องค์กรเหยื่อปรมาณู ‘นิฮอน ฮิดังเคียว’ คว้าโนเบลสันติภาพ 2024 เคลื่อนไหวต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์

AP

องค์กรเหยื่อปรมาณู ‘นิฮอน ฮิดังเคียว’ คว้าโนเบลสันติภาพ 2024 เคลื่อนไหวต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม คณะกรรมการรางวัลโนเบลของนอร์เวย์ ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2024 ให้กับองค์กรนิฮอน ฮิดังเคียวของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นองค์กรเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าของผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูในเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ หรือที่มีชื่อเรียกอีกชื่อว่าฮิบากุชะ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากความพยายามที่จะทำให้โลกปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และจากการแสดงให้เห็นผ่านคำให้การของพยานว่าไม่ควรจะต้องมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกต่อไป

ทั้งนี้ หลังเหตุการโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูเมื่อเดือนสิงหาคม 2488 เกิดการเคลื่อนไหวระดับโลกขึ้น โดยสมาชิกขององค์กรได้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนือยเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลทางมนุษยธรรมอันเลวร้ายจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และทำให้มีการพัฒนาบรรทัดฐานระหว่างประเทศขึ้น ซึ่งทำให้การใช้อาวุธนิวเคลียร์กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในทางศีลธรรม ซึ่งกลายเป็นบรรทัดฐานที่รู้จักกันในชื่อ “ข้อห้ามทางนิวเคลียร์”

นายโทชิยูกิ มิมากิ ประธานองค์กรนิฮอน ฮิดังเคียว กล่าวกับผู้สื่อข่าวในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น หลังองค์กรนิฮอน ฮิดังเคียว ซึ่งเป็นองค์กรเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าของผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูในเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม (เอพี)

“ฮิบากุชะช่วยให้เราอธิบายสิ่งที่อธิบายไม่ได้ คิดสิ่งที่คิดไม่ถึง และเข้าใจความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่ไม่อาจเข้าใจได้ที่เกิดจากอาวุธนิวเคลียร์” คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุ

นายโทชิยูกิ มิมากิ ประธานร่วมขององค์กรนิฮอน ฮิดังเคียว ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดปรมาณู ได้แถลงข่าวที่เมืองฮิโรชิมาว่า ตนไม่เคยคิดไม่เคยฝันมาก่อนว่าจะได้รับรางวัลโนเบล มีคนบอกว่าเพราะอาวุธนิวเคลียร์ โลกจึงมีสันติภาพ แต่หากรัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน อิสราเอลใช้นิวเคลียร์โจมตีกาซา เรื่องราวต่างๆ จะไม่จบแค่นั้นและนักการเมืองต่างๆ ควรรู้เอาไว้

ADVERTISMENT

ด้านนายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะของญี่ปุ่นกล่าวว่าการที่องค์กรนิฮอน ฮิดังเคียวได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพนั้นมีความหมายอย่างมาก ขณะที่ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่อาวุธนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง เราต้องการที่จะเน้นย้ำความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับข้อห้ามทางนิวเคลียร์ บรรทัดฐานระหว่างประเทศ ต่อการใช้อาวุธนิวเคลชียร์ พร้อมบอกอีกว่าอาวุธเหล่านี้ไม่ควรถูกนำมาใช้อีกไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก สงครามนิวเคลียร์อาจหมายถึงจุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ จุดสิ้นสุดอารยธรรมของเรา

ผู้ชนะรางวัลโนเบลจะได้รับเงินรางวัล 11 ล้านโครนสวีเดน และจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 10 ธันวาคมที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของอัลเฟรด โนเบล นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งรางวัลโนเบล