คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: เวสต์มินสเตอร์ แอทแทค

AFP PHOTO / DANIEL LEAL-OLIVAS

เหตุรุนแรงไม่คาดฝันที่มุ่งร้ายถึงชีวิตซึ่งเกิดขึ้นบริเวณด้านนอกอาคารรัฐสภาอังกฤษ คือเหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความพยายามในการมองหาความหลากหลาย แสวงหากลยุทธ์ใหม่ วิธีการใหม่ ในการสร้างความปั่นป่วน โกลาหลและสะเทือนขวัญขึ้นในยุโรป โดยอาศัยทุกอย่างที่หยิบฉวยได้ใกล้มือ มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความตายและเงาทะมึนแห่งความกลัวขึ้นในสังคม

ผู้ที่พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อให้เกิดสิ่งดังกล่าวขึ้นคือ กองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอสหรือไอซิส)

วิธีการง่ายๆ หยาบๆ แต่ได้ผลในการสร้างความหวาดกลัว อย่างเช่น การใช้รถยนต์เช่าที่เป็นพาหนะในชีวิตประจำวันกับมีด เป็นอาวุธไล่ชนผู้คนเดินเท้าบนสะพานเวสต์มินสเตอร์ แล้วลงมาไล่ล่าเอาชีวิตผู้อื่นชนิดไม่คำนึงถึงชีวิตตนเอง เป็นหนึ่งในวิธีการ “ก่อการร้าย” ที่แทบกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของไอเอสไปแล้ว

ย้อนหลังไปเมื่อเดือนธันวาคม ผู้ลี้ภัยรายหนึ่งในเยอรมนี ขับรถบรรทุกขนาดใหญ่พุ่งเข้าใส่ตลาดในกรุงเบอร์ลิน มีผู้คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่สังเวยชีวิตไป 12 ราย

Advertisement

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว รถบรรทุกที่ลักลอบขโมยมาพุ่งเข้าใส่ขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง “บาสตีย์ เดย์” ในเมืองนีซ คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไป 86 ราย

ทั้ง 2 เหตุการณ์ เช่นเดียวกันกับกรณีของเก๋งฮุนได สีเทา ที่อังกฤษ ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง ผู้ลงมือไม่ได้มีความเชื่อมโยงหรือมีการติดต่อสัมพันธ์ที่แน่นหนาหรือโดยตรง แต่เป็นหนึ่งในผู้ที่ “ถูกโน้มน้าว” จน “หลงเชื่อ” และคล้อยตามแนวทางของไอเอส กระทำการตามที่ไอเอสเรียกร้องและต้องการ

นี่คือสิ่งที่ โมฮัมหมัด อัล-อัดนานี หัวหน้าทีมโฆษณาชวนเชื่อของไอเอส เรียกร้องเอาไว้ตั้งแต่ปี 2014 ต่อ “ใครก็ตาม” ที่เห็นอกเห็นใจและพร้อมสำหรับการ “เป็นแนวร่วม” ของไอเอส ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตกให้พินิจพิจารณาและเสาะแสวงหาลู่ทางลงมือ

Advertisement

“ถ้าหาระเบิด หากระสุนไม่ได้ ก็เอาก้อนหินทุบหัวพวกนั้่น หรือไม่ก็เข่นฆ่าด้วยมีด ใช้รถของพวกคุณไล่ชนไล่ทับ หรือจับมันโยนลงมาจากที่สูง รัดคอ หรือวางยาพิษ ก็ได้ทั้งนั้น”

อัล-อัดนานี ยกกรณีที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสในปี 2014 เป็นอุทาหรณ์ แต่ในเวลาเดียวกันก็ย้ำด้วยว่า อังกฤษก็เป็นเป้าหมายที่ต้องการด้วยเช่นเดียวกัน

ในระยะหลังมานี้เหตุก่อการร้ายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ อาวุธที่ใช้ไม่ได้เป็นอาวุธในคำจำกัดความทั่วไป หรือไม่ก็เสาะหาได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายสนับสนุน ลักลอบจัดหา เหตุก่อการร้ายส่วนใหญ่เกิดขึ้นใกล้กับบ้านหรือที่พักของผู้ก่อเหตุ รูปแบบการก่อการร้ายทำนองนี้ เรียกขานกันในหมู่เจ้าหน้าที่การข่าวตะวันตกว่า “โลน วูล์ฟ”

แต่อัล-อัดนานีเรียกมันง่ายๆ ว่าเป็นยุทธวิธี “รัน โอเวอร์ อินติฟาดา (ผู้รุกราน)” แผนกโฆษณาชวนเชื่อของไอเอสถึงกับผลิตการ์ตูนและเพลงขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการกระทำอำมหิตนี้

อัล-อัดนานีถูกยิงเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา แต่การโจมตีด้วยกลยุทธ์ทางเลือกนี้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป

ข่าวร้ายก็คือ มันไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่ไอเอสเลือกหยิบเอามาใช้อยู่ในเวลานี้

โคล้ด โมนิเกต์ เจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายระดับหัวแถวของเบลเยียม ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ยิ่งไอเอสเพลี่ยงพล้ำในสมรภูมิทั้งในอิรักและซีเรียมากเท่าใด วิธีการก่อการร้ายของขบวนการก่อการร้ายอันดับหนึ่งของโลกนี้ก็ยิ่งพลิกแพลง หลากหลายรูปแบบมากขึ้นเท่านั้น

โมนิเกต์กล่าวเอาไว้เมื่อตอนที่มีแนวโน้มสูงมากว่า ไอเอสกำลังถูกผลักดัน ขับไล่ออกจากโมซุลและรอกเกาะห์ที่เปรียบเสมือนเมืองหลวงของขบวนการก่อการร้ายในซีเรียว่า “เมื่อแพ้ เราไม่มีทางรู้ว่าไอเอสจะมาในรูปแบบไหน เรารู้แค่ว่าพวกนี้กำลังเตรียมการเพื่อรองรับกับการพ่ายแพ้ และหลบลงไปสู้แบบใต้ดิน”

มีอา บลูม นักวิจัยสังกัด ไมเนอรา รีเสิร์ช อินนิเชียทีฟ ซึ่งติดตามพฤติกรรมของไอเอสผ่านโลกออนไลน์อย่างเทเลแกรม (แอพพลิเคชั่น) และกลุ่มเว็บไซต์ด้านมืดที่เรียกกันว่า “ดาร์ก เว็บ” ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ไอเอสดูเหมือนกำลัง “วางพื้นฐาน” สำหรับการปฏิบัติการเชิงรุกในระดับโลก ซึ่งถูกขนานนามโดยขบวนการก่อการร้ายนี้ว่าเป็น “สงครามของการโจมตีและการปรับจุดยืน” ของตนเอง

ดูเหมือนความพ่ายแพ้ สูญเสียพื้นที่ยึดครองมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับไอเอส แถมยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการชวนเชื่ออีกต่างหาก

ตัวอย่างเช่น เมื่อถูกกองกำลังผสมของกลุ่มกบฏซีเรียกับทหารในหน่วยปฏิบัติการรบพิเศษของสหรัฐอเมริกา รุกไล่ออกจากเมืองโคบานี ในปี 2014 ทุกคนที่เข้าถึงตัวเมืองพบว่า โคบานีหลงเหลือเพียงซากปรักหักพังเท่านั้น ปฏิกิริยาจากฝ่ายสื่อสารของไอเอสก็คือ “ขอแสดงความยินดีด้วย เพนตากอน กับชัยชนะในครั้งนี้ ขอแสดงความยินดีที่ได้กองหินที่โคบานีทั้งหมดไป”

ในยามที่พื้นที่ยึดครองทั้งในซีเรียและอิรักหดเล็กลง ไอเอสแสดงท่าทีออกมาชัดเจนว่า ตัวขบวนการและกิจกรรมอันตรายของพวกตนไม่ได้หดเล็กลงตามไปด้วย

ยุทธศาสตร์ของไอเอสก็คือสงครามยืดเยื้อ สงครามที่สามารถกินเวลานานได้เป็นเดือน เป็นปี และหลายต่อหลายปี

ความเป็นไปได้ของยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าไปสร้างฐานที่มั่นใหม่ สร้างสายสัมพันธ์ใหม่กับกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ตั้งแต่ โบโกฮาราม ที่ปฏิบัติการอยู่ในสมรภูมิทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย เรื่อยไปจนถึงพื้นที่ซึ่งกำลังสับสนอลหม่านแทบจะเรียกได้ว่าเหมือนตกอยู่ในกลียุคหรือไม่ก็ถูกทอดทิ้งอย่างลิเบีย, แหลมไซนายของอียิปต์, เทือกเขารกร้างในอัฟกานิสถาน และพื้นที่ป่าทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของ โมโร และ อาบูไซยัฟ อยู่ในเวลานี้

พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ซึ่งไอเอสเคยลงมือพยายามสร้างกลุ่มสาวกเอาไว้แล้วจำนวนหนึ่งและเริ่มต้นสร้างเครือข่ายของตนขึ้นมาใหม่จากพื้นฐานดังกล่าว

แต่ความมุ่งมั่นของไอเอสไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่นั้น เอกสารโฆษณาชวนเชื่อที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของไอเอส ยังระบุไว้ด้วยว่า

“เราต้องการปารีส ต่อด้วยโรมและสเปน หลังจากเราทำให้ชีวิตของพวกเจ้ามืดมน และทำลายทำเนียบขาว, บิ๊กเบน และหอไอเฟล….เราต้องการคาบูล, การาจี, กอม (ในอิหร่าน) ริยาด และเตหะราน เราต้องการแบกแดด, ดามัสกัส, เยรูซาเลม, ไคโร, ซานา, โดฮา, อาบูดาบี, และอัมมาน มุสลิมจะกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่เหนือเจ้าทั้งหลาย และเป็นผู้นำในทุกๆ ที่ไป”

เหตุการณ์ในอังกฤษ คือตัวอย่างของทางเลือกในพื้นที่ซึ่งไม่มีเครือข่ายสนับสนุน

ในพื้นที่ซึ่งสามารถแสวงหาการสนับสนุนได้ วิธีการจะแตกต่างออกไป ร้ายแรงกว่า เลือดเย็นกว่าและทำลายล้างมากกว่า

ไบรอัน เจนกินส์ นักวิเคราะห์ด้านการก่อการร้ายของแรนด์ คอร์ปอเรชั่น จำแนกทางเลือกของไอเอสในระยะหลังว่า มีอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรกเป็นการสร้าง “แรงบันดาลใจ” ผิดๆ ให้เกิดขึ้นกับผู้หลงเชื่อในประเทศต่างๆ ให้ก่อการ แบบที่สอง เป็นการ “แทรกซึม” เข้าไป นิ่งรอ เมื่อสบโอกาสและมีจังหวะเหมาะสมจึงลงมือ

เจนกินส์ชี้ว่า ในกรณีของสหรัฐอเมริกา ภัยคุกคามจากไอเอสจะอยู่ในลักษณะของแบบแรกมากกว่าแบบที่สอง แต่ในกรณีของยุโรปและตุรกี ดูเหมือนไอเอสจะมีศักยภาพในการคุกคามด้วยการลงมือในแบบที่ 2 มากกว่า

อาห์เมท ยาอิลลา อดีตเจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายในสังกัดสำนักงานตำรวจตุรกี ที่ตอนนี้หันมาทำหน้าที่ทางวิชาการเป็นศาสตราจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัย จอร์จ เมสัน ในเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ก่อการร้ายส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่อิสตันบูล ในประเทศตุรกีที่ผ่านมา มองดูผิวเผินเหมือนจะมีผู้ลงมือเพียงรายเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นตรงกันข้าม

ยาอิลลาระบุว่า ไอเอสใช้เครือข่ายก่อการร้ายในตุรกีอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรกผู้ก่อการมักเป็นคนท้องถิ่น รูปแบบจึงเรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องอาศัยทักษะมากมายนัก เช่น การลงมือโดยอาศัยระเบิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น

อีกแบบ เป็นการลงมือในรูปแบบของการจู่โจมของทหาร ที่ต้องอาศัยทักษะและความบ้าบิ่นในแบบเดียวกับที่ใช้กันในสมรภูมิรบ ผู้ก่อการในลักษณะนี้โดยปกติแล้วมักจะเดินทางเข้าประเทศมา จากนั้นก็เก็บเนื้อเก็บตัวอยู่ภายในตุรกี สงบนิ่ง ภาพลักษณ์ภายนอกดูไม่มีพิษมีภัย เฝ้ารอคอยจนถึงเวลาโจมตี

เหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นกับไนท์คลับเรนาเมื่อตอนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในอิสตันบูล คือตัวอย่างที่ดีของการก่อการร้ายในรูปแบบนี้

อับดุล กาดีร์ มาชาไรปอฟ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้ในเวลาต่อมา เดินทางเข้าตุรกีมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ กับภรรยาและลูกๆ ที่เมืองรอบนอกเป็นเวลา 1 ปีเต็ม จนกระทั่งได้รับคำสั่งให้ “ลงมือ” ก่อนหน้าวันเกิดเหตุราว 10 วัน

มาชาไรปอฟเดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในอิสตันบูล ในเวลาต่อมาก็มีอาวุธและอุปกรณ์สำหรับก่อการร้ายจัดเตรียมมาให้พร้อมสรรพถึงประตูห้อง จากเครือข่ายปฏิบัติการใต้ดินของไอเอส

ตามข้อมูลของยาอิลลา เป้าหมายในการโจมตีแต่เดิมเป็นจัตุรัสใจกลางอิสตันบูลที่พลุกพล่าน แต่มาชาไรปอฟ ติดต่อกับผู้ทำหน้าที่ควบคุมตนเองที่ชั้นหนึ่งซึ่งพำนักอยู่ในซีเรีย ผ่านทางแอพพลิเคชั่น เทเลแกรม ยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอารักขาอยู่มากเกินไป แถมยังมีทหารเข้ามาทำหน้าที่เสริมพิเศษในห้วงเวลาดังกล่าวอีกด้วย

เป้าหมายจึงเปลี่ยนมาเป็น เรนา ไนท์คลับ จัดการยิงตำรวจนายเดียวที่อารักขาอยู่โดยง่ายดาย แล้วเดินเข้าไปก่อเหตุฆาตกรรมหมู่ภายในอย่างเลือดเย็น

ผู้บริสุทธิ์ที่กำลังสนุกอยู่กับชีวิต 39 ราย กลายเป็นศพจากการลงมือของมือปืนเพียงรายเดียวเท่านั้น!

เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว อดีตสมาชิกระดับสูงในกลุ่ม “นักรบต่างชาติ” ของไอเอส เปิดเผยกับ มาร์ติน ชูลอฟ แห่งการ์เดียนว่า ในกลุ่มแกนนำระดับสูงสุดของไอเอส มีการจำแนก “ผู้นำอาวุโส” ส่วนหนึ่งออกมา ทำหน้าที่ทำความเข้าใจกับ “วิถีของศัตรู” เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาประเทศในยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

ภายใต้ความช่วยเหลือของกลุ่มนักรบต่างชาติจากประเทศต่างๆ เหล่านั้น

การทำความเข้าใจดังกล่าวนี้เป็นไปเพื่อแสวงหา “จุดอ่อน” และความเป็นไปได้ที่จะสร้างสรรค์ “วิธีการ” ใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปจากเดิมเพื่อบ่อนเซาะให้สังคมตะวันตกอ่อนแอลงจากภายใน หลอมรวรูปแบบการก่อการร้ายแบบดั้งเดิมทั้งหลายเพื่อบรรลุถึงเป้าประสงค์ของตน ตั้งแต่การโจมตีเป้าหมายที่ไม่มีการป้องกัน เพื่อสร้างความตื่นตะลึงและทำลายความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงปลอดภัยของสังคม แล้วเสริมสิ่งละอันพันละน้อยใหม่ๆ เข้าไปเป็นพิเศษ ที่เชื่อว่าจะส่งอิทธิพลให้สังคมแต่ละประเทศลุกเป็นไฟมากยิ่งขึ้น อาทิ การเลือกลงมือในวันชาติ เช่น บาสตีย์ เดย์ หรือลงมือต่อจุดที่มีนัยเชิงวัฒนธรรม เป็นแลนด์มาร์คของท้องถิ่น เป็นต้น

กรณีที่สะท้อนถึงการใช้ประโยชน์จากการทำความเข้าใจต่อสังคมตะวันตก ก็คือ กรณีของผู้อพยพ ที่แต่เดิมไอเอสดูเหมือนจะต่อต้าน โจมตีว่าเป็นพฤติกรรม “ขี้ขลาด” แต่ทรรศนะดังกล่าวแตกต่างออกไปในภายหลัง ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ไอเอสเลือกใช้เส้นทางของผู้อพยพเหล่านี้เป็นฉากบังหน้าในการลักลอบส่งคนของตนเองเข้าไปในชาติเป้าหมาย หรือส่งนักรบต่างชาติกลับคืนมาตุภูมิ

สงบนิ่ง รอวันที่คำสั่ง “จู่โจม” จะตกมาถึงมือ

บรูซ ฮอฟฟ์แมนน์ ผู้เขียน “อินไซด์ เทอร์เรอริสม์” เพิ่งออกมาเตือนภัยการก่อการร้ายรูปแบบใหม่จากไอเอสเอาไว้ว่า ให้ระวังไอเอสจะนำเอา “โดรน” ติดอาวุธ ที่ใช้อยู่ในโมซุล มาใช้ในการก่อการร้ายกับโลกตะวันตก

ลองคิดดูว่า ถ้าการโจมตี 5 จุดในปารีสเมื่อพฤศจิกายน 2015 มีการใช้ระเบิดโดรนกามิกาเซ่ผสมโรงด้วย ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร?

ริชาร์ด วอลตัน อดีตผู้บัญชาการแผนกต่อต้านการก่อการร้ายของสกอตแลนด์ยาร์ด สรุปภัยคุกคามจากไอเอสเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า

“ยิ่งนับวันยิ่งซับซ้อน หลากหลาย และมีหลายต่อหลายอย่างที่เรายังไม่เคยพบเห็นมาก่อน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image