รายงานพิเศษ : ย้อนอดีต มองอนาคต 160 ปีสัมพันธ์ ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ (2)

หนึ่งในหัวข้อที่มีการเสวนาพูดคุยกันในเวที 160 ปีความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส นำโดย ท่านเอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว จัดขึ้นคือประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ถือว่าเป็นมิติที่น่าสนใจและเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และใครจะพูดถึงโอกาสและจุดแข็งในการเข้ามาลงทุนในไทยได้ดีไปกว่าผู้ที่มีประสบการณ์ตรง

นายฟรองซัวส์ กอร์แบ็ง รองประธานบริหารฝ่ายภูมิภาคและการจัดการความก้าวหน้า บริษัทมิชลิน ซึ่งดูแลบริษัทในเครือมิชลินใน 8 ภูมิภาค ประธานสภานายจ้างฝรั่งเศสสากล (MEDEF International) และยังดำรงตำแหน่งประธานสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ตรงในการเข้ามาบริหารโรงงานของมิชลินในไทย ซึ่งปัจจุบันมิชลินมีโรงงานผลิตยางรถยนต์ 3 แห่ง และโรงงานผลิตเส้นลวด 1 แห่ง และมีพนักงานรวมกว่า 6,700 คน

ฟรองซัวส์ กอร์แบ็ง
ฟรองซัวส์ กอร์แบ็ง

ก่อนจะบอกเล่าถึงโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในประเทศไทย นายฟรองซัวส์ได้พูดถึงความประทับใจที่ได้รับหลังจากนำคณะนักธุรกิจฝรั่งเศสเดินทางเยือนไทยพร้อมกับท่านทูตสีหศักดิ์เมื่อปีก่อน ซึ่งเขาถึงกับบอกว่าการต้อนรับของฝ่ายไทยนั้นดีกว่าที่คาดมาก

มิชลินเริ่มเข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยร่วมทุนกับสยามซีเมนต์ตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งการทำงานก็เป็นไปด้วยดี ปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคของมิชลิน และเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่

Advertisement

ยิ่งใหญ่ ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพราะค่าแรงถูก แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือคนมีคุณภาพ และมีความปลอดภัยสูง ธุรกิจของบริษัทเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มิชลินประสบความสำเร็จในไทย แต่มีองค์ประกอบมากมายที่เหมาะสำหรับบริษัทฝรั่งเศสอื่นๆ เช่นกัน

องค์ประกอบเหล่านั้นคือไทยเป็นประเทศที่กลุ่มชนชั้นกลางกำลังเติบโต ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของปริมาณเท่านั้นเพราะความต้องการของคนกลุ่มนี้ก็สูงด้วย เมื่อคนซื้อรถและต้องเปลี่ยนยางรถยนต์ครั้งแรกก็ย่อมต้องมองหายี่ห้อที่เชื่อถือได้ ขณะเดียวกันไทยก็ตั้งอยู่ในใจกลางอาเซียน มีแรงงานที่มีคุณภาพ พนักงานในโรงงานทุ่มเทและมีความสามารถ ปัจจุบันมิชลินได้ลดคนงานต่างชาติและใช้แรงงานไทยเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี นายฟรองซัวส์เห็นว่า ไทยยังต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงมีปัญหารถติดในกรุงเทพฯ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีผลกระทบใดๆ กับการขนส่งสินค้าของมิชลิน ขณะเดียวกันกรุงเทพฯก็เป็นเมืองใหญ่ที่มีความน่าดึงดูด มีคุณภาพชีวิตที่ดี การสาธารณสุขดี ทำให้คนฝรั่งเศสอยากไปอยู่อาศัย นอกจากนี้ในไทยทรัพย์สินทางปัญญายังได้รับการปกป้อง และไทยยังรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ ซึ่งมีความสำคัญกับการลงทุนในระยะยาว อีกทั้งกลไกด้านภาษีของไทยก็ยังมีความชัดเจนและน่าดึงดูด

Advertisement

แม้ไทยจะมีปัญหาการเมืองวุ่นวาย แต่นายฟรองซัวส์เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจมากนัก แต่สิ่งที่ไทยควรต้องทำคือการศึกษาโดยเฉพาะการเรียนภาษาต่างประเทศ จำเป็นต้องมีคนพูดภาษาอื่นให้มากขึ้น และแม้ว่าในปัจจุบันกระแสโลกส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มไปในทางลัทธิการคุ้มครองทางการค้ามากขึ้น แต่เชื่อว่าอาเซียนยังไม่ได้เป็นไปในแนวทางนี้มาก กฎเกณฑ์ต่างๆ ยังทำให้บริษัทต่างชาติน่าจะเข้าไปลงทุนในอาเซียนและเอเชียมากขึ้น

นอกจากนี้ วัฒนธรรมระหว่างคนฝรั่งเศสและคนไทยก็ใกล้เคียงกัน อาทิ การให้ความเคารพกับคน รับฟัง และพยายามปรับตัว เวลาพูดคุยสัญญาก็รักษาคำมั่น ทีมงานสามารถทำงานร่วมกันได้ดีมาก คนมีทัศนคติในแง่บวก

นายฟรองซัวส์บอกว่า คนฝรั่งเศสควรต้องเห็นประเทศไทยไกลกว่าแค่นึกถึงทะเล เพราะประเทศไทยมีของดีมากมายที่ไม่ใช่แค่การเดินทางมาท่องเที่ยว ขณะที่บริษัทฝรั่งเศสเองก็มีข้อดีที่ทำให้ประสบผลสำเร็จในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เพราะวัฒนธรรมของฝรั่งเศสที่รับฟังและพยายามจะเข้าใจโดยไม่จำเป็นต้องให้ทุกอย่างเป็นไปตามรูปแบบของเรา ซึ่งทำให้บริษัทของฝรั่งเศสสามารถเป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จในต่างประเทศได้ ขณะที่สินค้าฝรั่งเศสมีภาพลักษณ์ที่ดีซึ่งถือเป็นจุดแข็ง

ความเชื่อมั่นต่อศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจของไทยยังสะท้อนให้เห็นได้จากที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ท่านทูตสีหศักดิ์ได้นำ นายฟาบริซ เบรฌิเยร์ ประธานกรรมการด้านกิจการการค้าและการลงทุนบริษัทแอร์บัสกรุ๊ป เดินทางเยือนไทยเพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับการบินไทยในการศึกษาเรื่องการสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภาบนพื้นที่ขนาด 600 ไร่ เพื่อให้เป็นศูนย์ซ่อมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และทันสมัยที่สุดในเอเชีย โดยมีขนาดใหญ่กว่าศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินชางงีของสิงคโปร์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2563

ระหว่างการเยือนครั้งนี้ นายฟาบริซยังได้กล่าวปาฐกถาในเวที MFA CEO Forum ประจำปี 2560 ของกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค นายฟาบริซระบุ ปัจจุบันเอเชียเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของแอร์บัส มีเครื่องบินกว่า 3,000 ลำที่ให้บริการตามสายการบินต่างๆ ในภูมิภาค และยังมียอดการสั่งซื้ออีก 2,000 ลำในอนาคต ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เป็นพันธมิตรทางอุตสาหกรรมที่สำคัญของแอร์บัส มีซัพพลายเออร์กว่า 600 รายใน 15 ประเทศทั่วภูมิภาค

ประเทศไทยถือว่ามีบทบาทหลักในการปฏิวัติการบินเชิงพาณิชย์ในเอเชีย เพราะไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน โดยมีปริมาณนักเดินทางมากกว่า 90 ล้านคนต่อปีที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งถือว่าเป็นสนามบินที่มีระบบทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่ง

ด้วยนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งสู่วิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งถือเป็นทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศที่เน้นกลไกขับเคลื่อนความมั่งคั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน ส่งผลให้รัฐบาลไทยได้วางแผนผลักดันเพื่อให้ธุรกิจการบินและอากาศยานของไทยครองส่วนแบ่งให้มากที่สุดจากการขยายตัวด้านตลาดการบินเชิงพาณิชย์ในเอเชีย

แอร์บัสมองเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของประเทศที่ให้บริการได้ไม่เฉพาะสายการบินของประเทศไทยแต่รวมถึงสายการบินอื่นๆ ทั่วภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลให้ไทยก้าวสู่ระดับแนวหน้าของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่จะปฏิรูปอุตสาหกรรมการบินในอนาคต

รัฐบาลไทยมีแผนงานที่จะสร้างศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา และก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างสนามบินอู่ตะเภา และอีกสองสนามบินหลักได้แก่ สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ การพัฒนาของสนามบินอู่ตะเภาจะช่วยให้ประเทศไทยได้ก่อตั้งศูนย์การซ่อมบำรุงอากาศยานบนพื้นฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่

นายฟาบริซแสดงความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะได้รับประโยชน์จากการขยายภาคส่วนทางด้านการบินและอากาศยาน ด้วยความได้เปรียบทางทำเลภูมิศาสตร์ซึ่งอยู่ในส่วนกลางของภูมิภาคที่มีการเติบโตด้านการบินอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการสนับสนุนของทางรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะทำให้ประเทศไทยจะมีพื้นฐานต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ ไม่เฉพาะแค่การพัฒนาพื้นที่แต่ประเทศไทยยังมีศักยภาพครอบคลุมถึงการซ่อมบำรุงอากาศยาน แรงงานฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญที่สามารถต่อยอดได้อีกจำนวนมาก

ความเห็นจากผู้บริหารบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ของฝรั่งเศสถึงสองบริษัท ต่างสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทย และต้องการเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยเพื่อใช้เป็นฐานไปสู่การประกอบธุรกิจในภูมิภาคต่อไปในอนาคต

นายอีฟ ซาร์ปองติเอร์ รองอธิบดีกรมเอเชียและโอเชียเนีย กระทรวงต่างประเทศและการพัฒนาระหว่างประเทศฝรั่งเศส ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของฝรั่งเศสในอาเซียน ขณะที่ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) และเป็นอันดับ 10 ของการลงทุนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกในไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมา การค้าการลงทุนระหว่างกันมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนมีมูลค่าถึงกว่า 3,000 ล้านยูโรในปัจจุบัน

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าแม้จะติดด้วยข้อมติของสหภาพยุโรปที่ห้ามการติดต่อในระดับการเมือง แต่การขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทย-ฝรั่งเศสในส่วนของภาคเอกชนก็เป็นไปอย่างดียิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image