จับตา 4 ฮอตสปอตเอเชียตะวันออก

Reuters/ AP

จับตา 4 ฮอตสปอตเอเชียตะวันออก

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลายเป็นหนึ่งในสนามการเมืองที่มีความร้อนระอุมากที่สุดของโลกในปีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันที่ได้จุดฉนวนการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ สถานการณ์ในเมียนมาที่ลุกเป็นไฟจนทำให้ตัดมาดอว์สูญเสียขีดความสามารถอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ขณะที่เกาหลีใต้ ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย และได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็ง เผชิญกับความปั่นป่วนอย่างหนักหลังจากที่ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึก ตลอดจนสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ที่ยิ่งทวีความผันผวนให้กับภูมิภาค ซึ่งสถานการณ์ร้อนใน 4 จุดดังกล่าวยังคงเป็นฮอตสปอตที่ต้องจับตามองต่อไปในปี 2025 นี้

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

๐ ประธานาธิบดีโสมขาวประกาศกฎอัยการศึก
เมื่อเวลา 22.30 น. ของวันที่ 3 ธันวาคม นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1980 โดยอ้างว่าเป็นการปกป้องประเทศจากภัยคุกคามเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ การบังคับใช้มีผลเพียงแค่ครู่เดียวเท่านั้น เพราะในเวลา 1.00 น. สมาชิกวุฒิสภาเกาหลีใต้ 190 จาก 300 เสียง โหวตคว่ำคำสั่งข้างต้น

วินาทีแรกที่ยุนก้าวขึ้นไปบนโพเดียมถือเป็นจุดเริ่มต้นของการฆ่าตัวตายทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ ประชาชนลงถนนประท้วงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สภาลงญัตติถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งและทำให้เขาถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ มิหนำซ้ำเมื่อนายฮัน ด็อกซู รับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี พรรคประชาธิปไตย (ดีพี) ยื่นถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งในทันที

ADVERTISMENT

ในวันสุดท้ายของปี ศาลเกาหลีใต้อนุมัติการออกหมายจับยุนในข้อหาการก่อกบฏ ส่งผลให้ในวันที่ 3 มกราคม เจ้าหน้าที่จากสำนักงานการสอบสวนการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูง (CIO) ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ ดำเนินการจับกุมตัวประธานาธิบดี แต่จำเป็นต้องยุติการกระทำลงด้วยความกังวลด้านความปลอดภัยของบุคลากรในสถานที่เกิดเหตุ

การประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันที่ความนิยมของรัฐบาลยุนนั้นตกต่ำอย่างหนัก ตั้งแต่โศกนาฎกรรมที่อิแทวอนเมื่อปี 2022 เศรษฐกิจที่ซบเซา ตลอดจนข้อหารับสินบนและปั่นหุ้นของนางคิม กอนฮี ภรรยาของยุน

ADVERTISMENT

สถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มต่อต้าน รวมถึงการแข็งขืนไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ของยุนจะชักนำการเมืองเกาหลีใต้ให้ติดหล่มไปนานเพียงใด ต้องรอดูกันต่อไปในปีนี้

๐ สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน
เรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า ตั้งแต่เดือน มกราคมจนถึงพฤศจิกายน 2024 เกิดการละเมิดน่านฟ้าของไต้หวันเกือบ 3,000 ครั้ง ประกอบการที่จีนเปิดฉากการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันทั้งทางบกและทางน้ำเมื่อเดือนพฤษภาคม ไม่นานหลังจากที่นายไล่ ชิงเต๋อ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และมีภาคต่อของการซ้อมรบอีกครั้งในเดือนตุลาคม หลังจากที่ไล่ประกาศในวันชาติว่า ไต้หวันจะไม่ยอมจำนนต่อความพยายามในการผนวกดินแดนไต้หวันเข้ากับจีนแผนดินใหญ่

การขัดแย้งระหว่างไต้หวันและจีน มีตัวละครที่ 3 อย่างสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากว่าความเป็นอิสระของเกาะไต้หวันถือเป็นกำแพงป้องกันไม่ให้จีนสามารถมีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้อย่างเบ็ดเสร็จ และยังคงสามารถคงสถานะความมีอำนาจนำของสหรัฐเอาไว้ได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเมื่อเดือนพฤศจิกายน สหรัฐอนุมัติการขายอาวุธมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ไต้หวัน กระทรวงกลาโหมของไต้หวันแถลงว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของฝูงบิน F-16 ไปพร้อมกับเสริมกองกำลังป้องกันตนเอง

ไม่นานหลังจากที่สหรัฐเติมคลังแสงอาวุธให้กับไต้หวัน ระหว่างการเยือนฮาวายของประธานาธิบดีไล่ เขากล่าวต่อหน้าประชาชนไต้หวันในฮาวายและนักการเมืองสหรัฐท้องถิ่นว่า จะไม่มีผู้ชนะในสงครามและสันติภาพนั้นมีค่าเกินกว่าที่จะตีราคาได้ พร้อมทั้งกล่าวเพิ่มว่า การเยือนอนุสรณ์สถานแห่งการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าทำไมความสงบสุขถึงเป็นเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐต้อนรับไล่อย่างอบอุ่น ตลอดจนการขายอาวุธ สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับรัฐบาลปักกิ่งเป็นอย่างมาก ทางการจีนออกประณามการแวะพักเครื่องในทริปภูมิภาคแปซิฟิกที่ดินแดนของสหรัฐของไล่ว่า มีนัยยะทางการเมืองและถือเป็นการยั่วยุ พร้อมทั้งประกาศเตือนว่า จะทำการโต้ตอบผ่านการจัดการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันอีกครั้ง

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวถ้อยแถลงเนื่องในวันปีใหม่ตอนหนึ่งว่า การรวมตัวกันระหว่างจีนและไต้หวันนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่ประธานาธิบดีไล่ของไต้หวันกล่าวในโอกาสเดียวกันว่า รัฐบาลไต้หวันจะเพิ่มงบประมาณเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการทหารต่อไป บ่งชี้ว่าไม่อาจละสายตาจากสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันได้ในปีนี้

๐ความโกลาหลในทะเลจีนใต้
ตลอดทั้งปี 2024 สถานการณ์ในทะเลจีนใต้เกิดความตึงเครียดเป็นอย่างมาก ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการปะทะกันระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ โดยสันดอนสการ์โบโรห์ และสันดอนซาบินาในหมู่เกาะสแปรตลีย์ กลายเป็นสนามมวยระหว่างสองประเทศ

พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ ขณะที่จีนอ้างสิทธิอธิปไตยในทะเลจีนใต้ทั้งหมด เหตุกระทบกระทั่งกันระหว่างสองฝ่ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จีนและฟิลิปปินส์จะประกาศว่าสามารถบรรลุข้อตกลงที่จะลดความบาดหมางได้ในเดือนมิถุนายน แต่เพียง 2 เดือนถัดมาในสิงหาคม จีนและฟิลิปปินเผชิญหน้ากันมากถึง 6 ครั้งในพื้นที่พิพาท ต่างก็กล่าวหากันไปมาว่าเป็นฝ่ายยั่วยุและใช้ความก้าวร้าว

ในเดือนกันยายน ฟิลิปปินส์ตัดสินใจนำเรือเซียร์รามาเดรออกจากสันดอนซาบินา เพราะเรือได้ทรุดตัวลง แต่โฆษกหน่วยยามฝั่งของฟิลิปปินส์ยืนยันว่า การนำเรือออกจากพื้นที่ไม่ได้หมายความว่าฟิลิปปินส์สูญเสียเขตเศรษฐกิจจำเพาะให้แก่จีนแต่อย่างใด และความขัดแย้งในพื้นที่ทับซ้อนยังคงปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน เวียดนามกำลังเร่งขยายพื้นที่ในทะเลจีนใต้ ในเวลาเพียงแค่ 6 เดือนของปี 2024 เวียดนามก่อสร้างสิ่งก่อสร้างเท่ากับจำนวนสิ่งก่อสร้างของปี 2022 และ 2023 รวมกัน ปี 2025 ทะเลจีนใต้ก็ยังคงสถานะพื้นที่พิพาทที่พร้อมจะเกิดเหตุลุกลามปานปลายได้ทุกเมื่อ

๐ควันหลงรัฐประหารเมียนมา 2021
นับเป็นปีที่ 4 ที่เมียนมาเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง ผู้นำกองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลทหารประกาศว่าจุดจบของรัฐบาลทหารเมียนมานั้นใกล้เข้ามาแล้ว และจะยังคงต่อสู้กับการปกครองของทหารอต่อไป โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ตัดมาดอว์เพลี่ยงพล้ำอย่างหนักจากการรุกคืบของปฏิบัติการ 1027 นำโดยกลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ ที่ยึดเมืองสำคัญเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง การโจมตีได้ส่งผลให้กำลังพลและขีดความสามารถทางทหารตกต่ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์เมียนมา ในระดับที่จำเป็นบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงศักยภาพของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหาร ในการบริหารประเทศ

ไฟที่โหมไหม้เมียนมาลุกโซนตั้งแต่ต้นปี เมื่อเดือนเมษายน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาคู่ขนานของเมียนมา ท้าทายระบบการป้องกันภัยของรัฐบาลทหารด้วยการโจมตีกรุงเนปิดอว์ ด้วยโดรนบรรทุกระเบิดเกือบ 30 ลำ ได้สำเร็จ จนถึงสิ้นปี 2024 ตัดมาดอว์และกองกำลังชนกลุ่มน้อยแลกหมัดถล่มพื้นที่ของแต่ละฝ่ายต่อเนื่อง

ท่ามกลางความทรุดโทรม พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ประกาศในที่ประชุมเมื่อเดือนกันยายนว่า จะดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศ ซึ่งจะเปิดทางให้เกิดการเลือกตั้งในปี 2025 และขอให้กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธยุติความรุนแรง และเข้าร่วมกระบวนการเลือกตั้ง โดยในขณะนี้การเตรียมการเลือกตั้งในเมียนมามีความคืบหน้าไปมาก เห็นได้จากการสำรวจสำมะโนประชากร บวกกับการลงทะเบียนของ 53 พรรรคการเมือง แต่ก็ต้องติดตามดูว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ในปีนี้

ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในหลายจุดทั่วเอเชียตะวันออกไม่มีท่าที่ว่าจะลดลงแต่อย่างใด และดูเหมือนสถานการณ์จะมีความน่ากังวลมากกว่าเดิมในปี 2025 ที่ต้องจับตาคือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 ว่าจะมีท่าทีในประเด็นร้อนของภูมิภาคอย่างไรบ้าง รวมถึงบทบาทของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนว่าจะสามารถเร่งขับเคลื่อนให้เกิดสันติภาพในเมียนมา ตลอดจนทำให้เกิดความคืบหน้าในการบรรลุปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (COC) ระหว่างจีนและอาเซียนได้หรือไม่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image