาจเพียงพอต่อการออกคำสั่ง “ตาย” สำหรับ คิม จอง นัม ได้แล้ว

ลี เชิล วู ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรอง สภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า คิม จอง อึน มี “คำสั่งถาวร” ให้สังหารคิม จอง นัม นับตั้งแต่ขึ้นครองอำนาจแล้ว มือปืนลอบสังหารเกาหลีเหนือเคยพยายามลอบยิงเขาบริเวณบ้านพักที่มาเก๊า เมื่อปี 2011 ซึ่งส่งผลให้ คิม จอง นัม ต้องหนีออกมาพำนักอยู่ในสิงคโปร์ชั่วขณะหลังจากนั้น

ในปี 2012 สายลับเกาหลีเหนือที่ถูกทางการเกาหลีใต้จับกุมได้ ยอมรับว่าเคยเตรียมการบุกยิงเพื่อสังหาร คิม จอง นัม ขณะพำนักอยู่ในจีนเมื่อปี 2010

ลี เบียง โฮ หัวหน้าสำนักงานข่าวกรองเกาหลีใต้ ระบุว่า เมื่อเดือนเมษายน ปี 2012 ไม่นานหลังจากมีความพยายามลอบสังหารคิม จอง นัม อีกครั้ง คิม จอง นัม ส่งจดหมายฉบับหนึ่งถึงน้องชายต่างมารดา

“ได้โปรดละเว้นชีวิตฉันกับครอบครัวด้วย” คือสาระสำคัญของจดหมายฉบับนั้น ซึ่งไม่บังเกิดผลใดๆ ทั้งสิ้น

คิม จอง นัม ถูกคนร้ายกลุ่มหนึ่งที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีไม่น้อยกว่า 11 คน ลงมือสังหารอย่างอุกอาจที่ท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ ขณะจะเดินทางกลับมาเก๊า

ต่อไปนี้ ก็ไม่มีใครเป็นเสี้ยนหนามบนเส้นทางอำนาจของ คิม จอง อึน อีกต่อไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image