คอลัมน์ไฮไลต์โลก: กม.เปิดช่องอาชญากรข่มขืนรอดคุก!

ความรุนแรงทางเพศ เป็นหนึ่งในปัญหาความรุนแรงที่ระบาดหนักไปทั่วโลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในแวดวงกฎหมายชี้ช่องของปัญหานี้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายบ้านเมืองที่มีอยู่ไม่ได้บังคับใช้อย่างจริงจังหรือเป็นกฎหมายแย่ๆไม่ได้มาตรฐานที่เปิดทางให้เหล่าอาชญากรทางเพศรอดเงื้อมมือของกฎหมายไปได้โดยไม่ได้รับผลกรรมใดๆ อย่างในประเทศเลบานอน ผู้กระทำผิดในคดีข่มขืนสามารถรอดพ้นจากการถูกลงโทษได้ หากผู้กระทำผิดยอมแต่งงานกับเหยื่อ หรือในอินเดีย การข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยา สามารถกระทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ากฎหมายแย่ๆเหล่านี้ล้วนเป็นการส่งเสริมให้ความรุนแรงทางเพศลุกลามหนักยิ่งขึ้น

ปัญหานี้ กลุ่ม Equality Now ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์เพื่อความเท่าเทียม ได้ทำการสำรวจศึกษาระบบกฎหมายใน 73 ประเทศพบว่า มีอย่างน้อย 9 ประเทศ เช่น บาห์เรน อิรัก ฟิลิปปินส์ ทาจิกิสถาน และ ตูนีเซีย ที่กฎหมายเปิดช่องให้ผู้กระทำผิดในคดีข่มขืนสามารถหลบเลี่ยงการได้รับโทษตามกฎหมาย หากยอมแต่งงานกับเหยื่อ ขณะที่ในอย่างน้อย 10 ประเทศ เช่นใน กานา เลโซโท โอมาน สิงคโปร์ และ ศรีลังกา การข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยากระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และที่แย่ไปกว่านั้น ใน 4 ประเทศในกลุ่มนี้ สามียังข่มขืนภรรยาตนเองได้ไม่ผิดกฎหมาย แม้ภรรยาจะเป็นผู้เยาว์ก็ตาม หรือในบางประเทศ ผู้หญิงที่แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ว่าตนเองถูกข่มขืน แต่ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่ออาจกลายเป็นผู้ได้รับโทษเสียเองฐานกระทำผิดกฎหมายจากการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส หากผู้หญิงรายนั้นไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเองตกเป็นเหยื่อถูกกระทำชำเรา

กรณีศึกษาข้างต้นของ Equality Now ที่ทำร่วมกับสมาคมทนายความระหว่างประเทศ ยังชี้ให้เห็นช่องโหว่ของกฎหมายในหลายประเทศ ที่เปิดทางให้ผู้กระทำผิดในคดีความรุนแรงทางเพศเดินหนีคุกตารางไปได้ฟรีๆ เพียงแค่การทำความตกลงยอมความกับเหยื่อได้เท่านั้น ดังกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ในประเทศโซมาเลียซึ่งเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก เป็นกรณีของกลุ่มวัยโจ๋โพสต์คลิปวิดีโอขณะตนเองกำลังรุมข่มขืนเด็กหญิง 2 ราย โดยเด็กชายวัยโจ๋กลุ่มนี้รอดคุกไปได้ หลังจากจ่ายค่าเสียหายเป็นอูฐให้แก่เด็กหญิงที่ตกเป็นเหยื่อ

นักรณรงค์ด้านกฎหมายชี้ว่า ข้อบกพร่องหรือความอ่อนแอของกฎหมายที่มีอยู่ ไม่เพียงทำให้อาชญากรทางเพศสามารถปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมไปได้เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการส่งสารที่ผิดมหันต์ว่า

Advertisement

“การข่มขืนไม่ได้เป็นอาชญากรรมร้ายแรงและยังสามารถต่อรองได้!”

แอนโตเนีย เคิร์กแลนด์ หัวหน้าโครงการความเท่าเทียมทางกฎหมายของกลุ่ม Equality Now ออกมาเรียกร้องทิ้งท้ายให้รัฐบาลชาติต่างๆทบทวนดูกฎหมายและนโยบายที่มีอยู่ว่า ได้ปกป้องเด็กหญิงและผู้หญิงให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศที่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอแล้วหรือไม่ และแม้นปัญหาจะเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรจะช่วยให้ผู้ตกเป็นเหยื่อเหล่านั้นเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่่ื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้ทวงคืนความยุติธรรมกลับมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image