UNHRC ห่วงที่สุด ‘สุขภาพจิต’ ผู้ลี้ภัย-ไร้สัญชาติในไทย ชี้ ผู้ต้องหายังขาดการดูแล

ผู้แทนฯ UNHRC ห่วงที่สุด ‘สุขภาพจิต’ ผู้ลี้ภัย-ไร้สัญชาติในไทย เด็กวัยรุ่นซึมเศร้า-แพนิกเพิ่มขึ้น ชี้ผู้ต้องหายังขาดการดูแล

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น. ที่ห้อง Studio R3 ชั้น 4 โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ น.ส.ทลาเลง โมโฟเค็ง (Tlaleng Mofokeng) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิด้านสุขภาพ (UNHRC) แถลงภายหลังการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 18-28 กุมภาพันธ์นี้

โดยในการมาเยือนครั้งนี้ ได้ร่วมสังเกตการณ์แนวปฏิบัติและข้อท้าทายเกี่ยวกับการเข้าถึง การเป็นที่ยอมรับ ความสามารถในการจ่ายค่าบริการ และคุณภาพของบริการสาธารณสุข รวมถึงพบปะกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในกรุงเทพมหานคร จังหวัดภูเก็ต สระแก้ว และปราจีนบุรี เพื่อประเมินสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการมีสิทธิด้านสุขภาพกายและจิตใจในไทย โดยเดินทางไปเยือนสถานที่ให้บริการ พร้อมสังเกตการณ์การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและปัจจัยต่างๆ (determinants of health) จากแนวคิดที่คำนึงถึงอำนาจทับซ้อน (intersectional perspective) โดยให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่มชายขอบ ทั้งนี้ ผู้รายงานพิเศษ จะนำเสนอรายงานฉบับเต็ม ต่อ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ในเดือนมิถุนายนนี้ต่อไป

ในตอนหนึ่ง น.ส.ทลาเลง โมโฟเค็ง แพทย์ชาวแอฟริกาใต้ ในฐานะผู้รายงานพิเศษฯ ว่าด้วยสิทธิด้านสุขภาพ (UNHRC) กล่าวถึง ‘ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น’ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนได้แสดงความห่วงกังวลระหว่างการแลกเปลี่ยน

“ดิฉันได้ยินและอ่านงานวิจัยที่ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (post-trauma distress syndrome) และภาวะซึมเศร้าในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เป็นสิ่งที่น่าห่วงกังวลเป็นพิเศษ เพราะมักจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากสถานะการอพยพตามช่องทางไม่ปกติ หรือการไร้สัญชาติของประชากรในค่ายลี้ภัย”

ADVERTISMENT

“ดิฉันเชื่อว่าไม่ใช่ประเด็นเพศวิถี (sexual orientation) หรืออัตลักษณ์ทางเพศ (sexual identity) ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือโดยสันนิษฐาน แต่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ในการตีตรา และการทำให้เกิดความโดดเดี่ยวทางสังคม (social alienation) ต่างหาก ที่เป็นสาเหตุหลักของการที่เด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ มักจะแสดงอาการของภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล และร้อยละ 20 มีปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง” น.ส.ทลาเลงชี้

จากนั้น น.ส.ทลาเลงกล่าวถึง ‘ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (People on the Move) และคนไร้สัญชาติ’ ด้วยว่า จากการวิจัยโดย แพทยสภา ซึ่งได้อธิบายไว้ในบทที่ 4 (Dossier IV) เกี่ยวกับระบบและนโยบายด้านสุขภาพ ระบุว่า มีประชากรที่มีสถานะไม่ชัดเจนเกือบ 3 ล้านคน การไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนทำให้ผู้ไร้สัญชาติถูกตีตราซ้ำๆ

ADVERTISMENT

”ดิฉันได้พูดคุยกับบุคคลหลายส่วนที่สะท้อนความคิดเห็นว่า ศักดิ์ศรีของคนถูกบั่นทอนจากการไร้แนวทางกฎหมาย ในการจัดระเบียบการย้ายถิ่นฐานและการรับรองสถานะผู้ลี้ภัย หลายคนต้องทนทุกข์กับ ‘การลงโทษให้ถูกจองจำในค่าย หรือสถานที่กักขังตลอดชีวิต’ แทนที่จะมุ่งตอบสนองความต้องการพื้นฐานหรือพัฒนาชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น

ประชากรไร้สัญชาติ ถูกบีบบังคับให้ใช้เวลาและพลังงานส่วนใหญ่ไปกับการรักษาข้อมูลส่วนตัว เก็บซ่อนอาการเจ็บป่วยไม่ให้ปรากฏต่อสถานพยาบาล สร้างความเสียหายให้กับการลงทุนสาธารณะที่ประเทศไทย ดำเนินการไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยการลงโทษคนเพียงกลุ่มหนึ่งของสังคม อีกทั้งต้องเผชิญกับผลลัพธ์ทางสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากกว่าให้ การดูแลทางสุขภาพต่อโรคและอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงกว่าเดิม” น.ส.ทลาเลงกล่าว และว่า

นอกจากนี้ ‘สถานที่กักขังและเรือนจำ’ ที่ซึ่งทั้งคนไทยและคนต่างชาติถูกลิดรอนเสรีภาพ เป็นสถานที่ที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง ว่ามีความแออัดเกินไป และขาดการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตที่เพียงพอ สภาพเหล่านี้มีความรุนแรงอย่างยิ่งสำหรับ ‘ผู้หญิง’ ที่ถูกกักขัง ซึ่งได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่มีคุณภาพต่ำกว่า และเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยอย่างจำกัด

“หากนึงถึงความท้าทายทางภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ การใช้แนวทางที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน (human rights based approach) จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน” น.ส.ทลาเลงชี้

น.ส.ทลาเลงยังกล่าวถึง ‘แนวทางการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด’ (harm reduction) และ ‘การยกเลิกการเอาผิดทางอาญา’ โดยเปิดเผยว่า ระหว่างการเยือนประเทศไทย ยังได้ยินความเห็นเกี่ยวกับ ‘ความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงแนวทางการดำเนินการในระบบสุขภาพ สำหรับผู้ใช้ยา’

”ดิฉันสนับสนุนให้ใช้แนวทางการแก้ปัญหาแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงต่างๆ โดยปรึกษาหารือและร่วมมือกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีชุดบริการลดอันตรายจากการใช้ยาที่ครอบคลุมและนำโดยชุมชน รวมถึงมีการระบุอย่างเป็นทางการให้การแจกจ่ายเข็มและกระบอกฉีดยา รวมอยู่ในชุดบริการ“ น.ส.ทลาเลงกล่าว

ในส่วนของ ‘ความช่วยเหลือจากต่างประเทศและระหว่างประเทศ’ นั้น

น.ส.ทลาเลงเผยว่า ตนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหายที่รุนแรง ต่อการบริการทางสุขภาพสำหรับ ‘ผู้ลี้ภัย’ หลังจากการระงับความช่วยเหลือระหว่างประเทศจากประเทศผู้บริจาคหลักประเทศหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการบริการสุขภาพสำหรับผู้ลี้ภัย ในการนี้ โรงพยาบาลในประเทศไทยได้เข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่าง

รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของโรงพยาบาลในการรับภาระการดูแลผู้ลี้ภัย ในระยะยาวโดยไม่มีกำลังทรัพยากรเพิ่มเติม และการสนับสนุนจากนานาชาติ

“ดิฉันมีความกังวลอย่างมากว่าบริการด้านสุขภาพจิต การส่งต่อผู้ป่วย การสร้างขีดความสามารถให้กับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และโครงการวางแผนครอบครัว ได้ถูกยุติลงทันที”

“นอกจากนี้ ดิฉันยังได้เห็นการลดขนาดสำนักงาน และความไม่แน่นอนในการจ้างงานขององค์กรภาคประชาสังคม ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากความช่วยเหลือระหว่างประเทศนี้ สถานการณ์นี้ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ แรงงานข้ามชาติ ชุมชนที่อยู่ตามชายแดน สิทธิด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการดูแลการยุติการตั้งครรภ์ การบริการทางเพศ และผู้ใช้ยา”

“ดิฉันเรียกร้องให้ประเทศไทยเริ่มต้นการสร้างโครงสร้างเงินทุนที่ยั่งยืนภายในประเทศ สำหรับปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อสุขภาพ ระบบสุขภาพ และบริการทางการแพทย์สำหรับประชากรกลุ่มชายขอบที่สุด” น.ส.ทลาเลงกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image