ที่มา | หนังสือพิมพ์มติชน |
---|---|
ผู้เขียน | มนต์ทิพย์ ธานะสุข |
เผยแพร่ |
คอลัมน์ไฮไลต์โลก : เมื่อหนุ่มสาวยึดคติ YOLO เน้นสุขนิยม อีกโจทย์หินเกาหลีใต้แก้วิกฤตปชก.
เกาหลีใต้ยังคงทำลายสถิติตัวเองอย่างต่อเนื่องในการครองแชมป์ประเทศที่มีอัตราเกิดต่ำที่สุดในโลก โดยในปี 2566 เกาหลีใต้ยังมีอัตราเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์อีกครั้งที่ทารก 0.72 ต่อผู้หญิง 1 คน
แม้รัฐบาลจะคิดหากลยุทธ์แก้วิกฤตปัญหานี้ เช่น การออกมาตรการจูงใจ อาทิ แจกเงินสดให้ครอบครัวที่มีทารกเกิดใหม่ การอุดหนุนเพื่อให้เลิกทำหมัน และให้สิทธิลาเลี้ยงลูกได้โดยยังได้รับเงินเดือน แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นการเกิดของประชากรได้ จนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลถึงขั้นประกาศแผนตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมากำกับดูแลปัญหาท้าทายด้านประชากรเป็นการเฉพาะ
กระนั้นความพยายามของรัฐบาลยังคงเผชิญอุปสรรคท้าทาย โดยเฉพาะจากคนหนุ่มสาวในวัย 20-30 ปี ที่จัดเป็นคนเจเนอเรชั่น Y และ Z ที่มีแนวคิด “YOLO” (you only live once) คือ เกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้คุ้ม และยึดสุขนิยมของตนเองเป็นหลักใหญ่ในการดำเนินชีวิต ทำให้เงินที่หามาได้ส่วนใหญ่หมดไปกับใช้จ่ายเพื่อปรนเปรอความสุขให้กับตัวเอง
ความพยายามในการรณรงค์ให้คนหนุ่มสาวเห็นว่า “ความเป็นพ่อแม่” เป็นการลงทุนที่ดีกว่าสินค้าแบรนด์หรู หรือร้านอาหารหรูๆ เพื่อกระตุ้นการเกิดของประชากรของรัฐบาลเกาหลีใต้จึงเป็นงานยาก
นักสังคมวิทยาในเกาหลีใต้มองว่าคนหนุ่มสาวที่ให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์มาเป็นลำดับแรก นั่นหมายความว่าพวกเขาใช้จ่ายมากขึ้น ประหยัดเงินน้อยลง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้เอื้อต่อการสร้างครอบครัว
มีผลสำรวจที่สะท้อนให้เห็นการใช้ชีวิตแบบสุขนิยมตามใจของหนุ่มสาวเกาหลี โดยพบว่าคนอายุ 20-30 ปี เป็นกลุ่มคนที่ใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้าไฮเอ็นและโรงแรมหรูมากที่สุด และมีการใช้จ่ายด้านการเดินทางเพิ่มขึ้น 40.1% จาก 33.3% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลของ Euromonitor บริษัทวิจัยด้านการตลาด ยังพบว่าในปีที่แล้วรายได้ของร้านอาหารบุฟเฟต์ราคาแพงพุ่งขึ้น 30.3% เมื่อเทียบกับรายได้ของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่เพิ่มขึ้น 10.5%
ด้านผลวิจัยของ มอร์แกน สแตนลีย์ ในปีที่แล้วพบว่า รสนิยมอันหรูหราของชาวเกาหลีทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีการใช้จ่ายต่อหัวสำหรับสินค้าแบรนด์หรูมากที่สุดในโลก และเป็นตลาดหมุดหมายของแบรนด์หรูระดับโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ดีที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้เป็นปัจจัยใหญ่สุดที่ทำให้คนเกาหลีมีทัศนคติเรื่องการมีครอบครัวเปลี่ยนไป หากแต่เป็นสภาพเศรษฐกิจอันฝืดเคือง โดยผลสำรวจของบริษัทวิจัย PMI ที่ทำสำรวจในเดือนพฤษภาคมชี้ว่า ความยากลำบากทางการเงินคือเหตุผลใหญ่ที่สุดที่ทำให้คนเกาหลีไม่อยากมีลูก
นั่นดูจะเป็นปัญหาท้าทายเดียวกับที่หลายประเทศกำลังเผชิญ ซึ่งรัฐบาลต่างกำลังพยายามหาทางแก้ไขเช่นกัน เพื่อป้องกันผลพวงปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นห่วงโซ่ในภายภาคหน้า