รายงานพิเศษ : ย้อนอดีต มองอนาคต 160 ปี สัมพันธ์’ไทย-ฝรั่งเศส'(1)

“ฝรั่งเศส” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่เก่าแก่และยาวนานที่สุดประเทศหนึ่งของไทย หากเราจะนับจุดเริ่มต้นของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศสจากการลงนามในสนธิสัญญาไมตรีการค้าและการเดินเรือระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ที่ได้ลงนามกันไปเมื่อปี พ.ศ.2399 ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ครบ 160 ปีไปเมื่อปี 2559 ก่อนที่คณะราชทูตสยามจะเข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ที่พระราชวังฟงแตนโบลในอีก 4 ปีต่อมา หรือในปี 2403

แต่หากเราย้อนกลับไปถึงเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะทูต นำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดีหรือที่คนไทยคุ้นเคยมากกว่าในชื่อเจ้าพระยาโกษาปาน เป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส และเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสก็นับย้อนยืนยาวไปได้มากกว่า 300 ปี

เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อันเก่าแก่ระหว่างกัน สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส นำโดยท่านเอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว จึงได้จัดงานสัมมนาเนื่องในโอกาสครบ 160 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ขึ้นที่สถาบันภาษาและอารยธรรมตะวันออกแห่งชาติ (อินาโก) ในกรุงปารีส โดยเชิญวิทยากรมากมายมาให้ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย-ฝรั่งเศส เป็นการมองย้อนไปตั้งแต่อดีตมาสู่ปัจจุบัน และทอดยาวไปถึงอนาคตของความสัมพันธ์และความร่วมมือในมิติต่างๆ ระหว่างกันอย่างครอบคลุม

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ทรงพระกรุณาเสด็จมาเปิดงานสัมมนาดังกล่าวและมีพระดำรัสถึงมิตรไมตรีที่เชื่อมโยงไทย-ฝรั่งเศสตั้งแต่อดีต ทรงตรัสถึงการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ปีที่ผ่านมา ด้วยว่าพระองค์ทรงเป็นสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศทั้งสอง เพราะทรงใช้ภาษาฝรั่งเศสได้อย่างดียิ่งและเคยเสด็จฯเยือนฝรั่งเศสหลายครั้ง นอกจากนี้ พระราชวังฟงแตนโบลยังเป็นสถานที่ที่ทรงได้พบกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นครั้งแรกอีกด้วย

Advertisement

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ตรัสว่า พระองค์หวังจะสืบสานพระราชกรณียกิจเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประเทศฝรั่งเศสมีความสำคัญอย่างยิ่งกับพระองค์ และยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ทรงขอบใจทุกคนที่ร่วมมือกันในการสัมมนาครั้งนี้ที่เป็นการส่องอดีตซึ่งทำให้เรามีความผูกพันกัน และมองไปยังอนาคต

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ยังประทับฟังการสัมมนาตลอดครึ่งวันเช้า ทั้งยังประทานของให้กับผู้ร่วมสัมมนาทุกคน และซักถามผู้บรรยายในประเด็นที่ทรงสนพระทัย การเสด็จมาเปิดงานสัมมนาของพระองค์ทำให้บรรดานักเรียนของอินาโกจำนวนมากตื่นเต้นและมาเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งพระองค์ก็ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณาจารย์และนักเรียนของอินาโกอย่างไม่ถือพระองค์

paris2

Advertisement

นายเตช บุนนาค อดีต รมว.การต่างประเทศ อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศรวมถึงฝรั่งเศส ได้บรรยายถึงความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสว่าเป็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่มีความสนใจซึ่งกันและกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือมีความเคารพซึ่งกันและกัน ยิ่งเคยเป็นทูตที่ฝรั่งเศสยิ่งทำให้ท่านเตชรู้ว่าฝรั่งเศสเคารพและให้เกียรติไทย คำถามคือทำไม

ท่านเตชเชื่อว่า คำตอบคือมี 2 ครั้งในประวัติศาสตร์ที่ฝรั่งเศสเคยเกือบเอาชนะไทยได้ ฝรั่งเศสเคยรุกรานไทยแต่เราไม่ได้เพลี่ยงพล้ำ เรารักษาเอกราชไว้ได้ทั้งสองครั้ง ครั้งแรกในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ฝรั่งเศสส่งทหารมาสยาม ทำท่าจะปฏิวัติยึดอำนาจ ที่สุดฝ่ายสยามนำโดยพระเพทราชาก็จับคนฝรั่งเศสมาประหารชีวิตและขับไล่คนฝรั่งเศสออกไปจากสยามได้สำเร็จ ครั้งต่อมาเหตุการณ์ ร.ศ.112 ถึงแม้เรือรบของฝรั่งเศส 3 ลำจะมาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ไทยต้องยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไป แม้จะเสียค่าปฏิกรรมสงครามไปหลายล้านฟรังก์ แต่เราก็ไม่ได้เพลี่ยงพล้ำ เราสามารถรักษาเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนสยามในปัจจุบันไว้ได้ ด้วยเหตุนี้เขาถึงเคารพเรา

 

เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาโกษาปานเป็นราชทูตไปเจริญความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ได้ต้อนรับอย่างสมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นอกจากจะได้เข้าเฝ้าที่พระราชวังแวร์ซายส์แล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดเกล้าให้แต่งเพลงสรรเสริญสยามและคณะทูตไทยเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นการต้อนรับที่สูงส่งมาก

paris3

สมัยที่เราใกล้ชิดกัน ฝรั่งเศสได้ทิ้งมรดกไว้มากมาย อาทิ เมืองกำแพงเพชรก็เป็นป้อมปราการแบบฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการแปลพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกสารที่สำคัญมาก เพราะทำให้เราได้รู้ว่าภาษาไทยในสมัยนั้นมีลักษณะอย่างไร พวกฝรั่งเศสที่เดินทางมายังไทยสมัยนั้นก็ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสยามไว้มากมาย ทำให้เราได้รู้เรื่องเกี่ยวกับสยามมากจากคนที่เคยมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ซึ่งท่านก็เคารพ ร.4 อย่างยิ่ง และสังฆราชปาลเลอกัวซ์เป็นผู้เขียนพจนานุกรมไทย-ฝรั่งเศสขึ้น ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและวรรณคดีเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญ มันกลบเกลื่อนความบาดหมางขมขื่นในความสัมพันธ์ไป เพราะเราได้อะไรกลับมา

หลังยุค ร.ศ.112 เราได้ส่งทหารไปช่วยฝรั่งเศสรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้เราได้เป็นหนึ่งในประเทศฝ่ายพันธมิตรที่ได้สวนสนามเพื่อฉลองชัยชนะ และในช่วงนั้นเอง นักปราชญ์เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือนายยอร์ช เซเดส์ ก็มาทำงานที่หอพระสมุดวชิรญาน ซึ่งท่านก็ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์มากมายจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นักศึกษาไทยที่ไปเล่าเรียนศึกษาในฝรั่งเศสหลายท่านก็กลับมามีบทบาทด้านการปกครองในไทย ไม่ว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม คุณปรีดี พนมยงค์ หรือคุณควง อภัยวงศ์ ขณะที่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่มีความโดดเด่นอีกท่านหนึ่งคือ ดร.ถนัด คอมันตร์ ก็เป็นนักเรียนฝรั่งเศสและเป็นผู้ก่อตั้งอาเซียนด้วย อีกสิ่งที่เราได้จากฝรั่งเศสในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 คือทำให้เรามีที่ในการประชุมเพื่อสันติภาพ หรือคองเกรสออฟแวร์ซายส์ ซึ่งทำให้เรามีโอกาสเรียกร้องให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับเราได้ทั้งหมด อาทิ การจำกัดภาษีร้อยชัก 3 และการจำกัดสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

ท่านเตชสรุปว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสยาวนานมากกว่า 300 ปี เรามีความเคารพซึ่งกันและกัน มีความสนใจในกันและกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน ก็จะเป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนต่อไป

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.ซีลส์ เดอลูช จากอินาโก กล่าวว่า ร.4 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ พระองค์ให้พระโอรสและพระธิดามีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศเพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับตะวันตก แม้กระทั่งสิ่งที่ใครมองว่าไทยเสียดินแดนกัมพูชาให้ฝรั่งเศส มองอีกทางหนึ่งกัมพูชาในขณะนั้นก็มีแต่ความวุ่นวาย การปล่อยกัมพูชาให้ฝรั่งเศสก็เป็นดังการดึงหนามที่ทิ่มเท้าทิ้งไป ขณะที่ในรัชสมัยของ ร.5 การยกดินแดนให้ฝรั่งเศสของไทยเพิ่มเติมนั้นแม้จะถูกมองว่าดินแดนถูกยึดครอง แต่ส่วนตัวเห็นว่าไทยได้ในหลายประการ เนื่องจากในขณะนั้นแนวคิดเรื่องเขตแดนยังเป็นภาพที่พร่ามัว ไม่มีความชัดเจน แต่การลงนามความตกลงระหว่างไทย-ฝรั่งเศสที่จะมอบ 3 จังหวัด คือ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส ทำให้เห็นเขตแดนของไทยที่ชัดเจน อีกทั้งสถานะของไทยถือว่าได้รับการยอมรับในเวทีโลกจากการลงนามในสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกับที่ฝรั่งเศสได้ลงนามกับประเทศอื่นๆ อีกด้วย พระองค์ตระหนักดีว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินนโยบายเขตแดนแบบที่ไทยเคยปฏิบัติมาในอดีต แต่สิ่งที่ทรงดำเนินการได้นำพาสยามไปสู่ยุคใหม่คือมีความเท่าทันกับยุคสมัยนั่นเอง

เมื่อได้พูดคุยกันหลังการสัมมนา ท่านเตชชื่นชมงานที่จัดขึ้นนี้และเห็นว่า เป็นความริเริ่มที่ดีมากของท่านทูตสีหศักดิ์และสถานทูต ณ กรุงปารีส ที่ได้จัดงานฉลอง 160 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้น เพราะเรามักจะลืมว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับฝรั่งเศสเช่นนี้ และมักจะคิดถึงเรื่องขมขื่นสมัย ร.ศ.112 ทั้งที่ในความสัมพันธ์มีทั้งบวกและลบ และในความจริงมีเรื่องที่สร้างสรรค์มากมายซึ่งส่วนที่บวกก็มีประโยชน์มาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image