ผู้นำยุโรปยืนกราน ต้องมีส่วนร่วมถกสันติภาพยูเครน มะกัน-รัสเซียปัดไม่เกี่ยว
ผู้นำยุโรปซึ่งได้ร่วมหารือฉุกเฉินในวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หลังจากสหรัฐแสดงท่าทีว่าจะไม่มีที่นั่งสำหรับยุโรปในการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ออกมายืนยันว่าพวกเขาต้องมีส่วนร่วมในการเจรจาเพื่อยุติสงครามในยูเครน
เซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เรียกร้องความสนับสนุนจากสหรัฐ และยืนยันว่าพร้อมที่จะพิจารณาส่งกองกำลังอังกฤษไปยังยูเครนพร้อมกับประเทศอื่นๆ หากมีข้อตกลงสันติภาพที่ยั่งยืน ขณะที่ความร่วมมือภายใต้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ยังคงมีความจำเป็น
“จะต้องมีมาตรการรองรับของสหรัฐ เพราะการรับประกันความปลอดภัยของสหรัฐ เป็นหนทางเดียวที่จะยับยั้งรัสเซียไม่ให้โจมตียูเครนอีกครั้งได้อย่างมีประสิทธิผล” สตาร์เมอร์กล่าว ทั้งนี้ เขาจะเดินทางไปวอชิงตันในสัปดาห์หน้าเพื่อหารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ท่ามกลางภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปของยุโรป สิ่งสำคัญในขณะนี้คือการจัดวางแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับรัฐบาลสหรัฐ ในขณะที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (อียู) ไว้ นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าการวางตำแหน่งดังกล่าวจะช่วยให้สตาร์เมอร์สามารถทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างทรัมป์กับยุโรป และอาจทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารสำคัญไปยังทำเนียบขาวได้
นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ของเยอรมนี กล่าวว่า การจัดทำข้อตกลงสันติภาพที่มีความเป็นไปได้กับรัสเซีย ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะสามารถบีบบังคับให้ยูเครนทำตามได้ “สำหรับเรา จำเป็นต้องชัดเจนว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าสันติภาพสามารถกำหนดได้และยูเครนต้องยอมรับสิ่งที่นำเสนอมา”
เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน กล่าวว่า ข้อตกลงสันติภาพใดๆ ก็ตามจะต้องมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันจากอียูและยูเครน เพื่อไม่ให้เป็นการสงครามยุติลงแบบหลอกๆ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และสิ่งที่ไม่อาจปล่อยให้เกิดขึ้นได้คือผู้รุกรานได้รับรางวัล
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ซึ่งสนับสนุนให้มีการเสริมสร้างการป้องกันที่แข็งแกร่งขึ้นของยุโรปมายาวนาน กล่าวว่า คำตำหนิที่รุนแรงและการขู่ว่าจะไม่ให้ความร่วมมือเมื่อเผชิญกับอันตรายทางการทหารของสหรัฐ ทำให้รู้สึกเหมือนระบบเป็นการช็อกระบบ
จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อทรัมป์ตัดสินใจพลิกกลับนโยบายของสหรัฐที่มีมายาวนานหลายปี ด้วยการเจรจาตรงกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย โดยหวังว่าจะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ โดยปราศจากการปรึกษาหารือกับผู้นำยุโรป
อย่างไรก็ดี ไม่นานก่อนการประชุมที่กรุงปารีสในวันจันทร์ มาครงได้พูดคุยกับทรัมป์ แต่สำนักงานของมาครงไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการหารือที่กินเวลานานราว 20 นาทีดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐจากรัฐบาลทรัมป์แสดงให้เห็นว่าวอชิงตันพร้อมที่จะโอบรับรัสเซียเมื่อไปเยือนยุโรปเป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะรัสเซียก็เมินเฉยต่อพันธมิตรเก่าแก่ในยุโรปหลายราย ทั้งสหรัฐและรัสเซียยส่งข้อความที่ชัดเจนว่า ยุโรปไม่ได้มีบทบาทใดๆ ในการเจรจาที่จะกำหนดอนาคตของทวีปยุโรปที่กำลังจะมีขึ้น
พลเอกคีธ เคลล็อกก์ ทูตพิเศษของทรัมป์สำหรับยูเครนและรัสเซีย กล่าวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ขณะบรรยายสรุปให้กับพันธมิตรนาโตทั้ง 31 รายรวมถึงเจ้าหน้าที่อียูว่า เขาไม่คิดว่าการที่ทุกคนนั่งที่โต๊ะเจรจาจะเป็นเรื่องสมเหตุสมผลและเป็นไปได้ “เรารู้ว่าผลลัพธ์มันจะออกมาอย่างไร และจุดยืนองเราคือทำให้มันชัดเจนและรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” ก่อนจะมุ่งหน้าต่อไปยังกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เพื่อเจรจากับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนในวันที่ 19 กุมภาพันธ์
คำพูดของเคลล็อกก์ได้รับการสนับสนุนจากเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ซึ่งปฏิเสธบทบาทของยุโรปเช่นกัน โดยกล่าวขณะเดินทางมาถึงซาอุดีอาระเบียเพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐว่า “ผมไม่รู้ว่าพวกเขาต้องทำอะไรที่โต๊ะเจรจา”