คอลัมน์ Think Tank: ภาวะทุพภิกขภัย

AFP PHOTO / TONY KARUMBA

นับตั้งแต่ยุคสมัยโรมโบราณจนมาถึงปัจจุบัน มนุษยชาติประสบกับช่วงเวลาแห่งความหิวโหยอย่างรุนแรงที่เกิดจากความแห้งแล้ง สงคราม หรือความผิดพลาดทางการเมืองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซูดานใต้เพิ่งจะได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบทุพภิกขภัยของมนุษย์เป็นแห่งแรกในรอบ 6 ปี ส่งผลกระทบกับผู้คนมากกว่า 100,000 ราย

แอร์มินิโอ ซัคโค ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา การประกาศให้เป็นพื้นที่ทุพภิกขภัยจะต้องผ่านระบบทางวิทยาศาสตร์ที่เห็นพ้องกันโดยหน่วยงานหลายแห่งทั่วโลก จำแนกตามหลักเกณฑ์ของดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหาร (ไอพีซี)

อ้างอิงจากดัชนีไอพีซี ภาวะทุพภิกขภัยเกิดขึ้นเมื่อมีประชากรอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่นั้นสามารถเข้าถึงอาหารพื้นฐานได้ในปริมาณจำกัดมาก มีภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลันเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ และมีอัตราการเสียชีวิตของผู้คนมากกว่า 2 ใน 10,000 ของประชากรทั้งหมดต่อวัน

Advertisement

ซัคโคระบุว่า “การกำหนดหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการใช้คำดังกล่าวผิดวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์ในทางการเมือง”

ในช่วงศตวรรษล่าสุด เกิดภาวะทุพภิกขภัยขึ้นที่จีน สหภาพโซเวียต อิหร่านและกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์

ยุโรปเคยประสบภาวะทุพภิกขภัยหลายครั้งในช่วงยุคกลาง แต่ครั้งที่เกิดขึ้นล่าสุดคือในช่วงระหว่างสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งพื้นที่หลายส่วนของเยอรมนี โปแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ต้องอดอยากจากการปิดกั้นทางการทหาร

Advertisement

ในแอฟริกา เกิดภาวะทุพภิกขภัยขึ้นหลายครั้งในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่สาธารณรัฐปกครองตนเองบีอาฟราในไนจีเรียในช่วงยุคทศวรรษที่ 1970 จนถึงภาวะทุพภิกขภัยในเอธิโอเปียในช่วงระหว่างปี 1983-1985 ซึ่งครั้งนั้นก่อให้เกิดการระดมทุนช่วยเหลือในรูปแบบใหม่ด้วยการจัดคอนเสิร์ตจากบรรดาศิลปินชื่อดังของโลกในชื่อ “ไลฟ์เอด” อันมี เซอร์บ็อบ เกลดอฟ เป็นหัวหอกและตัวตั้งตัวตีคนสำคัญ ส่งผลให้ข่าวเรื่องภาวะทุพภิกขภัยได้รับความสนใจจากสื่อจนโด่งดังแพร่หลายไปทั่วโลก

ภาวะทุพภิกขภัยครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้เกิดขึ้นที่โซมาเลียในปี 2011 คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 260,000 ราย

และแม้ว่าซูดานใต้จะเป็นประเทศแรกในรอบ 6 ปีที่ประสบภาวะทุพภิกขภัยหลังจากนั้น ทว่าสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนว่าไนจีเรีย โซมาเลีย และเยเมน มีแนวโน้มที่จะประสบภาวะทุพภิกขภัยได้ทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 20 ล้านคน

โดยนอกจากโซมาเลียที่สาเหตุมาจากความแห้งแล้งแล้ว ภาวะทุพภิกขภัยที่อื่นล้วนเกิดจากสงครามความขัดแย้งทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image