รายงานพิเศษ : บัวแก้วนำชาติสมาชิกโอไอซี ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

เมื่อช่วงวันที่ 13-19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะผู้แทนมิตรประเทศไทยในองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี และผู้แทนสำนักเลขาธิการโอไอซี ได้เดินทางเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพัฒนาการของการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทย

โอไอซีเป็นองค์การที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมุสลิม ประกอบด้วยสมาชิก 57 รัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นองค์การความร่วมมือที่เป็นปึกแผ่นของประชาชาติมุสลิมที่ประชาชนสามารถยืนหยัดได้อย่างมีศักดิ์ศรีทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน สืบเนื่องจากความเปราะบางทางการเมืองและการระหว่างประเทศในประชาชาติมุสลิม โดยไทยได้เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ของโอไอซีในปี 2551

ในห้วงเวลากว่า 13 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2547 ที่ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ของไทยได้ลุกลามบานปลายขึ้นรอบใหม่ สำนักเลขาธิการโอไอซีได้ให้ความสนใจติดตามและพยายามเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด และนับจากปี 2548 เป็นต้นมา ประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคใต้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศโอไอซีในหัวข้อ “สถานการณ์ของชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม” เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย ความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดำเนินการต่อเนื่องควบคู่กับความพยายามที่จะชี้แจงให้ต่างชาติเข้าใจถึงข้อเท็จจริงในพื้นที่ รวมถึงความพยายามของภาครัฐที่จะสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงของการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของไทยที่ประชาชนทุกศาสนาสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข โดยเฉพาะการยืนยันในหลักการที่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องภายในประเทศ และไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา

Advertisement
เยี่ยมชมสถาบันวัฒนธรรมศึกษา มอ.ปัตตานี
เยี่ยมชมสถาบันวัฒนธรรมศึกษา มอ.ปัตตานี

นายเกริกพันธุ์ ฤกษ์จำนง อธิบดีกรมเอเชียใต้ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะผู้แทนจากชาติสมาชิกโอไอซี ประกอบด้วย นาย Tawfeeq Al Mansoor เอกอัครราชทูตและอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศบาห์เรน นาย Jakhongir Ganiev เอกอัครราชทูต หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือกับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศอุซเบกิสถาน นาย Sunarko Warno Suwito อัครราชทูต รองหัวหน้าสำนักงานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ณ กรุงริยาด และนาย Shehryar Akbar Khan กงสุลใหญ่ปากีสถาน ณ เมืองเจดดาห์ เดินทางลงพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงอยุธยาและกรุงเทพฯ เพื่อให้คณะผู้แทนได้ไปเห็นสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่ด้วยตาตนเอง

คณะได้เดินทางไปยัง จ.ปัตตานี เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ซึ่งเป็นสถาบันการเรียนของรัฐที่สนับสนุนอิสลามศึกษามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยได้เยี่ยมชมสถาบันฮาลาล สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา และเยี่ยมชมวิถีชุมชนเมืองบริเวณตลาดถนนเจริญประดิษฐ์หน้า มอ.ปัตตานี ที่สะท้อนถึงการดำรงชีวิตแบบปกติสุขของผู้คนในจังหวัด

แลกเปลี่ยนความเห็นกับกอ.รมน.ภาค4
แลกเปลี่ยนความเห็นกับกอ.รมน.ภาค4

จากนั้นได้เดินทางไปยัง จ.ยะลา เพื่อเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน (ศพฐ.) 10 เพื่อรับทราบการทำงานตรวจพิสูจน์หลักฐานต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ตามมาตรฐานสากล และเดินทางไปรับฟังการบรรยายสรุปจาก นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จ.ยะลา ซึ่งได้พูดคุยถึงการที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดพื้นที่ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ขึ้นโดยขีดเส้นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่าง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ให้เป็นพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่นเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยฟาฏอนีซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและประเทศในตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และคูเวต เยี่ยมชมชุมชนบ้านทรายขาวซึ่งชาวไทยพุทธกับไทยมุสลิมอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง

Advertisement

ก่อนจะจบภารกิจที่ภาคใต้ด้วยการเยี่ยมชมโรงเรียนบ้านประจัน จ.ปัตตานี ที่มีการเรียนการสอนแบบทวิภาษา คือสอนภาษาไทยควบคู่กับภาษามลายู และเยือนมัสยิดกลางปัตตานี เพื่อหารือกับประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี และร่วมกันละหมาดในวันศุกร์

หลังจากนั้นคณะผู้แทนจากชาติสมาชิกโอไอซีและผู้แทนจากสำนักเลขาธิการโอไอซีได้เดินทางเยือนจ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อพบปะพูดคุยกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอยุธยา และเยี่ยมชมวิถีชุมชนไทยพุทธและไทยมุสลิมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและถ้อยทีถ้อยอาศัยที่วัดท่าการ้อง

เดินชมสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนในปัตตานี
เดินชมสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนในปัตตานี

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลไทยเชิญผู้แทนจากชาติสมาชิกโอไอซี และผู้แทนจากสำนักเลขาธิการโอไอซีให้เดินทางมาลงพื้นที่ในไทยเพราะเมื่อเดือนมกราคม 2559 นาย Iyad Ameen Madani เลขาธิการโอไอซี ก็ได้เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการสัมมนา Symposium on Interfaith Dialogue and Peaceful Coexistence in Multicultural Societies ที่กระทรวงการต่างประเทศจัดร่วมกับศูนย์ Research Centre for

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2550 นายเอกเมเลดดิน อิซาโนกลู อดีตเลขาธิการโอไอซี ได้เดินทางเยือนไทยและมีแถลงการณ์ร่วมกันระหว่างเลขาธิการโอไอซีกับรัฐบาลไทย ขณะที่ในปี 2555 นายซาเยด คาสเซม เอล-มาสรีที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซีพร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ของไทย ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญเอกอัครราชทูตในประเทศไทยที่เป็นสมาชิกโอไอซีให้เดินทางลงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เป็นระยะด้วยเช่นกัน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไทยพยายามที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับชาติสมาชิกโอไอซีอย่างสม่ำเสมอ ภารกิจล่าสุดนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสะท้อนภาพที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทยให้สมาชิกโอไอซีได้รับทราบ ซึ่งในภาพรวมของสถานการณ์ในปัจจุบันความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ลดลง

อธิบดีเกริกพันธุ์กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญผู้แทนประเทศสมาชิกโอไอซีมาเยือนประเทศไทยและลงไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ก็เพราะต้องการให้ได้รับทราบว่าพื้นที่ในภาคใต้มิได้มีความขัดแย้งทางศาสนา รวมถึงเพื่อรับทราบนโยบายการแก้ไขปัญหา การพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ และเห็นสถานการณ์จริงในพื้นที่

นอกจากนี้ เป็นความตั้งใจของเราให้คณะที่มาเยือนเป็นคณะกลุ่มเล็ก เพราะเราต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับฝ่ายไทยอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ทั้งนี้ คณะได้ทราบเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงที่ลดลง และทราบถึงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษา ที่จะพัฒนาเยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษา และรักษาอัตลักษณ์ท้องถิ่นทั้งภาษาและศาสนา

อธิบดีเกริกพันธุ์กล่าวว่า จากการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น คณะผู้แทนประเทศสมาชิกโอไอซีสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่เปิดกว้างและโปร่งใสต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ และประทับใจต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ในเรื่องนี้คณะได้กล่าวกับกลุ่มภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอในพื้นที่ว่า การอยู่ร่วมกันโดยสันติเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักอิสลามที่ต่อต้านความรุนแรง ทั้งยังได้กล่าวว่าการที่รัฐบาลไทยได้เชิญคณะผู้แทนประเทศสมาชิกโอไอซีมาเยือนจังหวัดชายแดนใต้เป็นสิ่งที่ดีและเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะเป็นการแสดงความจริงใจและการเปิดกว้าง ซึ่งประเทศต่างๆ ที่มีสถานการณ์เดียวกับไทยไม่ค่อยทำเช่นนี้

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าไทยเน้นแก้ไขปัญหาภาคใต้ด้วยความจริงใจ เปิดเผย และโปร่งใส ซึ่งอธิบดีเกริกพันธุ์ย้ำว่า หลังจากนี้กระทรวงการต่างประเทศก็มีแผนที่จะจัดทำโครงการในลักษณะนี้อีกในอนาคต

เพราะที่สุดแล้วไม่มีอะไรที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจของเราได้ดีไปกว่าการเปิดโอกาสให้คณะผู้แทนจากชาติสมาชิกโอไอซีได้ลงไปเห็นวิถีชีวิตและการอยู่ร่วมกันของประชาชนภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนาได้ดีไปกว่าการให้เขาลงไปเห็นข้อเท็จจริงในพื้นที่ด้วยตาดังโครงการที่ประสบผลสำเร็จด้วยดีเช่นนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image