พันธมิตรแตกยับ! มะกันปัดโทษรัสเซียใน 3 ข้อมติ UN เหตุ 3 ปีสงครามยูเครน

ผู้แทนสหรัฐลงมติรับรองข้อมติในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ / AP

พันธมิตรแตกยับ! มะกันปัดโทษรัสเซียใน 3 ข้อมติ UN เหตุ 3 ปีสงครามยูเครน

พันธมิตรระหว่างชาติยุโรปและสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แตกยับ หลังท่าทีของรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยสหรัฐปฎิเสธที่จะกล่าวโทษรัสเซียที่ทำการรุกรานยูเครน ในระหว่างการประชุมของสหประชาชาติที่มีการเสนอข้อมติ 3 ฉบับ เรียกร้องให้มีการยุติสงครามที่ครบรอบ 3 ปีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามเวลาในนครนิวยอร์ก

ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) สหรัฐและรัสเซียได้ร่วมกันคัดค้านข้อมติของเกี่ยวกับยูเครนที่ได้รับการสนับสนุนจากยุโรป ที่เรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนทันที ทั้งนี้ สหรัฐได้เสนอร่างข้อมติที่ยกร่างขึ้นเอง แต่ก็มีการเสนอร่างข้อมติที่นำเสนอโดยฝรั่งเศสที่มีการแก้ไขถ้อยความชัดเจนว่ารัสเซียคือผู้รุกราน ก่อนที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมของฝรั่งเศสผ่านการลงมติด้วยคะแนนเสียง 93 : 18 เสียง โดยมีผู้งดออกเสียง 65 ประเทศ ยูเครนลงมติเห็นด้วย สหรัฐและรัสเซียลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขของฝรั่งเศสดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนสหรัฐครั้งสำคัญต่อสงครามในยูเครน ที่สหรัฐเคยเป็นผู้ให้การสนับสนุนรายใหญ่ต่อยูเครนนับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้นในปี 2022

ขณะที่มารีอานา เบตซา รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศยูเครน กล่าวว่า ประเทศของเธอกำลังใช้สิทธิโดยธรรมชาติในการป้องกันตนเองหลังจากการรุกรานของรัสเซีย ซึ่งละเมิดข้อกำหนดของกฎบัตรสหประชาชาติที่ระบุว่า ประเทศต่างๆ ต้องเคารพอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอื่นๆ

“ในขณะที่เรากำลังรำลึกวาระครบ 3 ปีถึงการทำลายล้างครั้งนี้ และการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซีย เราของเรียกร้องให้ทุกประเทศยืนหยัดและยืนหยัดเคียงข้างกฎบัตร เคียงข้างมนุษยชาติ และเคียงข้างสันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืน สันติภาพผ่านความเข้มแข็ง” เบตซากล่าว ทั้งนี้ เธออ้างถึงคำกล่าวของทรัมป์ที่มักจะประกาศถึงความมุ่งมั่นของเขาในการนำ “สันติภาพผ่านความเข้มแข็ง”

ADVERTISMENT

สหรัฐยังได้ผลักดันให้มีการลงคะแนนในร่างข้อมติเดิมที่สหรัฐนำเสนอในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ซึ่งถือเป็นข้อมติที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย โดยการลงคะแนนในที่ประชุมซึ่งมีสมาชิก 15 ชาติดังกล่าวจบลงด้วยคะแนน 10 : 0 เนื่องจาก 5 ประเทศในยุโรป คือสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก กรีซ และสโลวีเนีย งดออกเสียง

ระหว่างการประชุม UNSC รัสเซียได้ใช้สิทธิวีโต้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในข้อมติที่สหรัฐที่แม้จะมีผลผูกพันทางกฎหมายแต่ก็ไม่มีอำนาจบังคับใช้จริง ประโยคที่มีผลในทางปฏิบัติเพียงประโยคเดียวระบุว่า “ขอให้สงครามจบโดยเร็ว และเรียกร้องให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืนระหว่างยูเครนกับรัสเซีย”

โดโรธี เช อัครราชทูตสหรัฐและรองผู้แทนถาวรสหรัฐประจำ UN กล่าวว่ามติของ UN หลายฉบับที่ออกมาประณามรัสเซียและเรียกร้องให้ถอนทหารรัสเซียไม่สามารถหยุดยั้งสงครามได้ ขณะนี้สงครามยืดเยื้อมานานเกินไปและมีค่าใช้จ่ายที่มากหมายเกินไปสำหรับประชาชนในยูเครน รัสเซีย และในที่อื่นๆ

“สิ่งที่เราต้องการคือมติที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิก UN ทั้งหมดในการยุติสงครามอย่างถาวร มันเป็นก้าวแรกแต่เป็นก้าวที่สำคัญยิ่ง ซึ่งจะทำให้เราเดินไปบนเส้นทางสู่สันติภาพ” เชกล่าวก่อนการลงคะแนนเสียง

ด้านวาซิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรรัสเซียประจำ UN ชื่นชมญัตติที่นำเสนอโดยสหรัฐที่สั้นเพียง 3 ย่อหน้า ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในอนาคตเพื่อยุติความขัดแย้งโดยสันติวิธี

“ข้อความที่เราให้การรับรองไม่ใช่ข้อความในอุดมคติ แต่โดยพื้นฐานแล้ว เป็นความพยายามครั้งแรกในการให้ UNSC มีอะไรที่สร้างสรรค์และมองไปยังอนาคต ซึ่งกำลังพูดถึงเส้นทางสู่สันติภาพ แทนที่จะทำให้ความขัดแย้งปานปลาย” เนเบนเซียกล่าว

ความวุ่นวายที่สำนักงานใหญ่ UN ในนครนิวยอร์กยังมีขึ้นขณะที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เดินทางเยือนสหรัฐเพื่อหารือกับทรัมป์ ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นสงครามยูเครนที่ชาติในยุโรปกำลังห่วงกังวลอย่างมากต่อท่าทีที่เปลี่ยนไปของทรัมป์ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่มาครงจะหยิบยกมาพูดคุยกับผู้นำสหรัฐ ตามด้วยการเยือนของเซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร แต่หากดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ประชุม UN ในวันจันทร์แล้ว ผู้นำยุโรปไม่น่าจะหว่านล้อมให้ทรัมป์เปลี่ยนจุดยืนในกรณีนี้ได้ง่ายดายนัก