แฉ ‘ธนาคารโลก’ ให้ทุนหนุนหลายโครงการรุกที่ดิน-สร้างมลพิษทางอ้อม

(FILES) / AFP PHOTO / Johannes EISELE

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า รายงานขององค์การสากลเพื่อการพัฒนาอย่างทั่วถึง (อินคลูซีฟ ดีเวลลอปเมนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือไอดีไอ) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มีนาคมระบุว่า การลงทุนของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ในสถาบันการเงินเชิงพาณิชย์ เป็นการยินยอมให้มีการรุกที่ดิน ไล่ที่ และมลพิษเกิดขึ้นทางอ้อม

รายงานระบุว่า การลงทุนในธนาคารหรือว่าสถาบันที่เป็นสื่อกลางทางการเงินอื่นๆ ซึ่งใช้เงินทุนสนับสนุนของธนาคารโลกอาจทำให้ปัญหาความยากจนและความยากลำบากทางสังคมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอาจส่งเสริมโครงการที่เป็นการเร่งให้เกิดปัญหาโลกร้อนรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

รายงานของไอดีไอกล่าวหาว่า การลงทุนเหล่านี้โดยบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนของธนาคารโลก ละเมิดแนวปฏิบัติเรื่องเงื่อนไขทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของธนาคารโลกเอง

“เป็นอีกครั้งที่เราพบว่า ความรับผิดชอบในการพัฒนาของเวิลด์แบงก์ที่ได้รับการถ่ายโอนไปยังสถาบันการเงินเอกชนด้วยการจัดจ้างหน่วยงานภายนอก (เอาท์ซอร์ส) เป็นส่วนผสมของหายนะ” นายเดวิด เพรด กรรมการผู้จัดการไอดีไอระบุในแถลงการณ์

Advertisement

ไอดีไอที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในสหรัฐ ศึกษาวิจัยกิจกรรมขององค์กรเพื่อการพัฒนา อาทิ ธนาคารโลกหรือธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เคยออกรายงานก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาระบุว่า การลงทุนของไอเอฟซีส่งผลให้เกิด “ความรุ่งเรืองของถ่านหิน” ทั่วเอเชียแม้ว่าธนาคารโลกจะให้สัญญาว่า จะสนับสนุนการค่อยๆ เลิกใช้พลังงานจากถ่านหิน

นายเฟรเดอริก โจนส์ โฆษกของไอเอฟซีปกป้องการปฏิบัติงานของหน่วยงานทางการเงินของเอกชนโดยระบุว่า เป็นเรื่อง “จำเป็น” สำหรับการลดความยากจนและการสร้างงาน
“ผลที่งอกเงยจากการลงทุนกับสถาบันการเงินเอกชนทำให้เราสามารถสนับสนุนวิสาหกิจที่สำคัญต่อการพัฒนาได้มากกว่าที่เราจะสามารถทำได้เอง” นายโจนส์กล่าว และว่า “นอกจากนี้ การร่วมงานกับสถาบันทางการเงินเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น”

รายงานของหน่วยงานตรวจสอบภายในองค์กรระบุว่า เมื่อปี 2559 ไอเอฟซีใช้เงิน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐลงทุนในธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน กองทุนที่ลงทุนในหุ้นนอกตลาด และอื่นๆ นับเป็นเงินครึ่งหนึ่งของงบประมาณการลงทุนระยะยาวประจำปี การลงทุนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมตลาดเงินและตลาดทุนภายในประเทศนั้นๆ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนา

Advertisement

แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูมากยิ่งขึ้นในเรื่องการปฏิบัติในช่วงปีหลังๆ ที่ระบุว่า เงินทุนดังกล่าว อาจถูกนำไปสนับสนุนหน่วยงานปลายทางที่ละเมิดแนวปฏิบัติด้านการปกป้องคุ้มครองสังคมและสิ่งแวดล้อมของธนาคารโลกได้ จากการขาดการควบคุมดูแลในเรื่องการใช้เงินทุนอย่างเข้มงวด

รายงานระบุยกตัวอย่างไรฟ์ไฟเซนแบงก์ อินเตอร์เนชั่นแนล ของออสเตรีย ที่ให้เงินสนับสนุน เอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธ บริษัทเหมืองแร่ของไทยซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในโครงการเหมืองถ่านหินในเขตตะนาวศรีของพม่าที่ถูกกล่าวหาว่า รุกที่เพื่อนำมาทำเหมืองแร่ ซึ่งส่งผลกระทบให้ผู้คนมากถึง 16,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image