คอลัมน์ วิเทศวิถี : ไทยในเวทียูเอ็นเอชอาร์ซี

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชอาร์ซี สมัยที่ 34 ซึ่งเปิดประชุมอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และจะมีการหารือกันไปจนถึงวันที่ 24 มีนาคมปีนี้ โดยในช่วงสัปดาห์แรกของการประชุมจะเป็นช่วงเวลาของผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่างๆ ที่จะขึ้นกล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงสะท้อนประเด็นความก้าวหน้าและปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องการให้ผู้คนสนใจ

การประชุมเอชอาร์ซีในปีนี้ ที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นการขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในเวทีดังกล่าวเป็นครั้งแรกของนายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นภารกิจเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายกูแตร์เรสถือเป็นคนคุ้นเคยสำหรับเวทีนี้ เพราะเคยดำรงตำแหน่งอดีตข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ มานานถึง 10 ปี โดยเขาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมทั้งสิทธิพลเรือน สิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนปัญหาผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาวะถดถอยทั่วโลก โดยอาศัยกลไกเอชอาร์ซีที่ให้เข้าไปมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กำลังสร้างความระส่ำระสายในโลกปัจจุบัน พร้อมกับย้ำว่าความท้าทายในขณะนี้ไม่ใช่การแบ่งปันภาระ แต่เป็นการแบ่งปันความรับผิดชอบต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก

จากนั้นรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงของชาติต่างๆ ที่มาเข้าร่วมประชุมได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงวิสัยทัศน์และให้มุมมองในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ในส่วนของไทย นายวีระศักดิ์ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะพัฒนาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ในประเทศให้เกิดความก้าวหน้า ตั้งแต่การดำเนินการตามข้อแนะนำและคำมั่นโดยสมัครใจของไทยหลังจากที่ได้รายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ภายใต้กลไกยูพีอาร์รอบ 2 เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับรองแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการตามข้อแนะนำและคำมั่นโดยสมัครใจของไทยไปเรียบร้อยแล้ว

หารือนายโรเบิร์ต กลาซเซอร์
หารือนายโรเบิร์ต กลาซเซอร์

นอกจากนี้ ยังได้เล่าถึงความก้าวหน้ารวมถึงพัฒนาการด้านต่างๆ ของไทยเพื่อปรับปรุงการดูแลและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในส่วนของการดูแลด้านสุขภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี การปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้แสวงประโยชน์จากเด็ก รวมถึงผู้เผยแพร่หรือมีสื่อลามกอนาจารเด็ก การให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริง

Advertisement

รวมถึงการที่ไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งได้รับการรับรองโดยการลงประชามติของประชาชน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เน้นย้ำหลักการของสิทธิที่เท่าเทียมกัน การคุ้มครองตามกฎหมาย การไม่เลือกปฏิบัติ การห้ามการทรมาน และเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยในตอนท้ายท่านรัฐมนตรีช่วยวีระศักดิ์ย้ำว่า รัฐบาลไทยจะทำอย่างดีที่สุดที่จะพัฒนาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ และให้การสนับสนุนการดำเนินงานของเอชอาร์ซีในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั่วโลกด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่คาดหวังว่าที่ประชุมเอชอาร์ซีจะมีการพูดถึงเรื่องสถานการณ์การเมืองในไทยก็ต้องขอให้เข้าใจก่อนว่า เวทีนี้ไม่ใช่กรอบของการพูดจาในประเด็นลักษณะดังว่า แต่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า คือในระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม จะมีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยภายใต้กรอบการรายงานตามพันธกรณีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือไอซีซีพีอาร์ ซึ่งนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยมาร่วมชี้แจงต่อคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่นครเจนีวา

หากว่ากันตามข้อเท็จจริง เราคงไม่อาจพูดได้ว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยในปัจจุบันไม่มีประเด็นอะไรที่น่าห่วงกังวล เทียบเคียงจากการนำเสนอรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ภายใต้กลไกยูพีอาร์รอบ 2 เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา แม้จะมีเสียงชื่นชมในหลายด้าน แต่ก็ยังมีข้อห่วงกังวลอีกหลายประเด็นเช่นกัน

Advertisement
รมช.กต.กล่าวถ้อยแถลงเอชอาร์ซี
รมช.กต.กล่าวถ้อยแถลงเอชอาร์ซี

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุม กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร การจับกุมและคุมขังตามอำเภอใจ การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ การยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งเชื่อว่าประเด็นปัญหาในลักษณะเดียวกันก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดซ้ำอีกในกรอบไอซีซีพีอาร์ในราวกลางเดือนมีนาคมนี้ในระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงเปิดประชุมยูเอ็นเอชอาร์ซี

ราวีนา ชัมดาซานี โฆษกหญิงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือโอเอชซีเอชอาร์ก็ยังได้ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของไทยไม่เร่งผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. …. ซึ่งถูกมองว่าทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อครอบครัวของผู้สูญหาย เพราะได้มีการขยายหลักการในเรื่องผู้เสียหายกรณีบุคคล ผู้ถูกกระทำให้สูญหาย เพื่อครอบครัวของผู้ได้รับความเสียหายสามารถเข้ามาต่อสู้คดี กำหนดให้คดีความผิดตามร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติมให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยจะยังคงถูกจับตามองจากประชาคมโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่าไทยไม่ได้เป็นเป้าหลักเท่าใดนัก เพราะยังคงมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอีกหลายประเทศที่สถานการณ์ย่ำแย่กว่าไทยหลายเท่านัก อาทิ ซีเรีย หรือสถานการณ์ผู้อพยพทั่วโลก

แม้จะตระหนักดีว่าในความเป็นจริงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนกระทั่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทย หรือในอีกหลายๆ ประเทศเลวร้ายกว่าเรามาก แต่เราก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยก็ยังคงมีประเด็นปัญหาอีกมาก เนื่องจากเราไม่อาจใช้ข้ออ้างที่ว่าเราดูไม่แย่ เพราะคนอื่นแย่กว่ามาเป็นคำตอบกับกรณีสิทธิมนุษยชนได้

ในโอกาสเดียวกันนี้ นายวีระศักดิ์ได้เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดนิทรรศการ The Lifetime Journey of the World’s Development King and the Sufficiency Economy Philosophy for SDGs ซึ่งเป็นการนำเสนอพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดจนแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกับเปิดตัววารสาร South-South in Action – Sustainability in Thailand: Experience for Developing Countries ร่วมกับนายฮอร์เก เชดิเก ผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยความร่วมมือใต้-ใต้ และผู้อำนวยการสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ ที่สำนักงานสหประชาชาติในนครเจนีวา ซึ่งนายเชดิเกได้ชื่นชมไทยในฐานะประเทศแรกที่ร่วมจัดทำวารสาร South-South in Action เพื่อเผยแพร่บทบาทของไทยในความร่วมมือใต้-ใต้ และการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ ร.9 สามารถทำให้เกิดความก้าวหน้าและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ขณะที่ในการหารือของนายวีระศักดิ์กับนายโรเบิร์ต กลาซเซอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ก็ได้แสดงความชื่นชมบทบาทนำของไทยในการบริหารจัดการและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และยังพูดคุยถึงแผนการเดินทางเยือนไทยของนายกลาซเซอร์ในช่วงกลางปีนี้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image