สิงคโปร์เตรียมพิจารณาลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี สแกมเมอร์ ที่ก่อคดีรุนแรง
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม เว็บไซต์ต่างประเทศ รายงานว่า สิงคโปร์กำลังจะพิจารณาที่จะใช้การเฆี่ยนเป็นการลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับการฉ้อโกง หลังจากสิงคโปร์มีผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงและสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก
โดยตัวเลขจากตำรวจสิงคโปร์ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อปี 2024 มีชาวสิงคโปร์ ถูกหลอกเงินไปรวมทั้งสิ้นเป็นเงินอย่างน้อย 1,100 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือราว 27,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นางซุน เสวี่ยหลิง รัฐมนตรีมหาดไทยสิงคโปร์ กล่าวระหว่างการอภิปรายในสภา เมื่อวันที่ 4 มีนาคมว่า สิงคโปร์จะพิจารณากำหนดโทษเฆี่ยนตี สำหรับความผิดที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงบางประเภท โดยคำนึงถึงอันตรายร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
โดยนางซุน ได้ตอบคำถามของนายตัน อู่ เหมิง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ตั้งกระทู้ถามว่า ควรจะตรากฎหมายให้มีการลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีในความผิดที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงร้ายแรงหรือไม่
ซีเอ็นเอ รายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายตันได้ออกมาเรียกร้องให้มีการลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีพวกสแกมเมอร์ในคดีที่ร้ายแรง โดยนายตันกล่าวว่า เราควรจะส่งข้อความที่ชัดเจนไปถึงพวกสแกมเมอร์ พวกมิจฉาชีพ และพวกที่สนับสนุนคนเหล่านี้ ว่า หากพวกเขาก่อกวนคนของเรา ขโมยเงินออมที่เก็บมาทั้งชีวิตของชาวสิงคโปร์ หลอกลวงชาวสิงคโปร์ เราจะต้องทำทุกวิุทางเพื่อสอนบทเรียนแก่พวกสแกมเมอร์ที่พวกเขาจะไม่มีวันลืม
โดยนางซุน กล่าวด้วยว่า มีการกำหนดโทษจำคุกสำหรับความผิดที่เอื้อให้เกิดการฉ้อโกง ซึ่งเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติใหม่ล่าสุด ที่คณะกรรมการที่ปรึกษาการพิพากษากำหนด โดยในคดีหนึ่งจะมีโทษจำคุกได้สูงสุดถึง 19 เดือน
อย่างไรก็ตาม นางซุน เตือนว่า สแกมเมอร์เองก็มีการพัฒนาแผนการหลอกลวง แม้ว่าในอุตสาหกรรมธนาคาร จะมีมาตรการในการป้องกันมากมายแล้วก็ตาม โดยมีการขอให้เหยื่อแปลงเงินเป็นคริปโท ก่อนหน้าที่จะโอนเงินไป เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการการรักษาความปลอดภัยของธนาคาร ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ชาวสิงคโปร์หลีกเลี่ยงเงินคริปโท
ข่าวระบุว่า สิงคโปร์ได้เพิ่มกฎหมายเพื่อรับมือกับคดีฉ้อโกงและอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเดือนมกราคม สิงคโปร์ได้ผ่านร่างกฎหมายที่อนุญาตให้ตำรวจเข้าควบคุมบัญชีธนาคารของเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะตกเป็นเป้าหมายของการหลอกลวง ทั้งนี้เพื่อปกป้องคนเหล่านี้จากการถูกฉ้อโกงที่ดำเนินการจากระยะไกล
ตัวเลขของทางการสิงคโปร์ ระบุว่า การหลอกลวงด้านการลงทุนเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียจำนวนมากของเมื่อปีที่แล้ว โดยคิดเป็น 28.8 เปอร์เซ็นต์ของการถูกหลอกลวงทั้งหมด รองลงมาคือการหลอกลวงด้านการจ้างงาน อยู่ที่ 14 เปอร์เซ็นต์ และการหลอกลวงแอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ 13.6 เปอร์เซ็นต์ และการหลอกลวงโดยใช้มัลแวร์ ที่ 11.6 เปอร์เซ็นต์
เจ้าหน้าที่ตำรวจ เปิดเผยกับ ซีเอ็นเอว่า แม้ว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของเหยื่อสแกมเมอร์ จะสูญเสียเงินคนละไม่ถึง 5,000 เหรียญสิงคโปร์ แต่โดยรวมแล้ว มูลค่าความเสียหายทั้งหมดกลับเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากการสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลจากเหยื่อจำนวนไม่มาก
ซีเอ็นเอ รายงานว่า มีเหยื่อรายหนึ่งที่สูญเงินถึง 125 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ในรูปแบบคริปโท หลังจากเหยื่อรายนี้คลิกลิงก์สัมภาษณ์ปลอม และถูกหลอกให้รันสคริปต์บนโน้ตบุ๊ก จนนำไปสู่การสูญเสียเงินมหาศาล โดยสคริปต์ดังกล่าวจริงๆแล้วเป็นโค้ดอันตรายที่พุ่งเป้าไปที่กระเป๋าเงินคริปโท